กรุงเทพฯ--29 ม.ค.--สกว.
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
นักวิจัยพบแหล่งท่องเที่ยวชุมชนในเขตภาคเหนือตอนล่าง กว่า 20 แห่ง ยังขาดระบบบริหารจัดการที่ดี เร่งประมวลองค์ความรู้ เพื่อกำหนดทิศทางพัฒนา ขณะที่ ททท.เร่งทำตลาดในประเทศ หวังดึงไทยเที่ยวไทยเป็นหลัก
ดร.ศุภลักษณ์ วิริยะสุมน หัวหน้าโครงการวิจัยองค์ความรู้ สถานภาพ และสถานการณ์การท่องเที่ยวโดยชุมชน ในเขตภาคเหนือตอนล่าง ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาคเหนือตอนล่างมีทรัพยากรทางการท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลายแหล่ง เช่น อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก, แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลก ในเขต จ.สุโขทัย และกำแพงเพชร, การท่องเที่ยวโดยชุมชนที่บ้านอุมยอม ต.แม่ท้อ อ.เมือง จ.ตาก, แมงกระพรุนน้ำจืด บ้านหนองแม่นา ต.หนองแม่นา อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ หรือแหล่งผลิตสินค้าที่ระลึก ใน จ.พิจิตร เป็นต้น
แต่ส่วนใหญ่ยังติดปัญหาขาดบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างแท้จริงเข้าไปบริหารจัดการ และบางแห่งก็ขาดการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ทำให้ไม่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวเท่าควร ทางทีมงานวิจัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น จึงได้พยายามประมวลองค์ความรู้ สถานภาพ และสถานการณ์การการท่องเที่ยวโดยชุมชนในเขตภาคเหนือตอนล่างเข้าด้วยกัน เพื่อนำไปสู่การจัดการองค์ความรู้ และสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่สอดคล้องกับความหลากหลายของทุนในชุมชน ควบคู่กับการฟื้นฟูความรู้พื้นบ้าน ที่มีลักษณะเป็นองค์รวม อาทิ องค์ความรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยว สินค้าทางการท่องเที่ยว ฯลฯ จะได้สามารถกำหนดทิศทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนในภาคเขตภาคเหนือ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้านนายเลิศชาย หวังตระกูลดี รองผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภาคเหนือ เขต 3 (รับผิดชอบ 4 จังหวัด ได้แก่ จ.พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, สุโขทัย, ตาก) กล่าวว่า แนวโน้มการท่องเที่ยวในปี 2551 ของเขต 3 เน้นตลาดคนไทยเป็นหลัก เนื่องจากสถิติที่ผ่านมา พบว่าแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวคนไทยเข้ามาในพื้นที่ถึง 3 ล้านกว่าคน ขณะที่ชาวต่างประเทศ มีแค่ 10% หรือราวๆ 3 แสนกว่าคน จึงต้องเร่งประชาสัมพันธ์ และรณรงค์ให้คนไทยหันมาเที่ยวไทย อุดหนุนสินค้าท้องถิ่นฝีมีอคนไทยด้วยกันเองมากขึ้น
“เราพบว่าหลายพื้นที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน และบางแห่งเปิดดำเนินการไปแล้ว แต่รองรับได้เฉพาะคนไทย จึงต้องมีการพัฒนาให้มีความเป็นสากลยิ่งขึ้น ทั้งด้านความสะอาดของสถานที่ ความปลอดภัยในการท่องเที่ยว ป้ายบอกทาง การสื่อสาร การอำนวยความสะดวก หรือแม้กระทั่งการแสดงออกถึงอัธยาศัยไมตรีที่ดีของเจ้าบ้าน เพื่อให้สามารถรองรับได้ทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ ที่สำคัญ คือผู้ประกอบการทั้งหลายต้องรักษากฏกติกาอย่างเคร่งครัด อย่าตัดราคากันเองเพื่อดึงลูกค้า เพราะจะทำให้มาตรฐานของการท่องเที่ยวโดยชุมชนลดต่ำลง” รอง ผอ.ททท.ภาคเหนือ เขต 3 กล่าว
ขณะที่นายเอกราช ทัศสุภาพ พนักการการตลาด 7 ททท.ภาคเหนือ เขต 4 (รับผิดชอบ จ.ตาก, พิจิตร, กำแพงเพชร, อุทัยธานี และนครสวรรค์) กล่าวเสริมว่า ถ้าพัฒนาคน อย่างอื่นจะตามมา ดังนั้นกระบวนการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน สิ่งแรกจึงต้องรวมตัวระดมสมอง ดูแลทั้งเรื่องความปลอดภัย ความสะอาด มีระบบบริหารจัดการที่ดี ยกระดับความสามารถของคน และการบริการให้เทียบเท่ากับสากล รักษากฎของการท่องเที่ยวโดยชุมชน และเอกลักษณ์พื้นถิ่นไว้อย่างเคร่งครัด
ดร.สินธุ์ สโรบล ผู้อำนวยการวิทยาลัยวิจัยเพื่อท้องถิ่น กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ความไม่สะดวก ติดขัดของชุมชน ถือเป็นเรื่องปกติของชีวิต เป็นปรากฏการณ์ธรรมดา ซึ่งเราไม่สามารถได้อะไรมาทุกอย่างแบบง่ายๆ แต่ถ้าเรามีข้อมูล มีความตั้งใจจริง ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ทุกอย่างก็จะดำเนินไปได้ และทาง สกว.พร้อมที่จะสนับสนุนเท่าที่ทำได้
“ซึ่งปัจจุบัน และอนาคต เราต้องยอมรับว่าแนวโน้มกระแสการท่องเที่ยวของโลกจะเปลี่ยนแปลงไป โดยคำนึงถึงปัจจัยความคุ้มค่าเงิน หรือการท่องเที่ยวแบบไม่แพง ในการตัดสินใจเดินทาง และมีแนวโน้มต้องการท่องเที่ยวแบบใกล้ชิดธรรมชาติ เพื่อหลีกหนีชีวิตแบบสากล ทำให้การท่องเที่ยวโดยชุมชน มีโอกาสเติบโต และจะเป็นกลไกสร้างความเข้มแข็งของชุมนท้องถิ่น เพราะการท่องเที่ยวในลักษณะนี้ ชุมชนเป็นเจ้าของทรัพยากรและพื้นที่ จึงต้องช่วยกันดูแลและรักษา ขณะเดียวกันชาวบ้านก็มีส่วนร่วมตัดสินใจ กำหนดทิศทาง มีเอกลักษณ์หรืออัตตลักษณ์ของวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างชัดเจน ทำให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง และเกิดการเรียนรู้ในคนต่างวัฒนธรรมที่เข้ามาเยี่ยมเยือน” ดร.สินธุ์ กล่าวในตอนท้าย.
สนใจข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ 0-2270-1350