กรุงเทพฯ--20 มี.ค.--เอ็ม ที มัลติมีเดีย
'บมจ.เซ็นคอร์ปอเรชั่น' หรือ ZEN โดดชิงเค้กเดลิเวอรี่อาหารหลังลูกค้าตอบรับดี ตั้งเป้ายอดขายปีนี้ 100 ล้านบาท นำร่อง 3 แบรนด์ร้านอาหาร "ZEN - On The Table – ตำมั่ว" ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ตและพัทยา พร้อมผนึกแอพพลิเคชั่นส่งอาหาร-คอลล์เซ็นเตอร์และสาขาแบบเดลิเวอรี่โดยเฉพาะ เพื่อเพิ่มช่องทางให้บริการแก่ลูกค้า
นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN ผู้ดำเนินธุรกิจฟู้ดเซอร์วิสอย่างครบวงจร เปิดเผยว่า จากที่บริษัทฯ มีเป้าหมายสร้างรายได้ปี 2562 เติบโต 15 - 20% จากปีก่อนที่มีรายได้รวม 2,964.7 ล้านบาทและตั้งเป้าเพิ่มขีดความสามารถการทำกำไรให้ดีขึ้นนั้น นอกจากแผนงานขยายสาขาและเพิ่มยอดขายจากสาขาเดิมแล้ว บริษัทฯยังได้วางแผนเพิ่มยอดขายจากการรุกให้บริการเดลิเวอรี่ (Delivery) อย่างเต็มที่เพื่อตอบสนองกลุ่มผู้บริโภค Gen X และ Gen Y ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่และวัยทำงานที่นิยมสั่งอาหารมารับประทานเพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าหมายรายได้จากบริการเดลิเวอรี่ในปีนี้ประมาณ 100 ล้านบาท และช่วยสนับสนุนอัตรากำไรขั้นต้นที่ดีขึ้นด้วย เนื่องจากสามารถลดต้นทุนคงที่ของสาขาเดิมลง
ทั้งนี้ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้เริ่มรุกให้บริการเดลิเวอรี่กับสาขาที่บริษัทเป็นเจ้าของเอง ใน 3 แบรนด์ ได้แก่ ZEN On The Table และตำมั่ว ผ่านแอพพลิเคชั่นผู้ให้บริการจัดส่งอาหาร 4 ราย ประกอบด้วย Food Panda, Line Man, Grab Food และHonestbee รวมถึงติดต่อทางเบอร์โทรศัพท์ของร้านอาหารแต่ละสาขา ปรากฏว่าได้ผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ ดังนั้นในไตรมาส 1/62บริษัทฯ จึงเพิ่มจำนวนร้านอาหารที่ให้บริการเดลิเวอรี่มากยิ่งขึ้น ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีเช่นเดียวกัน
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ZEN กล่าวว่า ส่วนแผนงานไตรมาส 2/62 บริษัทฯ เตรียมเปิดให้บริการหมายเลขโทรศัพท์คอลล์เซ็นเตอร์ 4 หลัก เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าและเป็นช่องทางรับออเดอร์ให้แก่สาขาที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงจุดส่งสินค้า ขณะเดียวกันมีแผนเพิ่มจำนวนร้าน ZEN On The Table และตำมั่ว ให้บริการเดลิเวอรี่เพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ตและเมืองพัทยา ซึ่งเป็นพื้นที่มีศักยภาพและมีกลุ่มเป้าหมายที่นิยมใช้บริการเดลิเวอรี่อยู่เป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแผนเปิดบริการร้านอาหารสาขาย่อยแบบสแตนอโลนในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อให้บริการแบบเดลิเวอรี่โดยเฉพาะหรือ Delco (ร้านอาหารที่ไม่มีโต๊ะนั่ง) และอยู่ระหว่างการออกแบบบรรจุภัณฑ์อาหารใหม่และพัฒนาเมนูอาหารพิเศษเพื่อจำหน่ายให้แก่ลูกค้ากลุ่มเดลิเวอรี่เท่านั้น ซึ่งจะช่วยสร้างความแตกต่างและเพิ่มโอกาสการขายได้ดียิ่งขึ้น
"เรามองว่าช่องทางเดลิเวอรี่มีโอกาสเติบโตที่ดีมากในอนาคต หลังจากมีแพลตฟอร์มแอพพลิเคชั่นเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการติดต่อ โดยปีที่ผ่านมาประเมินว่าภาพรวมธุรกิจเดลิเวอรี่อาหาร มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท และคาดว่าภายในปี 2565 จะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า เราจึงไม่มองข้ามที่จะรุกเพิ่มยอดขายในส่วนนี้และการที่บริษัทฯ มีสาขากระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ เป็นจำนวนมาก จะช่วยเพิ่มโอกาสเข้าถึงและให้บริการแก่ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย" นายบุญยง กล่าว