กรุงเทพฯ--20 มี.ค.--โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์
วันที่ 20 มีนาคม ทุกปี เป็นวันความสุขสากล รพ.จิตเวชนครราชสีมา เผยผลวิจัยต่างประเทศพบปัจจัยที่กำหนดระดับความสุขคนเราทุกคน ร้อยละ 30-40 มาจากวิธีคิดของเราเองและกิจกรรมที่เลือกทำ ซึ่งสามารถปฏิบัติได้เองง่าย ๆ 10 วิธี ทำได้ทุกคน ทุกวัย
ทุกวัน โดยเฉพาะแค่การยิ้มอย่างเดียว ผลวิจัยทั่วโลกยืนยันตรงกันว่า ให้ผลดี สมองจะหลั่งสารแห่งความสุขออกมา รู้สึกผ่อนคลาย สุขสบาย
นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 20 มีนาคม ทุกปี เป็นวันความสุขสากล ซึ่งเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ที่คอยผลักดันให้เราทำสิ่งต่าง ๆ โดยหวังว่าตนเองจะมีความสุขมากขึ้น ผลการศึกษาในต่างประเทศพบว่าปัจจัยที่กำหนดระดับความสุขของคนเรา มี 3 ปัจจัยหลัก ปัจจัยแรกมาจากพันธุกรรม ซึ่งค่อนข้างจะมีความคงที่ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในชีวิต ทั้งดีหรือร้าย เช่นกรณีถูกล็อตเตอรี่ ได้เลื่อนขั้นเงินเดือน ความสุขนี้จะเกิดชั่วคราว จากนั้น
ก็จะค่อย ๆ ปรับลดลงมาอยู่ในระดับเดิม หรือในกรณีมีเหตุร้ายเกิดขึ้นในชีวิตก็จะมีผลทำให้ระดับความสุขลดลงจากเดิมชั่วคราว จากนั้นระดับความสุขก็จะค่อย ๆ ไต่ละดับขึ้นมาสู่ระดับเดิมในแต่ละบุคคล ซึ่งเทียบได้กับความพึงพอใจของแต่ละบุคคล ที่มีพัฒนาการมาตั้งแต่ยังเล็ก
นายแพทย์กิตต์กวี กล่าวต่อว่า ปัจจัยที่ 2 มาจากวิธีคิดของเราเองและกิจกรรมที่เลือกทำ เป็นปัจจัยที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเราเอง เป็นรูปแบบชีวิตที่เราเลือกโดยตั้งใจ เช่นการมองโลกในแง่ดี การมีวิธีแก้ปัญหาเชิงรุก การให้เวลาครอบครัว เป็นต้น ปัจจัยนี้มีส่วนกำหนดระดับความสุขถึงร้อยละ 35-40 และปัจจัยที่ 3 คือปัจจัยภายนอก ได้แก่สถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิต เช่น ฐานะยากจน รวย
ความหล่อ ความสวย การขึ้นเงินเดือน อกหัก เป็นต้น มีส่วนกำหนดระดับความสุขได้ประมาณร้อยละ 10-15 ดังนั้นในการพัฒนาระดับความสุขให้ตัวเรา หลักใหญ่คือการให้ความสำคัญที่ปัจจัยภายในตัวเรา คือความคิดและกิจกรรมที่เราเลือกทำ ซึ่งจะเป็นการสร้างคุณภาพให้จิตใจดี มีข้อแนะนำให้ปฏิบัติ 10 วิธีง่าย ๆ ประชาชนทุกวัย ทุกสถานะ สามารถทำได้ ดังต่อไปนี้
1.ออกกำลังกาย วันละ 30 นาที อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ 2. ก่อนเข้านอนทุกคืน ลองทบทวนสิ่งดี ๆ อะไรก็ได้ที่เกิดขึ้นในชีวิตด้วยความรู้สึกขอบคุณ อย่างน้อยวันละ 5 เรื่อง 3. ให้เวลาพูดคุย รับฟังคู่ครอง หรือเพื่อนสนิท ทุกสัปดาห์ อย่างน้อย 1 ชั่วโมง โดยไม่มีใครมาขัดจังหวะหรือรบกวน 4. ปลูกต้นไม้ต้นเล็ก ๆ เช่นไม้ประดับ ตั้งไว้บนโต๊ะ หรือในกระถางก็ได้ แล้วดูแลรักษาให้ดี 5. ลดเวลาดูทีวีลงครึ่งหนึ่ง 6. หาโอกาสคุยกับเพื่อนฝูงที่ห่างกันไป แล้วลองนัดหมายพบเจอกันบ้าง 7. หัวเราะให้มาก ๆ และนานพอทุกวัน 8. ส่งยิ้มทักทายคนที่ไม่รู้จัก อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง 9. ใส่ใจดูแลตัวเองทุกวัน ลองใช้เวลาทำบางสิ่งที่สร้างความเพลิดเพลินให้ตัวเอง และ10. ลองฝึกตัวเองให้เป็นผู้ให้ ปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความใส่ใจ มอบสิ่งดี ๆ ให้แก่คนอื่นบ้าง ซึ่งสามารถทำได้ทุกวัย ทุกสถานะ และทำได้ทุกวัน
"โดยเฉพาะการยิ้มนั้น ให้ผลดีมาก ผลงานวิจัยทั่วโลกยืนยันตรงกันว่าเมื่อคนเรายิ้ม จะส่งผลให้สมองหลั่งสารเคมีที่มีชื่อว่า เอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) ซึ่งเป็นสารแห่งความสุขออกมา จะทำให้มีความรู้สึกสุขสบายและผ่อนคลาย และยังมีการศึกษาต่อไปอีกว่าแม้กระทั่งการฝืนใจยิ้มขณะมีทุกข์ใจก็ตาม ปรากฏว่าสารตัวนี้ก็หลั่งออกมาเช่นกัน ซึ่งที่โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาฯ มีนโยบายส่งเสริมให้บุคลากรที่มีทั้งหมด 366 คนทุกระดับ มีความสุขทุกมิติ ทั้งกาย จิต การเงิน สนองนโยบายกรมสุขภาพจิตและกระทรวงสาธารณสุข เช่น จัดพิธีตักบาตรทุกวันที่ 13 ของเดือน ออกกำลังกายทุกวันพุธ ปลูกผักปลอดสารพิษ เป็นต้น เมื่อบุคลากรมีความสุข จะสะท้อนออกมา ที่คุณภาพบริการผู้ป่วยและญาติดี ส่วนการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่อาการดีขึ้น จะเน้นการฟื้นฟูทางจิตใจและสังคมโดย กระตุ้นให้ผู้ป่วยยิ้มมากขึ้นเพื่อเป็นสะพานสร้างสัมพันธภาพ ผู้ป่วยจะรู้สึกดีและฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้น" นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว