กรุงเทพฯ--27 มี.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังพิธีเปิดปาฐกถาพิเศษเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ประจำปี 2562 ครบรอบ 40 ปี เรื่อง "๔๐ ปี สศก. นวัตกรรมสู่อนาคต" ในหัวข้อ "นโยบายภาคเกษตรไทยจากอดีตสู่ปัจจุบันและอนาคต" โดยนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ว่า จากอดีตถึงปัจจุบันภาคเกษตรไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีความซับซ้อนมากขึ้น และมีแนวโน้มความผันผวนสูง รัฐบาลจึงได้มีแนวนโยบายปฏิรูปภาคการเกษตรสู่เกษตร 4.0 เพื่อให้สอดรับกับบริบทโลก มีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้น เกิดความภาคภูมิใจในอาชีพ มีรายได้เพิ่มขึ้น หนี้สินลดลง และหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ตามแผนยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ ระยะ 20 ปี ซึ่งที่ผ่านมาได้มุ่งเน้นการปฏิรูปภาคการเกษตรด้วยหลักการตลาดนำการผลิต ซึ่งเป็นการบริหารจัดการสินค้าเกษตรแบบใหม่ในการวางแผนการผลิตให้อุปสงค์และอุปทานของสินค้าเกษตรเกิดความสมดุลกัน โดยสนับสนุนให้เกษตรกรดำเนินการเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สหกรณ์การเกษตร และผู้ประกอบการ ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม อาทิเช่น โครงการปลูกพืชอื่นหลังฤดูทำนา เช่น ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แทนการปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดและให้ผลตอบแทนมากกว่าข้าวนาปรัง เป็นการรักษาเสถียรภาพของราคาข้าว ลดปริมาณการใช้น้ำ ทำให้บริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ยางพาราในประเทศ โดยให้ส่วนราชการใช้ยางพาราในโครงการต่าง ๆ เช่น การสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำน้ำยางพาราไปใช้สร้างถนนพาราซอยด์ซีเมนต์ ซึ่งทำให้มีการดูดซับน้ำยางพาราออกจากตลาดในปริมาณมาก และจะทำให้ราคายางพารามีเสถียรภาพมากขึ้นในระยะยาว โครงการพัฒนาเกษตรกรสู่ Smart Farmer มุ่งเน้นการทำเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต ปรับเปลี่ยนการผลิตจาก "ทำมาก ได้น้อย" เป็น "ทำน้อย ได้มาก" ซึ่งสอดคล้องกับโมเดลไทยแลนด์ 4.0 และการพัฒนาสู่ตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ เป็นเกษตรกรแบบเป็นผู้ประกอบการ และ โครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรรายย่อยเข้าด้วยกัน มีการบริหารจัดการร่วมกัน ช่วยลดต้นทุนการผลิต มีผลผลิตที่ได้มาตรฐาน มีตลาดรองรับที่ชัดเจน มีอำนาจในการต่อรองราคา และได้วางแผนดำเนินงานและทิศทางในการขับเคลื่อนในระยะต่อไป โดยการขยายผลการดำเนินงานแปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ให้มีความเชื่อมโยงกับการตลาดและเทคโนโลยีสมัยใหม่ และเชื่อมโยงกับโครงการ BOIที่จะส่งเสริม SME ภาคเกษตรที่เป็น Agri-Solution Provider รวมถึงการขยายเครือข่ายภาคเอกชนรายใหม่ที่จะเข้ามาดำเนินการโครงการแปลงใหญ่ประชารัฐ
ด้าน นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้รับการสถาปนาจากกองเศรษฐกิจการเกษตรขึ้นเป็นหน่วยงานที่มีฐานะเทียบเท่ากรมในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2522 ซึ่งตลอด 40 ปีที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้ปฏิบัติภารกิจที่สำคัญในการร่วมขับเคลื่อนงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนงานบูรณาการด้านการเกษตร การศึกษา วิเคราะห์ และวิจัยด้านเศรษฐกิจการเกษตร การจัดทำและวิเคราะห์เผยแพร่ให้บริการด้านข้อมูลสารสนเทศการเกษตร การจัดทำงบประมาณในภาพรวมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนการติดตามประเมินผลโครงการสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งการกำหนดท่าทีเจรจาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศด้วย