SMPC ผู้ถือหุ้นไฟเขียวจ่ายปันผล 0.33บ./หุ้น ปักธงรายได้โต 15% เร่งขยายตลาดใหม่-ขายผลิตภัณฑ์ High Value

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday March 29, 2019 15:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--IR PLUS SMPC เดินหน้าสร้างผลงานเติบโตมั่นคง ตั้งเป้ายอดขายปี 2562 โต 15% ประเมินภาพรวมอุตสาหกรรมถังแก๊สยังสดใส โดยเฉพาะดีมานด์ในตลาดต่างประเทศยังมีอีกมาก พร้อมทั้งรุกตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่องในกลุ่มประเทศเอเชียใต้และแอฟริกา เผยเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นบริษัทป้องกันความเสี่ยงแบบ Natural Hedge และเร่งขยายตลาดใหม่ๆ รวมถึงการขายผลิตภัณฑ์ High value เสริมแกร่งรายได้โตตามเป้าหมาย "สุรศักดิ์ เอิบสิริสุข" เอ็มดี แย้มแผนขยายโรงงานใหม่ในต่างประเทศ คาดได้ข้อสรุปชัดเจนภายในสิ้นปี 2562 นี้ พร้อมตั้งงบลงทุนราว 100-150 ล้านบาท ใช้ซ่อมบำรุงและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานและเครื่องจักร ด้านผู้ถือหุ้นไฟเขียวอนุมัติจ่ายปันผลครึ่งปีหลังอีก 0.33 บ./หุ้น กำหนดจ่ายปันผล 26 เมษายนนี้ นายสุรศักดิ์ เอิบสิริสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท สหมิตรถังแก๊ส จำกัด (มหาชน) หรือ SMPC ประกอบธุรกิจผลิตถังทนความดันแบบต่างๆ โดยผลิตภัณฑ์หลักเป็นถังสำหรับบรรจุแก๊สปิโตรเลียมเหลว (LPG) เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงหุงต้ม และสำหรับใช้เป็นแหล่งพลังงานรถยนต์ โดยจำหน่ายภายในและต่างประเทศ ภายใต้เครื่องหมายการค้า "SMPC" รวมทั้งรับจ้างผลิตภายใต้เครื่องหมายการค้าต่างๆ เปิดเผยว่าถึงแผนการดำเนินงานในปี 2562 บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้เติบโต 15% เชื่อว่าแนวโน้มธุรกิจยังมีการเติบโตที่ดี โดยมีปัจจัยบวกจากคำสั่งซื้อถังแก๊สจากตลาดในทวีปแอฟริกาและเอเชียยังโตต่อเนื่อง บวกกับตลาดถังแก๊สในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ยังมีศักยภาพเติบโตได้อีก เพราะการสนับสนุนของภาครัฐที่มองว่า LPG เป็นเชื้อเพลิงที่มีราคาถูกและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ด้วยปัจจัยค่าเงินบาทที่ค่อนข้างแข็งค่าต่อเนื่อง ส่งผลต่อมูลค่าขาย แต่บริษัทได้เร่งขยายตลาดใหม่ๆ รวมไปถึงการขายผลิตภัณฑ์ที่เป็น High value เพื่อให้ยอดขายเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยในปีที่ผ่านมา บริษัทได้ผ่านการรับรองมาตรฐานที่หลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ถึงแม้จะส่งผลให้ยอดขายลดลง แต่ในทางกลับกันก็ทำให้ต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบลดลงด้วยเช่นกัน ทั้งนี้รายได้ของบริษัทส่วนใหญ่ได้รับเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และบริษัทมีการนำเข้าวัตถุดิบหลัก คือ เหล็กแผ่นรีดร้อนและวัตถุดิบอื่นที่ใช้ในการผลิตจากต่างประเทศมาในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเช่นกัน ดังนั้นบริษัทจึงใช้วิธีป้องกันความเสี่ยงแบบ Natural Hedge ได้แก่ การนำรายได้จากการขายสินค้าที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ มาจ่ายชำระค่าวัตถุดิบที่เป็นเงินสกุลเดียวกัน เพื่อลดผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนรายได้จากการขายที่เป็นเงินสกุลอื่น ได้แก่ ยูโร