กรุงเทพฯ--25 มี.ค.--ปตท.
ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์ผันผวน โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 0.67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 67.71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 1.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ เหรียญ 59.47 สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 0.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 67.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 1.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 76.39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดีเซล ลดลง0.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 81.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- 18 มี.ค.62 ผู้แทนพิเศษของสหรัฐฯ ในเวเนซุเอลา นาย Elliot Abrams แถลงปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาลดลงอย่างต่อเนื่องประมาณ 50,000 บาร์เรลต่อเดือน และคาดว่าระดับการผลิตน้ำมันดิบจะลดลงต่ำกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวันภายใน 1-2 เดือน ทั้งนี้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาอยู่ที่ 1.2-1.4 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อปลายปี 2561 และ EIA รายงานสหรัฐฯ ไม่ได้นำเข้าน้ำมันดิบจากเวเนซุเอลาช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 มี.ค. 62 (ปลายเดือน ม.ค. 62 สหรัฐฯ นำเข้าน้ำมันดิบเวเนซุเอลาที่ระดับ 587,000 บาร์เรลต่อวัน)
- Reuters รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่าน ในช่วงวันที่ 1-20 มี.ค. 62 เฉลี่ยอยู่ที่ 1.0-1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำกว่าเดือน ก.พ. 62 ซึ่งอยู่ที่ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากประเทศผู้ซื้อพยายามหลีกเลี่ยงการนำเข้า เพื่อใช้เป็นเงื่อนไขต่อรองกับสหรัฐฯ ขอผ่อนผันนำเข้าน้ำมันดิบอิหร่านต่อไป หลังระยะผ่อนผันเดิมจะสิ้นสุดต้นเดือน พ.ค. 62
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เชื่อมั่นว่า OPEC กับชาติพันธมิตรนำโดยรัสเซียจะบรรลุข้อตกลงความร่วมมือลดปริมาณการผลิตน้ำมันในระยะยาว ภายในเดือน มิ.ย. 62
- ทางการซาอุดิอาระเบียรายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ม.ค. 62 ลดลงจากเดือนก่อน 440,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 7.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 มี.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 9.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 439.5 ล้านบาร์เรล ลดลงต่อสัปดาห์มากที่สุดตั้งแต่ ก.ค. 61
- ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 2.25-2.50% ในการประชุมครั้งที่ 2 ในวันพุธที่ 20 มี.ค.62 และคาดว่าจะไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกแล้วในปีนี้
- Baker Hughes Inc. รายงานจำนวน Rig ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 มี.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 9 แท่น มาอยู่ที่ 824 แท่น ลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 5 แตะระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน เม.ย. 61
- ICE รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 มี.ค. 62 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 15,934 สัญญา มาอยู่ที่ 308,606 สัญญา
- CFTC รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดนิวยอร์กและตลาดลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 มี.ค. 62 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับ Net Long Position เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 50,210 สัญญา มาอยู่ที่ 214,105 สัญญา
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- ประธานาธิบดี Donald Trump ของสหรัฐฯ กล่าวว่า สหรัฐฯ จะยังคงดำเนินมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าต่อสินค้าของจีนต่อไปจนกว่าจะมั่นใจว่าจีนทำตามข้อตกลงทางการค้าที่ทั้งสองฝ่ายได้เจรจาไว้ อย่างไรก็ตาม นาย Trump กล่าวว่าการเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายกำลังดำเนินไปได้ด้วยดี
- IEA คาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2562 จะเติบโตจากปีก่อน 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็น83%ของการเติบโตของปริมาณการผลิตจากกลุ่ม Non-OPEC ทั้งหมด และในปี พ.ศ. 2564 สหรัฐฯ จะกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันสุทธิ ทั้งนี้สหรัฐฯ ใช้ความได้เปรียบจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจนเป็นผู้ผลิตน้ำมันอันดับ 1 ของโลก ล่าสุด EIA รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 มี.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 100,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 12.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- ประธานบริหารบริษัท National Oil Corp. ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย นาย Mustafa Sanalla ให้สัมภาษณ์กับBloomberg ว่าปัจจุบันลิเบียสามารถกลับมาผลิตน้ำมันดิบที่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ Reuters รายงานแหล่งผลิตน้ำมัน El Sharara (กำลังการผลิต 340,000 บาร์เรลต่อวัน) ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศลิเบียกลับมาผลิตน้ำมัน อยู่ที่ระดับ 270,000 บาร์เรลต่อวัน (วันที่ 21 มี.ค. 62) และกำลังเพิ่มสู่ระดับ 290,000 บาร์เรลต่อวัน (แหล่ง El Sharara ถูกกองกำลังติดอาวุธยึดครอง เดือน ธ.ค. 61- มี.ค. 62)
