กรุงเทพฯ--1 เม.ย.--โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์
วันที่ 30 มีนาคม วันนี้ เป็นวันไบโพลาร์โลกหรือโรคอารมณ์ 2 ขั้ว รพ.จิตเวชนครราชสีมา เผยพบโรคนี้วัยผู้ใหญ่ได้ 1
ใน 100 คาดว่าคนไทยป่วยประมาณ 5 แสนคน แต่เข้ารักษาน้อยเพียงหลักหมื่นคน เหตุจากเข้าใจผิด คิดว่าเป็นเรื่องปกติ ชี้โรคนี้หากไม่รักษา อาการจะลุกลามรุนแรงขึ้นถึงขั้นหลงผิด คิดสั้นได้ แนะวิธีสังเกตตนเอง คนใกล้ชิด หากมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงขึ้นลงเป็นช่วงๆ คล้ายนั่งรถไฟเหาะ เดี๋ยวเศร้าเดี๋ยวคึกครื้น ผิดปกติไปจากตัวตนเดิมอย่างเห็นได้ชัด เกิดขึ้นทั้งวันหรือนานเป็นสัปดาห์ ขอให้คิดถึงโรคนี้ และควรรีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่ง มียารักษาหาย ใช้ชีวิตได้ปกติ
นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) จิตเวชนครราชสีมา จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 30 มีนาคมทุกปีเป็นวันไบโพลาร์โลก (World Bipolar Day) หรือที่เรียกว่าโรคอารมณ์ 2 ขั้ว เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ ไม่ใช่โรคทางจิต ทั่วโลกมีคนป่วยประมาณ 60 ล้านคน ในส่วนประเทศไทย พบวัยผู้ใหญ่ทั้งชาย-หญิงป่วยได้ 1 ใน 100 คน คาดว่าขณะนี้ มีคนไทยทั่วประเทศป่วยประมาณ 500,000 คน แต่ยังเข้ารักษาน้อยเพียงปีละ30,000 กว่าคน หรือประมาณร้อยละ 6 เฉพาะ ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 9 ประกอบด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ คาดว่าจะผู้ป่วยประมาณ 40,000 คน แต่เข้ารักษาในปี 2561 เพียง 3,000 กว่าคน สาเหตุเนื่องจากประชาชนเข้าใจผิดคิดว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติของอารมณ์ทั่วไป ไม่ใช่การป่วย
นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวว่า สาเหตุหลักของโรคไบโพลาร์ เกิดมาจากสารเคมีในสมองทำงานผิดปกติ และอาจเกิดในผู้ที่มีความเครียดสะสม หรืออดนอนบ่อย ๆ ทำให้มีอาการเปลี่ยนแปลงไปจากนิสัยหรือบุคลิกเดิมของคนคนนั้น ลักษณะอาการเด่นของโรคนี้ที่ต่างจากโรคอื่น ๆ คือจะมีอารมณ์ 2 ขั้ว คือขั้วของอารมณ์ดีครื้นเครงมากกว่าปกติ (Mania episode) เช่น จะพูดมาก ขยัน
มีความคิดฟุ้งเฟื่อง กับขั้วของอารมณ์เศร้าซึม (Depressive episode) จะมีอาการท้อแท้ เบื่อหน่าย ไม่อยากทำอะไร เบื่ออาหาร อาการจะเกิดขึ้นเองสลับกันเป็นช่วง ๆ เหมือนกับการนั่งรถไฟเหาะ แต่ละช่วงจะเป็นอยู่ทั้งวัน นานเป็นอาทิตย์หรือหลาย ๆ เดือนก็ได้ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การดูแลตัวเอง การทำงาน ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ๆ โดยอาการในขั้วเศร้านั้นจะเกิดอย่างช้า ๆ ส่วนขั้วของอารมณ์ดี ครื้นเครงมักจะเป็นเร็วมาก จึงทำให้ผู้ป่วยเองหรือคนใกล้ชิดเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา หรือเป็นการแสร้งทำเพื่อเรียกร้องความสนใจ ไม่ใช่การเจ็บป่วย ทำให้ส่วนใหญ่จึงไม่ได้เข้ารักษาตัว
" จึงขอแนะนำให้ผู้ที่มีลักษณะอาการที่กล่าวมา อย่านิ่งนอนใจ ให้รีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่งทั่วประเทศ หรือปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด24 ชั่วโมง เนื่องจากโรคนี้มียาที่มีประสิทธิภาพสูงรักษา ได้ผลดีมาก ยาจะควบคุมการทำงานของสารเคมีในสมองให้อยู่ในสภาวะสมดุล โรคหายขาดได้ ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิต เช่นเรียนหนังสือ ทำงานได้ตามปกติทั่วไป มีบางรายอาจต้องทำจิตบำบัดความคิดและพฤติกรรมที่เป็นปัญหาเพิ่มเติมบ้าง ใช้เวลารักษาประมาณ 6 เดือน - 2 ปี แต่หากไม่รักษา จะทำให้อาการลุกลามรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ถึงขั้นเกิดอาการหลงผิด มีความคิดฆ่าตัวตายได้" นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว
นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวต่อไปว่า สิ่งที่จะเอื้อให้ผู้ป่วยโรคไบโพลาร์หายป่วย คนรอบข้าง เพื่อนร่วมงาน และครอบครัวมีส่วนสำคัญมาก ต้องอยู่กับผู้ป่วยอย่างเข้าใจว่าพฤติกรรมและอารมณ์ที่ผิดปกติ เป็นความเจ็บป่วย ไม่ใช่นิสัยแท้จริงของผู้ป่วย และต้องรักษา เมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้นควรให้กำลังใจให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยสิ่งที่ครอบครัวไม่ควรทำเนื่องจากจะทำให้อาการผู้ป่วยแย่ลง มี 4 ประการ คือ1. ใช้อารมณ์กับผู้ป่วย 2. ขัดแย้งกับผู้ป่วย 3. พยายามควบคุมหรือจัดการกับชีวิตผู้ป่วย และ 4. ไม่ยอมรับในตัวผู้ป่วย คนใกล้ชิดควรสังเกตอาการผู้ป่วยต่อเนื่อง หากมีอาการผิดปกติคือ มีปัญหาการนอน เช่นนอนไม่หลับ นอนมากเกินไป หรือมีพฤติกรรมเปลี่ยน เช่น เอะอะอาละวาด หวาดระแวง หรือมีปัญหากับคนรอบข้าง ต้องรีบพาผู้ป่วยกลับไปพบแพทย์ก่อนนัดทันที
สำหรับตัวผู้ป่วยเอง ก็ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด คือ ห้ามเสพสารเสพติด ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้อาการดีขึ้นแล้วต้องกินยาต่อเนื่องจนครบตามแผนรักษา ห้ามหยุดยาหรือลดยาเองอย่างเด็ดขาด เนื่องจากจะทำให้อาการกลับมาเป็นซ้ำอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ในการป้องกันหรือลดความเสี่ยงป่วยเป็นโรคนี้ ประชาชนควรออกกำลังกายเป็นประจำ ครั้งละไม่ต่ำกว่า 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ซึ่งมีผลดีทำให้สมองหลั่งสารแห่งความสุข หรือสารเอนดอร์ฟิน (Endorphin) จะช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายความเครียด และหลับสนิทขึ้น