และปอนด์สเตอร์ลิง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรวมกันไม่มากได้มีการติดตามดูแลอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รวมถึงการพิจารณาปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อที่บริษัทจะสามารถวางแผนการเงิน รวมทั้งใช้เครื่องมือทางการเงินอื่น เช่น การซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract)ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น "ในส่วนของต้นทุนเหล็กนั้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนผลิต โดยปกติของอุตสาหกรรมการกำหนดราคาขาย จะอ้างอิงจากดัชนีราคาเหล็กในตลาดโลก ทำให้บริษัทสามารถเจรจาต่อรองกับลูกค้าเพื่อปรับราคาขายให้สอดคล้องกับราคาวัตถุดิบได้ สำหรับการขายแบบสัญญาระยะยาว ซึ่งแบ่งเป็นการขายที่มีเงื่อนไขในสัญญาระบุให้บริษัทสามารถปรับเปลี่ยนราคาขายให้เป็นไปตามราคาปัจจุบันของเหล็ก (Formula Price) ผลกระทบในเรื่องราคาเหล็กที่เปลี่ยนแปลงจะมีไม่มากนัก ส่วนการขายระยะยาวที่มีระยะเวลาการส่งต่อเนื่องนานหลายเดือน มักเป็นคำสั่งซื้อขนาดใหญ่ บริษัทจะติดต่อทำสัญญาตกลงซื้อขายเหล็กล่วงหน้ากับผู้ผลิตเหล็ก เพื่อลดความเสี่ยงจากการผันผวนของราคาวัตถุดิบ" นายสุรศักดิ์ กล่าว ขณะที่แผนการขยายโรงงานใหม่ในต่างประเทศ บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในกลุ่มประเทศที่มีความเหมาะสม ทั้งในด้านฐานการผลิต การขนส่ง ต้นทุนที่ลดลงจากการประหยัดภาษี รวมทั้งพิจารณาปิดความเสี่ยงต่างๆที่อาจเกิดขึ้น คาดว่าจะเห็นภาพที่ชัดเจนภายในสิ้นปี 2562 นี้ ปีนี้บริษัทตั้งงบลงทุนประมาณ 100-150 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซ่อมบำรุงและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานและเครื่องจักร ไม่รวมงบลงทุนขยายโรงงานใหม่ ด้านผลประกอบการของบริษัทฯงวดปี 2561 บริษัทฯ มียอดขายรวมอยู่ที่ 4,450.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มียอดขาย 4,326.80 ล้านบาท โดยยอดขายเพิ่มขึ้น 123.77 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.9% ใกล้เคียงกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยสัดส่วนการขายส่วนใหญ่อยู่ในแถบเอเชียและแอฟริกา ส่วนกำไรสุทธิงวดปี 2561 อยู่ที่ 558.42 ล้านบาท จากงวดปี 2560 อยู่ที่ 531.75 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.67 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5 % ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตอบแทนผู้ถือหุ้น ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผล สำหรับผลการดำเนินงานงวดปี 2561 ให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ในอัตราหุ้นละ 0.63 บาท ซึ่งได้จ่ายปันผลระหว่างกาลไปแล้วสำหรับงวด 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2561 ในอัตราหุ้นละ 0.30 บาท ที่มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2561 ยังคงเหลือเงินปันผลจ่ายสำหรับงวด 1กรกฎาคม-31 ธันวาคม 2561 ในอัตราหุ้นละ 0.33 บาท ที่มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท หรือคิดเป็นเงินทั้งสิ้นไม่เกิน 176,717,090 บาท กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผล (Record date) 5 เมษายน 2562 และกำหนดจ่ายปันผลในวันที่ 26 เมษายน 2562

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