กรุงเทพฯ--25 มี.ค.--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เดินหน้าจัดงาน "แฟนพันธุ์แท้เครื่องหนังไทย ครั้งที่ 14" โชว์ศักยภาพการส่งเสริมและพัฒนาคลัสเตอร์เครื่องหนังไทย เน้นนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีผลิตสินค้าตอบโจทย์ความต้องการของตลาด หวังสร้างสรรค์แบนร์ดของตนเองสู่การยอมรับระดับสากล พร้อมทั้งผลักดันการสร้างโอกาสและขยายช่องทางการตลาดในอนาคตต่อไป
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า อุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้า นับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวเนื่องและมีความสำคัญต่อการเติบโตของกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น เป็นอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้จากมูลค่าการส่งออกในปี 2561 ที่สูงถึง 57,000 ล้านบาท (ที่มา : ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึงร้อยละ 12 ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์และการเติบโตของผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด รวมถึงความได้เปรียบเรื่องการผลิตสินค้าที่มีความประณีต มีคุณภาพ และมีการส่งมอบสินค้าตรงเวลาเป็นที่ยอมรับในตลาดสากล ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของคู่ค้าทั่วโลก อย่างไรก็ตาม อุปสรรคอีกประการหนึ่งของอุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้า คือการผลิตส่วนใหญ่เป็นลักษณะรับจ้างการผลิตหรือที่เรียกว่า OEM จึงทำให้เกิดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ มากกว่าการมีตราสินค้าเป็นของตนเอง ดังนั้น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เล็งเห็นถึงความสำคัญ จึงมุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนจากการเป็นผู้รับจ้างผลิตเพียงอย่างเดียว หันมาสร้างแบรนด์ เป็นของตนเองให้มากขึ้น รวมถึงการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่มีแนวโน้มไปในทิศทางแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ และสุขภาพ เช่น นวัตกรรมรองเท้าเพื่อสุขภาพ และผลิตภัณฑ์แฟชั่นสมัยใหม่ ขณะเดียวกันยังได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (คลัสเตอร์) เพื่อพัฒนาการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ พร้อมเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมสนับสนุนต่าง ๆ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยร่วมมือกันเกื้อหนุนเชื่อมโยงอย่างครบวงจรด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มผลิตภาพและสร้างนวัตกรรมร่วมกัน โดยนำองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการผลิตรองรับการเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งปัจจุบัน กสอ. ได้มีการพัฒนาการรวมกลุ่มคลัสเตอร์แล้วมากกว่า 90 กลุ่ม โดยกลุ่มคลัสเตอร์เครื่องหนังไทยก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ได้รับการพัฒนาระหว่างปี 2549 - 2552 ปัจจุบันยังคงมีการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อร่วมกันพัฒนาเทคนิคการผลิต การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และการขยายช่องทางการตลาดใหม่ ๆ จนทำให้สมาชิกกลุ่มมีการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน เกิดเป็นพลังขับเคลื่อนทางธุรกิจในอุตสาหกรรมเครื่องหนังไทยอย่างเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
"สำหรับการจัดงาน "แฟนพันธุ์แท้เครื่องหนังไทย" เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมการเพิ่มช่องทางการตลาดของคลัสเตอร์เครื่องหนังไทย ภายใต้ การสนับสนุนโดยกองพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งจัดงานมาอย่างต่อเนื่องนับเป็นครั้งที่ 14 แล้ว โดยเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของผู้ประกอบการไทยที่สามารถผลิตสินค้าได้อย่างสร้างสรรค์ มีคุณภาพมาตรฐาน และมีแบรนด์เป็นของตนเอง อันจะส่งผลดีต่อการสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับในผลิตภัณฑ์เครื่องหนังของไทยให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับตลาดที่มีแนวโน้มไปในทิศทางแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ และสุขภาพ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดในปัจจุบันและอตนาคตมากขึ้น โดยงานดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 - 29 มีนาคม 2562 ตั้งแต่เวลา 09.00 – 15.00 น. ณ บริเวณห้องนิทรรศการชั้น 1 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 โดยมีการนำผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ได้รับการพัฒนาทั้งในด้านนวัตกรรมและการสร้างตราสินค้าจนเป็นที่ยอมรับในตลาดสากลมาจำหน่ายในราคาพิเศษ เช่น ผลิตภัณฑ์เครื่องหนังรองเท้า กระเป๋า เข็มขัด สายนาฬิกา ภายใต้แบรนด์ Davy Fairy SeaStar Cumi Artty V-Forward และ Tate (เตเต้) รวมจำนวนกว่า 30 ราย นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดแสดงผลงานนวัตกรรมและให้บริการเครื่องทดสอบแรงกดเท้า สำหรับนำไปออกแบบเป็นแผ่นรองพื้นรองเท้า เพื่อช่วยลดอาการเมื่อยล้าและอาการปวดเข่าจากการเดินเป็นเวลานาน ส่วนบริเวณด้านนอกอาคารยังได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายธุรกิจ Food Truck นำอาหารนานาชนิดมาจำหน่ายหมุนเวียนตลอดการจัดงานทั้ง 5 วัน โดยคาดว่าจะมีเงินสะพัดภายในงานไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท นายกอบชัย กล่าวทิ้งท้าย