กรุงเทพฯ--19 มี.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
- ทีมวิจัย TSE โชว์นวัตกรรมภายใต้แนวคิด วิศวกรรมเพื่อคนไทยสุขภาพดี เปิดตัวนวัตกรรมดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ พาร์กินสัน เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ชูเทคโนโลยีถนอมอาหารด้วยสนามไฟฟ้าแทนความร้อน ช่วยคงคุณค่าสารอาหารและประหยัดพลังงานกว่าเดิม พร้อมเผยสถิติสารปนเปื้อนในปลาดอร์ลี่ ที่เกินมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก สาเหตุหลักที่ทำให้คนไทยป่วย-เสียชีวิตจากการดื้อยาเพิ่มขึ้น
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat School of Engineering : TSE) เปิดตัวศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิศวกรรมแห่งอนาคต เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิศวกรรมครบวงจรของคนรุ่นใหม่ โดยมุ่งเน้นการประยุกต์องค์ความรู้ทางวิศวกรรมนำไปสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ รวมถึงการส่งเสริมความเป็นเลิศด้านวิศวกรรม พร้อมโชว์เทคโนโลยี งานวิจัย และนวัตกรรม ภายใต้แนวคิด วิศวกรรมเพื่อคนไทยสุขภาพดี (Engineering for Health) อาทิ ระบบเตือนผู้ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์และพาร์กินสันเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ นวัตกรรมถนอมอาหารแนวใหม่ด้วยคลื่นไมโครเวฟได้คุณค่าทางโภชนาการครบเพื่อภาคอุตสาหกรรม และงานวิจัยรับเทรนด์อาหารปลอดภัย ที่พบสารปนเปื้อนในปลาดอร์ลี่ เกินค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ซึ่งงานเปิดตัวศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิศวกรรม จัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก
ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวกิจกรรมของ TSE ได้ที่ www.engr.tu.ac.th/ และ Facebook fanpage ของ TSE ที่www.facebook.com/ENGR.THAMMASAT
รศ.ดร.ธีร เจียศิริพงษ์กุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) กล่าวว่า การเปิดศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิศวกรรม เกิดขึ้นจากความตั้งใจเพื่อให้นักศึกษามีแหล่งเรียนรู้ที่ครบวงจร เพื่ออำนวยความสะดวกในการเรียนรู้จนจบหลักสูตร และเป็นการส่งเสริมให้เกิดวิศวกรรุ่นใหม่ ที่มีศักยภาพทั้งด้านวิชาการและสามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางวิศวกรรม นำไปต่อยอดกับความรู้แขนงอื่นๆ สู่การสร้างสรรค์ คิดค้น และพัฒนาเทคโนโลยี งานวิจัย และนวัตกรรม โดยมีเป้าหมายให้นักศึกษา ใช้ความรู้ความสามารถที่ได้จากการใช้งานศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิศวกรรมไปใช้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุคที่มีการแข่งขันสูงและไร้พรมแดน
ปัจจุบัน TSE มีศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิศวกรรม ทั้งหมด 4 ศูนย์ฯ ประกอบด้วย
1.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการใช้ประโยชน์จากพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าในงานวิศวกรรมมีบทบาทในการพัฒนาเทคโนโลยีการใช้ประโยชน์จากพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้ามาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมซึ่งสามารถนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้ในกระบวนการผลิต และต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้
2.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการออกแบบและพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมอย่างสร้างสรรค์ มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานวิจัยและนวัตกรรม โดยกำหนดให้มีการสร้างนวัตกรรมให้สามารถนำไปสู่การใช้งานจริงเพื่อขับเคลื่อนสังคมได้ เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม พลังงานทางเลือก เทคโนโลยีด้านเกษตร ด้านสุขภาพเพื่อผู้ด้อยโอกาสในประเทศไทย เป็นต้น
3. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านตัวเร่งปฏิกิริยาเคมีและการดูดซับด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนารูปแบบการใช้ประโยชน์จากการใช้แสงร่วมกับตัวเร่งปฏิกิริยาเคมี ที่สามารถลดอันตรายของสารเคมี และลดการปนเปื้อนของสารเคมีต่อสิ่งแวดล้อมในชุมชนที่อยู่ใกล้นิคมอุตสาหกรรม รวมถึงเป็นการยกระดับการผลิตพลังงานสะอาดที่มีความปลอดภัยสูง
4.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิศวกรรมและสมรรถนะของวัสดุ เน้นการพัฒนาวัสดุและชิ้นส่วนทางวิศวกรรม โดยผู้เชี่ยวชาญแขนงต่าง ๆ ที่มีประสบการณ์ในการทำวิจัยเชิงลึก เพื่อสร้างอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ ราคาถูก ผลิตได้เองในประเทศ รวมถึงย กระดับงานวิจัยไทย ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