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง ตามแรงเทขายในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก และจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น ทั้งนี้นักลงทุนเกิดความวิตกกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ว่าอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 3 เดือนของสหรัฐฯ มีผลตอบแทนมากกว่าระดับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี เป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี นับเป็นการส่งสัญญาณภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่อาจเกิดขึ้นในปีหน้า ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ(GDP) สหรัฐฯ ในปีนี้ สู่ระดับ 2.1% ต่อปี จากระดับ 2.3% ต่อปี ที่ระบุไว้ในเดือน ธ.ค. 61 และปรับลดตัวเลขคาดการณ์ GDP ในปี พ.ศ. 2563 สู่ระดับ 1.9% ต่อปี จากเดิมที่ 2.0% ต่อปี นอกจากนี้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม ของ สหรัฐฯ, ยูโรโซน และ ญี่ปุ่น ปรับตัวลดลงจากปัญหาสงครามทางการค้า โดย PMI ภาคอุตสาหกรรมเบื้องต้นของสหรัฐฯ ในเดือน มี.ค.62 ปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำที่สุดตั้งแต่ มิ.ย. 60 อยู่ที่ 52.5 จุด, PMI ของญี่ปุ่นบ่งชี้สภาวะเศรษฐกิจหดตัว ต่ำที่สุดในรอบสามปีที่ระดับ 48.9 จุด และPMI ยูโรโซน หดตัวและต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี ที่ระดับ 47.7 จุด ทั้งนี้นักวิเคราะห์ของธนาคาร ANZ ให้ความเห็นว่าปัญหาเศรษฐกิจโลกจะส่งผลกระทบให้อุปสงค์น้ำมันโลกลดลงและเริ่มเห็นเด่นชัดมากขึ้นหลังตัวเลขชี้นำทางเศรษฐกิจต่างๆ ทยอยประกาศออกมา เป็นแรงกดดันราคาน้ำมัน แม้ว่าปัจจุบันอุปทานน้ำมันได้หายไปจากตลาดจากมาตรการลดกำลังการผลิตน้ำมันของ OPEC และจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่ออิหร่านและเวเนซุเอลา ทางเทคนิคสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 64.00-68.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 55.00-59.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบDubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 64.00-68.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นเนื่องจากโรงกลั่นในเอเชียปิดซ่อมบำรุง อาทิ Platts รายงานโรงกลั่น Chiba (กำลังการกลั่น 129,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท JXTG Nippon Oil & Energy ปิดซ่อมบำรุง Residue Fluid Catalytic Cracker ในวันที่ 14 มี.ค.- 14 เม.ย. 62 บริษัท Petronas ของมาเลเซียมีแผนปิดซ่อมบำรุง Condensate Splitter (กำลังการกลั่น 75,000 บาร์เรลต่อวัน) และCDU (กำลังการกลั่น 50,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่น Kertih (กำลังการกลั่น 125,000 บาร์เรลต่อวัน) เป็นระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ประกอบกับสำนักสถิติแห่งชาติของมาเลเซีย (Department of Statistics) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันเบนซิน ในเดือน ม.ค. 62 ลดลงจากปีก่อน 5.07% อยู่ที่ 3.93 ล้านบาร์เรล ด้านอุปสงค์ Petroleum Planning Analytic Cell (PPAC) ของอินเดียรายงานปริมาณการใช้น้ำมันเบนซิน ในเดือน ก.พ. 62 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8 % มาอยู่ที่ 19.21 ล้านบาร์เรล อีกทั้ง EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมัน น้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 มี.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 4.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 241.5 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม หน่วยงานศุลกากรของจีน (General Administration of Customs: GAC) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันเบนซินเดือน ม.ค.-ก.พ.62 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.3 % มาอยู่ที่ 3.42 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่อุปทานน้ำมันเบนซินในตลาดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากโรงกลั่น Dalian(กำลังการกลั่น 400,000 บาร์เรลต่อวัน) ซึ่งเป็นโรงกลั่นแห่งใหม่ของบริษัท Hengli Petrochemical Co.จะเดินเครื่องเต็มกำลังภายในปลายเดือน มี.ค. 62 และ Zhejiang Petrochemicals Corp. จะเริ่มเปิดดำเนินการโรงกลั่น Zhoushan (กำลังการกลั่น 400,000 บาร์เรลต่อวัน) ในไตรมาส 2/62 ด้านปริมาณสำรองน้ำมัน International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 มี.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 200,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 16.71 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 3สัปดาห์ ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 73.00-77.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลสถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลง Platts รายงานญี่ปุ่นเร่งส่งออกน้ำมันดีเซล 0.001 %S เพื่อลดระดับปริมาณสำรอง ก่อนสิ้นปีงบประมาณในปลายเดือน มี.ค. 62 อย่างไรก็ตาม PPAC ของอินเดียรายงานปริมาณการใช้น้ำมันดีเซล ในเดือน ก.พ. 62 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.7 % มาอยู่ที่ 50.06 ล้านบาร์เรล ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 มี.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.19 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 10.87 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบเกือบ 4 เดือน และ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 มี.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 4.1 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 132.2 ล้านบาร์เรล ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 77.00 – 81.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล