กรุงเทพฯ--20 มี.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 2 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ รวม 5 อำเภอ 7 ตำบล 53 หมู่บ้าน ทั้งนี้ ปภ. ได้ประสานจังหวัดวางแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เป็นระบบ พร้อมบูรณาการให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยจัดรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายน้ำบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน เพื่อไม่ให้ประชาชนประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า หลายพื้นที่ของประเทศได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง โดยขณะนี้ (20 มี.ค.62) มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 2 จังหวัด 5 อำเภอ 7 ตำบล 53 หมู่บ้าน ได้แก่ ร้อยเอ็ด ในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสรวง และอำเภอสุวรรณภูมิ รวม 2 ตำบล 10 หมู่บ้าน ศรีสะเกษ ในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองจันทร์ อำเภอขุขันธ์ และอำเภอไพรบึง รวม 7 ตำบล 43 หมู่บ้านอย่างไรก็ตาม เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งมีประสิทธิภาพ กรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยได้ประสานจังหวัดวางแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เป็นระบบ พร้อมบูรณาการหน่วยทหารและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง โดยจัดรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายน้ำบรรเทาความเดือดร้อน แก่ประชาชน จัดวงรอบในการนำรถบรรทุกน้ำสะอาดไปเติมยังจุดจ่ายน้ำกลางให้สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำในแต่ละพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ประชาชนประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ทั้งนี้ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กำชับให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งเชิงรุกอย่างรอบด้าน ทั้งมาตรการรองรับปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยให้ติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบปริมาณน้ำต้นทุน และสำรวจความต้องการใช้น้ำในแต่ละพื้นที่ พร้อมจัดเตรียมทรัพยากรให้พร้อมรับมือภัยแล้ง ทั้งกำลังคน วัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย รถบรรทุกน้ำ และเครื่องสูบน้ำ รวมถึงจัดสรรน้ำตามลำดับความสำคัญ เน้นน้ำอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ควบคู่กับการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะพื้นที่เป้าหมายทั้งในและนอกเขตการให้บริการน้ำประปา และพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกเกินแผนที่กำหนด อีกทั้งให้ประสานจัดหาน้ำจากทุกแหล่งรองรับการใช้น้ำ ทั้งการขุดลอกแหล่งน้ำเพิ่มเติม วางท่อสูบส่งน้ำ หรือจัดรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายน้ำ ขุดเจาะบ่อบาดาล นอกจากนี้ ให้แจ้งเตือนเกษตรกร งดปลูกพืชฤดูแล้ง เน้นสร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำ รวมถึงส่งเสริมการเกษตรที่ใช้น้ำน้อย ท้ายนี้ ขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำที่มีปริมาณจำกัดอย่างประหยัด คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากที่สุด สำหรับ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง สามารถติดต่อได้ที่สายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด24 ชั่วโมง เพื่อประสานแก้ไขปัญหาโดยด่วนต่อไป