กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ร่วมจัดกิจกรรม #MakeWhatsNext-DigiGirlz 2019 Thailand หนึ่งในแคมเปญโครงการระดับโลกของไมโครซอฟท์ มุ่งปั้นเด็กผู้หญิงสู่สายงานด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล สอดรับยุทธศาสตร์ที่ 5 ของดีอี ด้านการพัฒนากำลังคนให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล
นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวระหว่างการร่วมเปิดงานกิจกรรม #MakeWhatsNext-DigiGirlz 2019 Thailand ว่า เป็นโครงการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ 5 ของกระทรวงฯ ด้านการพัฒนากำลังคนให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสและลดช่องว่างระหว่างเพศในการก้าวเข้าสู่สายงานด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันผู้หญิงยังมีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ชาย ทั้งในส่วนของประเทศไทยและระดับโลก
ทั้งนี้ การจัดกิจกรรม #MakeWhatsNext-DigiGirlz 2019 Thailand ซึ่งมุ่งเป้าหมายคือเยาวชนหญิงระดับมัธยมจากทั่วประเทศ ที่สนใจประกอบอาชีพในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (STEM) นำเสนอไอเดียเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมเรียนรู้ทักษะด้านการเขียนโค้ด และนำเสนอโครงงาน และใช้ทักษะที่ได้เรียนรู้ไปประดิษฐ์ผลงานร่วมแข่งขันในโครงการนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ในโอกาสที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง และเป็นแรงบันดาลใจในการประกอบอาชีพในสายงานด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลต่อไป โดยเฉพาะในสาขาที่เป็นแนวโน้มที่กำลังมาแรงอย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เน้นการสร้างนวัตกรรม และจะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในแทบทุกอุตสาหกรรม และกิจกรรมในการดำเนินชีวิต
"ดีอี มุ่งสร้างกำลังคนดิจิทัลใน 4 ด้าน ได้แก่ 1.การศึกษาในระบบ โดยร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2.การพัฒนาหลักสูตรในมหาวิทยาลัย เช่น การจัดตั้ง Digital Academy Thailand (DAT) เป็นสถาบันที่ให้การพัฒนาแรงงานด้านดิจิทัลเพื่อปรับทักษะ นำไปสู่การยกระดับแรงงานขั้นสูงด้านดิจิทัล เป็นศูนย์กลางสร้างบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ เชี่ยวชาญในด้าน AI และ Data Science 3.การสร้าง Talent พัฒนาแนวคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ และ 4. สร้างคนดิจิทัลที่สามารถใช้เทคโนโลยีให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ในการทำธุรกิจ พัฒนาอาชีพ หรือในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งสอดคล้องกับโครงการนี้" นางวรรณพร กล่าว
จากรายงานของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ระบุว่า ช่องว่างระหว่างเพศด้านโอกาสทางเศรษฐกิจทั่วโลกนั้น ยังคงมีขอบเขตที่ต้องใช้ระยะเวลายาวนานเพื่อการแก้ไข โดยการกำจัดช่องว่างระหว่างเพศนั้นถูกคาดการณ์ว่าต้องใช้เวลาถึง 202 ปี นอกจากนี้ ยังพบว่า จากจำนวนผู้ประกอบอาชีพด้าน AI ทั่วโลก มีเพียง 2% ที่เป็นผู้หญิง การพัฒนาเทคโนโลยี AI ที่ขาดความสามารถที่หลากหลาย ทำให้ถูกจำกัดความสามารถในการบุกเบิกนวัตกรรมที่ครอบคลุม และมีโอกาสในการนำเสนอชุดข้อมูลที่มีการละเลยเรื่องความลำเอียงทางเพศอีกด้วย
นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ หากปราศจากมุมมองของผู้หญิงที่มีความรู้ความสามารถในสาขา STEM อาจทำให้ขาดปัจจัยที่ก่อให้เกิดโซลูชั่นเชิงสร้างสรรค์ โดยมีคาดการณ์ที่ระบุว่า หากจำนวนผู้หญิงที่ประกอบอาชีพในสาชา STEM มีไม่เพียงพอ จะทำให้เกิดตำแหน่งว่างงานหลายหมื่นตำแหน่งในอนาคต รวมทั้งพลาดโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมอีกหลากหลายรูปแบบ
"การที่กระทรวงดีอี เข้ามาร่วมสนับสนุนโครงการนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการจุดประกายความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และอีกหลายๆ ภาคส่วนให้เห็นความสำคัญของความหลากหลาย (Diversity) และการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในอนาคตที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Inclusive) นอกจากกิจกรรมนี้ เรายังมีความร่วมมือกันในโครงการอื่นๆ เช่น โครงการ Coding Thailand ให้ความรู้ด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์แก่เยาวชน และโครงการ Re-Skill พัฒนาศักยภาพของบุคลากรที่มีอยู่ให้กลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลด้าน AI และ Data เพื่อให้หลุดพ้นจากผลกระทบของ Technology Disruption" นายธนวัฒน์กล่าว
สำหรับโครงการ #MakeWhatsNext-DigiGirlz 2019 Thailand มีนักเรียนหญิง ระดับชั้น ม.3-6 สมัครเข้าร่วมโครงการรวม 145 คน จากโรงเรียนทั่วประเทศ 20 แห่ง โดยจะคัดเลือกผู้เข้าแข่งขันเหลือ 9 ทีม เพื่อนำเสนอแนวคิดโครงงาน พร้อมรับคำแนะนำจากโค้ช และรับชุด micro:bit ซึ่งเป็นบอร์ดไมโครคอนโทรลเลอร์เพื่อการพัฒนาเขียนโปรแกรมเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT ให้นำไปใช้ในการประดิษฐ์ผลงาน จากนั้นวันที่ 10 พฤษภาคม ทุกทีมนำเสนอผลงานประดิษฐ์ เพื่อให้คณะกรรมการประกาศผลการแข่งขัน