กรุงเทพฯ--22 มี.ค.--โฟร์ พีแอดส์ (96)
กรมสุขภาพจิต จัดกิจกรรมรณรงค์ "สุขใจ…ไม่สูญเสีย" เนื่องในวันที่ 20 มีนาคมของทุกปีเป็นวันความสุขสากลรณรงค์ให้คนไทยมีความสุขเพิ่มมากขึ้นบนโลกยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และลดการสูญเสียให้น้อยลงจากปัญหาความเครียดและปัญหาด้านสุขภาพจิต
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า วันที่ 20 มีนาคมของ ทุกปี เป็นวันความสุขสากล (International day of happiness) กรมสุขภาพจิตจึงขอส่งต่อความสุขแก่ประชาชน คนไทยด้วยการจัดกิจกรรมรณรงค์ "สุขใจ…ไม่สูญเสีย" เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดีแก่คนไทย 2 เรื่องหลัก โดยเรื่องแรก เพื่อให้คนไทยมีความสุขมากขึ้นในโลกของยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการที่เราจะมีความสุขเพิ่มมากขึ้นนั้น สามารถทำได้หลายประการ คือ
1.ความสุขมีอยู่รอบตัวเรา คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า ความสุขสามารถเสาะแสวงหาได้จากปัจจัยภายนอก แม้ในยามประสบปัญหา ก็พยายามมองหาคำตอบจากภายนอก ทั้งที่ความจริงแล้วความสุขมีอยู่รอบตัวเรา และเราทุกคนต่างมีปัจจัยแห่งความสุขพร้อมอยู่แล้วในตนเอง
2. ความสุขจากการปรับตัวในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าในโลกปัจจุบันนี้จะมีความเปลี่ยนแปลงรอบตัวที่รวดเร็วมากกว่าสมัยก่อน แต่หากเราสามารถยอมรับกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นได้ และสามารถปรับตัวไปตามสภาพความเปลี่ยนแปลงนั้นได้ เราก็จะเป็นคนที่มีความสุขได้มากขึ้น
3. การฝึกให้ตัวเองสุข คือ ไม่ทุกข์ ถ้าเรารู้สึกว่าเราเป็นคนที่ทุกข์ได้ง่าย เราควรต้องระวังความคิดตัวเอง ฝึกมองตนเอง มองคน มองโลกอย่างเป็นกลางไม่โน้มเอียงไปด้านลบ ถ้าเรารู้สึกว่าเราเป็นคนที่สุขได้ยาก เราควรต้องรู้จักเสพความสุขบ้าง ฝึกมองโลกด้านสวยงาม และมีความสุขกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ จนเป็นนิสัย ความสุขในชีวิตโดยรวม ก็จะเกิดขึ้นเองวันที่ 20 มีนาคมของทุกปี ทางสหประชาชาติได้เชิญชวนให้ทุกประเทศร่วมฉลองกันในวันความสุขสากล โดยมีเป้าหมายให้รำลึกถึงความสุขบนพื้นฐานของมนุษยชาติ และส่งเสริมให้สร้างความสุขอย่างยั่งยืนทั้งตนเองและผู้อื่น ในปีนี้ กรมสุขภาพจิตจะมีการจัดกิจกรรมรณรงค์ "เสริมสร้างความสุขคนไทย" ในวันที่ 20 มีนาคม 2562 ณ สถานีรถไฟฟ้า MRT ตลาดบางใหญ่ สถานีเซ็นทรัลเวสเกต ซึ่งเป็นการจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับความสุข เน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมถ่ายทอดวิธีสร้างสุขของตนเองให้กับคนรอบข้าง นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิตยังมีการจัดประกวดคลิปวิดีโอ และข้อความแบบสั้น ภายใต้หัวข้อ "สุขใจ…ไม่สูญเสีย" ในเดือนเมษายนนี้ เพื่อให้เกิดการตื่นตัวในเรื่องของการสร้างความสุขให้มากขึ้นในภาคประชาชนอีกด้วย
