กรุงเทพฯ--27 มี.ค.--กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 15 หรือ NAC2019 (NSTDA Annual Conference) ภายใต้หัวข้อ "จีโนมิกส์ประเทศไทย : สถานภาพปัจจุบันและทิศทางอนาคต" (Genomics Thailand : Present & Future) โดยมี รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวบรรยายพิเศษ เรื่องแผนปฏิบัติการและความก้าวหน้าของจีโนมิกส์ประเทศไทย (Thailand's National Action Plan on "Genomics Thailand") และ ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นผู้กล่าวเปิดงานสัมมนา ณ ห้องประชุม Auditorium อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี
ศ.นพ.ประสิทธิ์ฯ กล่าวว่า การประชุมสัมมนาในครั้งนี้เน้นการนำเสนอสถานภาพการดำเนินงานของเครือข่ายในการดำเนินโครงการ Genomics Thailand การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ 6 ด้าน เพื่อขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาด้านการแพทย์แม่นยำในประเทศไทย รวมถึงนำไปสู่การเป็นผู้นำศูนย์กลางอุตสาหกรรมและบริการการแพทย์ในภูมิภาคอาเซียน
รศ.นพ.สรนิตฯ กล่าวว่า โครงการ Genomics Thailand จัดขึ้นโดยความร่วมมือของรัฐมนตรี 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ผ่านการทำงานแบบกิจการค้าร่วม (Consortium) คือ การประกอบธุรกิจที่มีลักษณะของการร่วมกันขององค์กรธุรกิจตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป เพื่อดำเนินกิจการหนึ่งด้วยวัตถุประสงค์ อีกทั้งยังได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการ Thailand 4.0 (นายกรัฐมนตรี) และเป็นโครงการระยะยาว 5 ปี มี Flagship Project เห็นผลชัดเจนในระยะสั้น เพื่อทำ Whole Genome Sequencing 50,000 ราย (Genomics Thailand 50K) ขณะนี้รออนุมัติงบประมาณปี 2562 จำนวน 96 ล้านบาท โดยแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย จำแนกงบประมาณตามมาตรการ 6 ด้าน ได้แก่ 1)ด้านการวิจัย 2)ด้านการบริการ 3)ด้านชีวสารสนเทศ (รวม National Data Bank) 4)ด้านการผลิตและพัฒนาบุคลากร 5)ด้านการจัดการกฎหมายและจริยธรรม (ELSI) 6)ด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ 7)ค่าบริหารการจัดการ ประสานงานและอื่นๆ
ส่วน Flagship Project (Big Data of Gene) จำแนกเป็น 3 โครงการ คือ 1)การวิเคราะห์ Whole genome sequencing เพื่อสนับสนุนการวิจัย (10,000 ราย x 5 ปี) 2)การพัฒนา National Data Bank และการบริหารจัดการวิเคราะห์ข้อมูล 3)การพัฒนา National Human Biobank