กรุงเทพฯ--27 มี.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
"ดัชนี RSI เดือนมีนาคม 2562 ชี้แนวโน้มอนาคตเศรษฐกิจที่ยังคงขยายตัวดีทั่วทุกภูมิภาค นำโดยภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร"
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนมีนาคม 2562 ว่า "การประมวลผลข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัดล่าสุด โดยความร่วมมือของสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ (คาดการณ์ 6 เดือนข้างหน้า) อยู่ในเกณฑ์ที่ดีทุกภูมิภาค นำโดยภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออก โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคอุตสาหกรรมและการเกษตร เป็นสำคัญ" ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคกลาง ทิศทางการขยายตัวดีอยู่ที่ระดับ 73.1 โดยใน 6 เดือนข้างหน้า จะได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ เนื่องจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าและจำนวนทุนจดทะเบียนโรงงานอุตสาหกรรมขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีจำนวนนักท่องเที่ยวและภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคารที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคเหนือขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 72.0 จากแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมและภาคการบริการที่ดี เนื่องจากผลผลิตสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้วัตถุดิบภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น รวมถึงทิศทางของธุรกิจอุตสาหกรรมมีทิศทางบวก สำหรับภาคการบริการ คาดว่าจะดีขึ้น ตามการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังอยู่ในเกณฑ์ดีที่ 69.7 เนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากแนวโน้มที่ดีของภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตร โดยภาคอุตสาหกรรม คาดว่าเกษตรกรและผู้แปรรูปได้รับผลประโยชน์จากแหล่งวัตถุดิบราคาถูก อีกทั้งทำให้เกิดการรวมตัวของผู้ผลิต จากการขยายตัวของโครงสร้างเศรษฐกิจพื้นฐาน เช่น สนามบินและเส้นทางการคมนาคมขนส่งที่สะดวกขึ้น ทำให้เมืองขยายตัว นักลงทุนต้องการเข้ามาลงทุนมากขึ้น อันเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตส่งผลให้เกิดตลาดและอุตสาหกรรมใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น ในส่วนของภาคการเกษตร มีผลจากนโยบายส่งเสริมการเกษตรของภาครัฐที่เน้นสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร อีกทั้งการขับเคลื่อนการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอย่างต่อเนื่อง สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคตะวันออกอยู่ในเกณฑ์ดีที่ระดับ 69.4 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตร ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม คาดว่าจำนวนโรงงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีโครงการก่อสร้างเขตนิคมอุตสาหกรรมในภูมิภาค ในส่วนของภาคเกษตร คาดว่าจะขยายตัวขึ้นจากการส่งเสริมจากทางรัฐบาลให้ทำเกษตรแปลงใหญ่และปรับพืนที่ให้เหมาะสมกับการเพาะปลูก หรือมีการปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคใต้มีทิศทางที่ดีขึ้นกว่าเดือนก่อนอยู่ที่ระดับ 67.4 โดยจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรมและการเกษตรเป็นหลัก ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม คาดว่าจะมีการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ และความต้องการผลผลิตอาหารทะเลแปรรูปจากต่างประเทศยังเพิ่มขึ้น ในส่วนของภาคเกษตร คาดว่าผลผลิตยางพาราเพิ่มขึ้น จากที่เกษตรกรเริ่มเปิดกรีด ประกอบกับสภาพอากาศเอื้อต่อการผลิต สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันตก มีแนวโน้มการเติบโตอยู่ที่ 64.7 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการเกษตรและภาคบริการเป็นหลัก ในส่วนของธุรกิจภาคบริการ มีสัญญาณขยายตัวดี เนื่องจากเข้าสู่ฤดูท่องเที่ยว ในส่วนของภาคการเกษตร คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำเพียงพอต่อภาคเกษตร ประกอบกับนโยบายการตลาดนำการผลิต ทำให้เกษตรกรปรับตัวและปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงมากขึ้น สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 61.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม
ตารางสรุปดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค ปี 2562 (ณ เดือนมีนาคม 2562)
กทม. และปริมณฑล ภาคตะวันออก ภาคตะวันออก
เฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันตก
ภาพรวม
ดัชนีความเชื่อมั่น
อนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค 61.5 69.4 69.7 67.4 73.1 72.0 64.7
ดัชนีแนวโน้มรายภาค
1) ภาคเกษตร 71.9 68.7 69.6 72.7 69.9 70.7 69.9
2) ภาคอุตสาหกรรม 76.3 83.2 74.3 73.4 72.1 78.1 62.3
3) ภาคบริการ 50.3 63.6 64.6 56.9 76.1 74.4 70.7
4) ภาคการจ้างงาน 55.5 65.9 69.6 64.9 73.3 66.8 57.6
5) ภาคการลงทุน 60.3 65.6 70.5 69.1 74.0 69.9 63.1
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 0-2273-9020 ต่อ 3254 หรือ 3223