รศ.ดร.ธีร กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาคณะฯ ได้แสดงศักยภาพที่สะท้อนความเป็นเลิศด้านวิศวกรรม โดยได้คิดค้นเทคโนโลยี นวัตกรรม และงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมจำนวนมาก จนเป็นที่ยอมรับจากเวทีต่างๆ ทั้งในประเทศ
และต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเทคโนโลยี นวัตกรรม และงานวิจัยที่สะท้อนความเป็นเลิศด้านวิศวกรรม ภายใต้แนวคิด วิศวกรรมเพื่อคนไทยสุขภาพดี (Engineering for Health) อาทิ
- "TIDTAM" อุปกรณ์ติดตามที่ออกแบบมาใช้เหมาะกับผู้สูงอายุ (Elderly Smart Pod) ที่สามารถสวมใส่ที่ข้อมือหรืออวัยวะต่างๆของร่างกาย ทำให้พกพาง่าย ไม่รู้สึกอึดอัด มาพร้อมกับแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนสำหรับผู้ดูแล โดยอุปกรณ์สามารถคัดกรองอาการของผู้ป่วยอัลไซเมอร์และพาร์กินสัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ระบบจะแจ้งเตือนให้ผู้ดูแลรู้ทันทีเมื่อผู้ป่วยมีอาการสั่น เกร็ง และหกล้ม โดยนวัตกรรมนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คิดค้นมาเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบในประเทศไทย ซึ่งมาถึงเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ การันตีด้วยรางวัลเหรียญทองแดง และรางวัลพิเศษจากสมาพันธ์นักประดิษฐ์ของประเทศฝรั่งเศส ในการประกวดนวัตกรรมนานาชาติ ครั้งที่ 46 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อปี 2561
- นวัตกรรมถนอมอาหารด้วยสนามไฟฟ้าพัลส์ เป็นการนำสนามไฟฟ้ามาใช้ประโยชน์ในการถนอมอาหาร โดย ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ได้นำสนามไฟฟ้าแบบพัลส์ หรือ PEF (Pulse Electric Field) มาใช้เพื่อพาสเจอร์ไรซ์เครื่องดื่มในระดับอุตสาหกรรม ที่ใช้พลังงานต่ำด้วย โดยพบว่ากระบวนการนี้ช่วยลดการสูญเสียคุณค่าทางโภชนาการได้มากกว่าการใช้ความร้อนแบบเดิม และใช้พลังงานน้อยลง โดยนวัตกรรมดังกล่าวอยู่ในระหว่างการส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมนำไปใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อช่วยลดต้นทุนในการประกอบกิจการ และยังตอบโจทย์เทรนด์ผู้บริโภคในปัจจุบัน ที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น
- ผลกระทบและมาตรการรองรับสารอันตรายตกค้าง กรณีศึกษาปลาดอร์ลี่ งานวิจัยชิ้นนี้เกิดจากพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่มีความเสี่ยงในการได้รับผลกระทบจากการรับประทานเนื้อปลาดอร์ลี่ ซึ่งเป็นปลาที่คนไทยนิยมรับประทานมากที่สุด เพราะหาซื้อง่ายและมีราคาถูก โดย ศ.ดร.จงรักษ์ ผลประเสริฐ และ ดร.วรุณศักดิ์ เลี่ยมแหลม อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา ได้สุ่มตรวจสารปนเปื้อนของปลาดอร์ลี่ตามท่าเรือ สนามบิน โมเดิร์นเทรด รวมถึงแหล่งจำหน่ายต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มเออีซี (AEC) โดยจากการสุ่มตรวจ พบการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะ ที่ใช้ในกระบวนการเพาะเลี้ยงเกินค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ซึ่งได้กำหนดว่ายาปฎิชีวนะต้องไม่เกิน 200 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักปลา 1 กิโลกรัม หากผู้บริโภครับประทานเป็นเวลานาน อาจก่อให้เกิดเชื้อดื้อยาในร่างกาย ซึ่งเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขของไทยที่น่าเป็นห่วง ทั้งนี้ ปัจจุบันคนไทยเสียชีวิตจากการดื้อยากว่า 38,000 คนต่อปี เจ็บป่วยกว่า 700,000 คนต่อปี คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 50,000 ล้านบาทต่อปี โดยล่าสุดงานวิจัยนี้ได้รับรางวัลวิจัยระดับดี จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ปี 2562 ด้วย
ทั้งนี้ การเปิดตัวศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิศวกรรม พร้อมการนำโชว์เคสงานวิจัยและนวัตกรรมสุดล้ำมาจัดแสดง ภายใต้แนวคิด "Engineering for Health" วิศวกรรมเพื่อคนไทยสุขภาพดี จัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ ณ โถงห้องสมุดคณะวิศวกรรมศาสตร์ (TSE) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) โดยมีคณะผู้บริหาร อาจารย์ และบุคลากรของคณะวิศวกรรมศาสตร์ รวมถึงผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก โดยสามารถติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวกิจกรรมของ TSE ได้ที่ www.engr.tu.ac.th/ และ Facebook fanpage ของ TSE ที่ www.facebook.com/ENGR.THAMMASAT