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า เรื่องที่สอง คือ เพื่อลดความสูญเสียให้น้อยลงจากความเครียด ปัญหาด้านสุขภาพจิต และปัญหาการฆ่าตัวตาย ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า จำนวนผู้ฆ่าตัวตายสูงขึ้นในเดือนมีนาคมและเมษายน เกิน 400 ราย ขณะที่เดือนอื่นๆ ประมาณ 300 กว่าราย สำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงกว่าคนทั่วไป ที่ประชาชนต้องช่วยกันเฝ้าระวังมี 5 กลุ่ม ได้แก่ 1. ผู้ป่วยโรคจิตเวชบางโรค เช่น โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ โรคจิตเภท 2. ผู้ป่วยที่มีปัญหาการใช้สารเสพติดปริมาณมากมานาน เช่น สุรา ยาบ้า 3. กลุ่มผู้ที่มีความสูญเสีย 4. กลุ่มพฤติกรรมที่มีความก้าวร้าว อารมณ์หุนหันพลันแล่น 5. กลุ่มที่มีประวัติการทำร้ายตัวเองซ้ำๆ หรือฆ่าตัวตาย และ 6. กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานหรือมีอาการรุนแรง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคมะเร็ง
ตามที่ทราบกันในขณะนี้มีข่าวที่เกี่ยวกับการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายอยู่บ่อยครั้ง ทั้งทางสื่อต่างๆ และโซเชียลมีเดีย ก่อให้เกิดความตื่นตัวเรื่องนี้มากขึ้นในสังคม ซึ่งทางกรมสุขภาพจิตได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูล ติดตาม เฝ้าระวังเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิตยังเพิ่มการประชาสัมพันธ์ผ่านทางช่องทางต่างๆ ทั้งสื่อกระแสหลัก และทางโซเชียลมีเดียของกรมสุขภาพจิตเอง โดยมีการจัดทำโซเชียลมีเดียแคมเปญ ชื่อ "I am here ยังมีเรา" เพื่อให้เกิดกระแสการช่วยเหลือคนรอบข้างที่มีความเสี่ยง มีการประชาสัมพันธ์เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของสถานพยาบาลในสังกัดกรมสุขภาพจิต การให้ความช่วยเหลือประชาชนผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 และให้ความรู้ประชาชนผ่านแอพพลิเคชั่นสบายใจ (Sabaijai)หลังจากนี้ กรมสุขภาพจิตจะมีการดำเนินการอย่างเข้มข้นมากขึ้น เพื่อลดการสูญเสียของคนไทยจากการ ฆ่าตัวตาย โดยมีการวางแผนการดำเนินงานต่างๆ เช่น การจัดสัมมนาเครือข่าย ในวันที่ 27 มีนาคมนี้ ที่กรมสุขภาพจิต เพื่อลดอัตราการฆ่าตัวตายและช่วยเพิ่มการเข้าถึงความช่วยเหลือ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัย สื่อมวลชน เอ็นจีโอ ตัวแทนเขตพื้นที่การศึกษา, การจัดสัมมนาร่วมกับมหาวิทยาลัย 50 แห่ง ในเดือนเมษายน 2562 ที่กรมสุขภาพจิต เพื่อพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือที่ดีในมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย เพื่อนช่วยเพื่อน อาจารย์ นักจิตวิทยา แพทย์ และโครงการต่างๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความตระหนักถึงความสำคัญของการฆ่าตัวตายในสังคมไทย โดยเน้นกลุ่มวัยเรียน อายุน้อยกว่า 25 ปี มีการพัฒนาระบบเฝ้าระวังและช่วยเหลือกับสถานศึกษาและมหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิตจะจัดตั้งคณะกรรมการร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อดำเนินงานด้านการวิเคราะห์ข้อมูล และทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการแก้ปัญหาการฆ่าตัวตาย สนับสนุนงานประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ในจังหวัด สนับสนุนการเกิดมาตรการลดการเข้าถึงอุปกรณ์วิธีการฆ่าตัวตาย รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการประเมินความเสี่ยงของการฆ่าตัวตายด้วยแบบทดสอบต่างๆเพื่อพิจารณารูปแบบการช่วยเหลือที่เหมาะสมต่อไป