กรุงเทพฯ--1 เม.ย.--ธพว.
SME D Bank ประสาน TSTC หนุนเอสเอ็มอีไทยสยายปีกแดนมังกร ผ่านกิจกรรม Business Matching ณ นครกว่างโจว สุดปลื้มเกิดการซื้อขายทันทีมูลค่ารวมกว่า 1 ล้านบาท และสร้างโอกาสขยายตลาดต่อเนื่องในอนาคต ประกาศเดินหน้าดันโกอินเตอร์ต่อเนื่อง ด้านกูรูจีนแนะ 3 เคล็ดลับ พิชิตตลาดแดนมังกร ได้แก่ 1.จดเครื่องหมายการค้า 2.สร้างมาตรฐาน และ 3.บรรจุภัณฑ์โดนใจ
นายพงชาญ สำเภาเงิน รองกรรมการผู้จัดการ รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว). หรือ SME D Bank กล่าวว่า นโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของ ธพว. นอกจากด้านบริการเงินทุนดอกเบี้ยต่ำแล้ว ยังมุ่งเติมความรู้ และสนับสนุนขยายช่องทางตลาดควบคู่ไปด้วย โดยรายที่มีศักยภาพ จะต่อยอดให้ขยายตลาดส่งออกต่างประเทศ ทั้งรูปแบบออนไลน์ และออฟไลน์ หนึ่งในนั้น คือ กิจกรรม Business Matching ที่ SME D Bank นำโดยคุณอัจฉราวรรณ เจียรธนาพร ที่ปรึกษาด้านการตลาดและพัฒนาผู้ประกอบการ ร่วมกับศูนย์สร้างโอกาสธุรกิจไทยสู่จีน หรือ Thailand Smart Trade Center (TSTC) นำคณะเอสเอ็มอีไทย จำนวน 15 ราย ไปเจรจาจับคู่ธุรกิจกับผู้ซื้อชาวจีนโดยตรง ณ นครกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 21-23 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา
"นครกว่างโจวเป็นเมืองเอกของมณฑลกวางตุ้ง เป็นเมืองขนาดใหญ่สุดทางภาคใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึง เป็นที่ตั้งของเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 3 แห่งของจีน อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงต่อเนื่อง มีกำลังซื้อมหาศาล และที่สำคัญ ชาวจีนชื่นชอบและยอมรับในคุณภาพสินค้าไทยมาก จึงเป็นโอกาส และช่องทางการค้าที่น่าสนใจอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนเอสเอ็มอีไทยให้ส่งสินค้ามาขายยังตลาดแห่งนี้" นายพงชาญ ระบุ
จากกิจกรรมดังกล่าว ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ร่วมคณะได้รับคำสั่งซื้อสินค้าจากผู้ซื้อชาวจีนทันที เช่น บริษัท เอ็น แอนด์ เค เฮลท์แคร์ จำกัด ผู้ผลิตวิตามินแบรนด์ "กัมมี่" ได้ออเดอร์เบื้องต้นล็อคแรก 1 ตู้คอนเทนเนอร์ คาดมูลค่ากว่า 5 แสนบาท บริษัท ไพศาลฟู้ดส์ จำกัด ผู้ผลิตบราวนี่อบกรอบ แบรนด์ "Brownie House the Original" ซึ่งเคยเดินทางมาเปิดตลาดจีนกับ SME D Bank และ TSTC ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ครั้งนี้สามารถปิดการขายสำเร็จ มียอดสั่งซื้อประมาณ 5 แสนบาท นอกจากนั้น อีกหลายรายมีแนวโน้มที่ดี กำลังจะได้รับคำสั่งซื้อตามมาในภายหลัง
