กรุงเทพฯ--22 มี.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา
วันวัณโรคสากล (World TB Day) ตรงกับวันที่ 24 มีนาคมของทุกปี ในปี พ.ศ. 2562 ได้กำหนดประเด็นรณรงค์ คือ "IT'S TIME TO ZERO TB""ถึงเวลา ยุติปัญหาวัณโรค"ตามเป้าหมายแผนปฏิบัติการระดับชาติ นำไปสู่ เมืองไทยปลอดวัณโรค เพื่อโลกปลอดวัณโรค
ภายใต้ประเด็นรณรงค์ "ถึงเวลา ยุติปัญหาวัณโรค" มีความหมายว่า ถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนต้องลงมือจัดทำโครงการหรือกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อยุติปัญหาวัณโรคของประเทศ โดยมีประเด็นการสื่อสาร 2 ประเด็นหลัก คือ 1."ถึงเวลา ต้องค้นหา รักษาวัณโรคให้หาย" สำหรับรณรงค์ไห้ภาคีเครือข่ายป้องกันควบคุมวัณโรคทุกระดับทั้งภาครัฐและเอกชน โดยถึงเวลาที่ต้องค้นหาผู้ป่วยที่ยังไม่เข้าสู่ระบบ และรักษาผู้ป่วยให้หายทุกราย
และ 2."ถึงเวลาตรวจหาวัณโรค - รู้เร็ว รักษาหาย ไม่แพร่กระจาย" เพื่อสื่อสารและรณรงค์ให้ประชาชนทั้งประเทศ ให้พึง ตระหนักถึงวัณโรคอยู่ตลอดเวลา ตรวจหาทันทีเมื่อมีอาการหรืออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ส่งเสริม สร้างกระแสให้ประชาชนเกิดการรับรู้ รับทราบ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เหมาะสมในการควบคุม รักษา และป้องกัน วัณโรค เพื่อให้บรรลุตามเป้าประสงค์คือ ลดอัตราอุบัติการณ์ของวัณโรค เหลือ 88 ต่อ ประชากรแสนคน ภายในปีพ.ศ. 2564 อันจะนำไปสู่จุดมุ่งหมาย "เมืองไทยปลอดวัณโรค เพื่อโลกปลอดวัณโรค"
วัณโรคเป็นโรคติดต่อเรื้อรัง เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ติดต่อจากคนสู่คนผ่านอากาศ โดยผู้ป่วยวัณโรคไอ จามโดยไม่ปิดจมูกและปาก ทำให้เกิดละอองฝอยฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ ซึ่งผู้อื่นสูดหายใจเอาละอองฝอยที่มีเชื้อโรคเข้าไปในปอด แล้วเกิดการติดเชื้อและป่วยได้ สำหรับบุคคลทั่วไป หากมีอาการไอติดต่อเกิน 2 สัปดาห์ ไอมีเสมหะปนเลือด หรืออาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ไอแห้งๆ น้ำหนักลด ไข้ต่ำๆ มีเหงื่อออกผิดปกติตอนกลางคืน ให้รีบพบแพทย์ตรวจหาวัณโรคทันที ส่วนกลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยเป็นวัณโรค เช่น ผู้สัมผัสร่วมบ้านกับผู้ป่วยวัณโรค ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้สูงอายุที่มีโรคร่วม ผู้ต้องขังในเรือนจำ ผู้ป่วยโรคเบาหวานโดยเฉพาะกลุ่มที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ แรงงานข้ามชาติ และบุคลากรทางการแพทย์ ควรตรวจคัดกรองด้วยการถ่ายภาพเอกซเรย์ปอด อย่างน้อยปีละครั้ง ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีอาการก็ตาม
ดร.นายแพทย์ สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า สถานการณ์วัณโรคในประเทศไทย พบว่า ประเทศไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศที่มีปัญหาผู้ป่วยวัณโรคสูง องค์การอนามัยโลก คาดประมาณว่า คนไทยป่วยเป็นวัณโรคกว่า 108,000 รายต่อปี (156 ต่อประชากร แสนคน) แต่มีการขึ้นทะเบียนรายงานผู้ป่วยวัณโรคเพียง 80,160 ราย คิดเป็นร้อยละ 74 ของค่าคาดประมาณ ส่วนสถานการณ์วัณโรคในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างในปี 2561 มีการขึ้นทะเบียนรักษาผู้ป่วยวัณโรครายใหม่และกลับเป็นซ้ำจำนวน 4,987ราย คิดเป็นร้อยละ 59 ของค่าคาดประมาณ ซึ่งยังต้องเร่งการดำเนินงานในการค้นหาผู้ป่วยวัณโรค สำหรับอัตราการรักษาสำเร็จผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ และ กลับเป็นซ้ำ พื้นที่ภาคใต้ตอนล่างในปี 2560 ดำเนินการรักษาสำเร็จ ร้อยละ 83.6 ผลงานยังต่ำกว่าค่าเป้าหมายที่ร้อยละ 85 เนื่องจากมีอัตราตายร้อยละ 5.8 ขาดยาร้อยละ 4.0 การรักษาล้มเหลวร้อยละ 0.8
กระทรวงสาธารณสุขกำหนดนโยบายการค้นหา คัดกรองเชิงรุก ในประชากรกลุ่มเสี่ยงวัณโรค เช่น ผู้สัมผัสใกล้ชิด ผู้ติดเชื้อ HIV ผู้ต้องขังในเรือนจำ ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ ผู้สูงอายุมีโรคร่วม แรงงานข้ามชาติ และบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งเร่งรัดการค้นหาและตรวจวินิจฉัยวัณโรคดื้อยาในกลุ่มเสี่ยงโดยให้ส่งตรวจทดสอบความไวต่อยาทุกราย จัดหายาวัณโรคที่มีคุณภาพ และให้มีการจัดตั้งทีมสหวิชาชีพในโรงพยาบาลทุกแห่ง เพื่อดูแลรักษา สนับสนุนช่วยเหลือผู้ป่วยวัณโรคทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และ จิตใจ รวมทั้งลดการตีตราผู้ป่วยวัณโรค
สำหรับวันวัณโรคสากลในปีนี้ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา โดยศูนย์วัณโรคที่ 12 จังหวัดยะลา ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ เผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้เรื่องวัณโรคแก่ประชาชน และให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ ในวันที่ 26 มีนาคม 2562 ณ ศูนย์การค้าโคลีเซี่ยม จังหวัดยะลา โดยร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา และองค์กรภาคีเครือข่าย หากมีข้อสงสัยติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422