กรุงเทพฯ--19 มี.ค.--อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น
ในสหรัฐอเมริกา พบว่ามีผู้ที่มีเส้นเลือดโป่งพองที่สมองคิดเป็น 1 คนในทุกๆ 50 คน หลอดเลือดโป่งพองเป็นจุดที่เส้นเลือดแดงมีความอ่อนแอ โดยมักจะเกิดกับเส้นเลือดแดงในสมองหรือในเส้นเลือดแดงใหญ่ของร่างกาย ในปัจจุบันพบโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองเพิ่มมากขึ้น โดยพบในผู้หญิงอายุระหว่าง 30-60 ปี ที่จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดสมองโป่งพองมากที่สุด ในขณะที่ผู้ชายอายุมากกว่า 65 ปี จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพองมากที่สุดร่วมกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ เราสามารถสังเกตปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้ จากข้อมูลดีๆ โดย ทีมแพทย์โรงพยาบาลในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด ดังนี้
หลอดเลือดแดงใหญ่ (Aorta) มีความสำคัญคือ เป็นหลอดเลือดหลักที่ส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจ สมอง ประสาทไขสันหลัง แขน ขา และอวัยวะในช่องท้อง เช่น ตับ ไต ลำไส้ ดังนั้น หากหลอดเลือดแดงใหญ่มีพยาธิสภาพหรือความผิดปกติเกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่ออวัยวะส่วนต่างๆ ได้ หรือหากมีการโป่งพองปริแตกก็จะทำให้เสียชีวิตได้ ทั้งนี้ กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดเส้นเลือดแดงโป่งพองคือ ผู้ที่สูบบุหรี่จัด มีภาวะถุงลมโป่งพอง มีประวัติครอบครัวที่มีเส้นเลือดโป่งพอง มีความดันโลหิตสูง มีภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง เป็นกลุ่มอาการ Marfan (เป็นความผิดปกติเกี่ยวกับเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน) ผู้เป็นโรคเบาหวาน เป็นโรคซิฟิลิสที่ไม่ได้รับการรักษา มีการติดเชื้อ หรือเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น และในบางครั้งการที่เส้นเลือดมีการโป่งพองมากอาจทำให้เกิดแรงกดต่อเส้นประสาทหรือเนื้อเยื่อข้างเคียง ทำให้เกิดอาการปวด ชา หรือสูญเสียการทำงานอื่นๆ ได้ อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่แล้วการมีเส้นเลือดโป่งพองนั้นไม่ได้ทำให้เกิดอาการแต่อย่างใด ยกเว้นแต่ว่าเริ่มมีเลือดออกหรือกำลังจะแตก อาการแสดงนั้นมีความแตกต่างกันขึ้นกับตำแหน่งที่มีเส้นเลือดโป่งพอง เช่น ปวดมาก (ปวดหัวรุนแรง ปวดตึบๆ หรือปวดขึ้นฉับพลันที่ท้อง ทรวงอก และ/หรือหลัง) เหงื่อออก คลื่นไส้ อาเจียน หรือหมดสติ ปัจจุบันมีนวัตกรรมแนวใหม่รักษาโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองโดยไม่ต้องผ่าตัด ด้วยการใส่หลอดเลือดเทียมชนิดหุ้มด้วยขดลวด (Vascular Stent Graft) แทนที่หลอดเลือดแดงใหญ่ที่โป่งพองในช่องอกหรือช่องท้อง (TEVAR หรือ EVAR) ผ่านทางหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบทั้ง 2 ข้าง เข้าไปจนถึงหลอดเลือดแดงใหญ่ที่โป่งพอง และปล่อยขดลวดให้ถ่างขยายในหลอดเลือดแดงใหญ่ เพื่อป้องกันหลอดเลือดแดงใหญ่แตก โดยปัจจุบันได้มีวิวัฒนาการก้าวหน้าไปมาก สามารถลดอัตราการเสียชีวิตและภาวะแทรกซ้อนในระหว่างผ่าตัดได้มาก ข้อดีของการรักษาโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองแบบไม่ผ่าตัด TEVAR / EVAR คือ 1. แผลมีขนาดเล็ก 2. ลดปัญหาการปวดแผลจากการรักษาโดยวิธีผ่าตัด 3. เสียเลือดน้อยกว่าการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง 4. เลี่ยงการดมยาสลบ โดยฉีดยาชาเฉพาะที่หรือใช้ regional anesthesia 5. ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ไว ลดระยะเวลาในการพักอยู่ใน ICU และการนอนพักฟื้นโรงพยาบาล และ 6. ลดอัตราการเสียชีวิตและภาวะแทรกซ้อนในระหว่างผ่าตัด ดังนั้น วิธีนี้จึงเป็นทางเลือกใหม่ที่ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการผ่าตัดใหญ่ เพียงเท่านี้ เราก็สามารถสังเกตอาการเบื้องต้น และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ต่อการเป็นเส้นเลือดโป่งพองได้ หรือสามารถขอคำปรึกษาจากทีมแพทย์โรงพยาบาลในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด (โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ (จังหวัดสมุทรปราการ) โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ (จังหวัดนครสวรรค์) โรงพยาบาลพิษณุเวช (จังหวัดพิษณุโลก) โรงพยาบาลสหเวช (จังหวัดพิจิตร) โรงพยาบาลพิษณุเวช อุตรดิตถ์ (จังหวัดอุตรดิตถ์) และโรงพยาบาลศิริเวชลำพูน (จังหวัดลำพูน)) และสามารถติดตามสาระดีๆ เกี่ยวกับการแพทย์ได้ที่ www.princhealth.com