อีกทั้ง คณะเอสเอ็มอีไทยได้รับโอกาสเข้าพบคุณครองขนิษฐ รักษ์เจริญ กงสุลใหญ่แห่งนครกว่างโจว และคุณศุภรา เสกาจารย์ กงสุลฝ่ายพาณิชย์ ซึ่งให้คำแนะนำด้านกฎระเบียบ ข้อควรรู้ในการทำตลาดจีน นอกจากนั้น เกิดการเชื่อมโยงสร้างเครือข่าย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ ตลอดจนซื้อขายสินค้าระหว่างผู้ประกอบการที่ร่วมคณะด้วยกันเอง เช่น บริษัท วัน ทา ไทย โปรดักซ์ จำกัด ผู้ผลิตฟองน้ำแต่งหน้าจากยางพารา เสนอสินค้าให้แก่บริษัท เอสเจเอสธีติค จำกัด ผู้ผลิตเครื่องสำอาง นำไปทำโปรโมชั่นแก่ตัวแทนขาย ขณะที่บริษัท ชัยวัฒนาไรซ์มิลล์ จำกัด ผู้ผลิตขนมแปรรูปจากข้าว ให้บริษัท แอลพี ฟู้ดเวนเชอร์ จำกัด ผู้ผลิตเครื่องแกงรสต้มยำสำเร็จรูป เสนอสินค้าเพื่อนำไปทดลองผลิตเป็นมันฝรั่งแผ่นรสชาติไทย เป็นต้น
ที่สำคัญ ผู้ประกอบการที่ร่วมเดินทางได้รับประสบการณ์การส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ และพบเห็นข้อมูลข้อเท็จจริงตลอดจนพบผู้ซื้อชาวจีนด้วยตัวเอง เกิดประโยชน์สามารถนำกลับไปประเมิน และปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสม เพื่อสร้างโอกาส และลดความเสี่ยงในการทำตลาดประเทศจีนต่อไป
นายพงชาญ กล่าวด้วยว่า ธนาคารจะดำเนินกิจกรรมสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยขยายตลาดส่งออกอย่างต่อเนื่องในหลากหลายรูปแบบ เช่น การอบรมสัมมนาขยายตลาดออนไลน์ พาออกงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง จีน อินเดีย เป็นต้น รวมถึง กิจกรรมจับคู่ธุรกิจกับคู่ค้าต่างชาติ เป็นต้น
ด้านนายนิพนธ์ ธรรมพัฒนาภรณ์ ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์สร้างโอกาสธุรกิจไทยสู่จีน หรือ Thailand Smart Trade Center (TSTC) กล่าวว่า สินค้าไทยในสายตาชาวจีน เป็นที่ยอมรับและเชื่อถือเรื่องคุณภาพ รวมถึง ภาครัฐของจีนให้ความสำคัญเรื่องมาตรฐาน ดังนั้น สินค้าไทย จึงตอบโจทย์ตลาดจีนได้อย่างดี
ทั้งนี้ เอสเอ็มอีไทยที่อยากส่งสินค้ามาขายในประเทศจีน ควรคำนึงถึง 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ต้องจดเครื่องหมายการค้า สร้างแบรนด์ ป้องกันการถูกลอกเลียนแบบ ละเมิดลิขสิทธิ์ 2. สร้างมาตรฐานสินค้าตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขของประเทศจีน และ 3. พัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สวยงามดึงดูดใจ ขนาดเหมาะสมกับพฤติกรรมผู้บริโภคท้องถิ่น
นอกจากนั้น ควรลงทุนธุรกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป และที่สำคัญ ต้องศึกษาตลาดให้ดีเสียก่อน ซึ่งปัจจุบัน มีหลายหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน พร้อมสนับสนุนอยู่แล้ว หนึ่งในนั้น คือความร่วมมือระหว่าง SME D Bank กับ TSTC นำคณะเอสเอ็มอีไทย มาศึกษาตลาด และจับคู่ธุรกิจ ณ นครกว่างโจว ช่วยให้ได้รับรู้ข้อมูล และพฤติกรรมผู้บริโภคท้องถิ่นโดยตรง สามารถนำไปพัฒนาสินค้าตรงกับความต้องการของตลาด เพื่อจะขายสินค้าสู่จีนได้ในอนาคต