กรุงเทพฯ--1 เม.ย.--สปาร์ค คอมมิวนิเคชั่นส์
โรคพาร์กินสัน (Parkinson's Disease) ถือเป็นโรคทางระบบประสาทและสมองที่พบบ่อยเป็นอันดับที่ 2 รองจากโรคอัลไซเมอร์ สามารถพบได้ในผู้สูงอายุทั่วโลก หรือ ประมาณร้อยละ 1 ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มักพบในผู้ป่วยเพศชายมากกว่าเพศหญิง เนื่องจากเพศชายมีความเสี่ยงเป็นโรคพาร์กินสันมากกว่าผู้หญิงถึง 1.5 เท่า โรคพาร์กินสันเกิดจากการเสื่อมของเซลล์ในระบบประสาทส่วนกลางซึ่งมีหน้าที่ในการสร้างสารสื่อประสาทที่เรียกว่า โดปามีน (dopamine)มีหน้าที่ในการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย เมื่อปริมาณของสารโดปามีนลดลงจนไม่เพียงพอต่อความต้องการ จะทำให้เกิดอาการเคลื่อนไหวที่ไม่เป็นปกติ เช่น อาการสั่น เครื่อนไหวช้าลง แต่ในความเป็นจริงผู้ป่วยโรคพาร์กินสันยังอาจมีอาการอื่นที่อยู่นอกเหนือจากการเคลื่อนไหว (non-motor symptoms) เช่น อาการท้องผูกป็นประจำ อาการวิตกกังวล ซึมเศร้า ภาวะวิกลจริตและอาการประสาทหลอน นอนไม่หลับ อ่อนเพลียง่าย ฯลฯ
นพ. สิทธิพันธ์ จันทร์พงษ์ อายุรแพทย์โรคสมองและระบบประสาท โรงพยาบาลศรีสะเกษ กล่าวว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้การให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคพาร์กินสันนั้นขาดความทั่วถึงไปยังบุคคลทั่วไปในเขตจังหวัดต่างๆ ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดแคลนบุคคลากรทางการแพทย์ด้านโรคสมองและระบบประสาท ซี่งในบางโรงพยาบาลอาจจะมีแพทย์เฉพาะทางฯ ประจำอยู่เพียง 1 คนเท่านั้น ทำให้การรักษา ให้ความรู้ และคัดกรองโรคนั้นไม่ทั่วถึง จึงเป็นที่มาของการริเริ่มโครงการ "เครือข่ายคัดกรองผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน" ที่ถูกออกแบบโดยทีมบุคคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลศรีสะเกษ ได้คิดวิธีการให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรค เผยแพร่ความรู้ให้แก่บุคลากรทางแพทย์ในชุมชน อีกทั้งยังช่วยช่วยคัดกรองผู้ป่วยโรคพาร์กินสันให้การตรวจและวินิจฉัยโรคเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับตัวโครงการ "เครือข่ายคัดกรองผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน" จะประกอบไปด้วยกิจกรรมต่างๆ อาทิ
- Pre-Hospital Awareness Program – กิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับโรคพาร์กินสัน ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ประกอบการให้ความรู้ เช่น บอร์ดความรู้ แผนพับ เพื่อให้ความรู้โรคพาร์กินสันแก่ คนไข้ ญาติคนไข้และบุคคลทั่วไป
- PD Disease Awareness Day – กิจกรรมเชิงบรรยายและสันทนาการเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโรคพาร์กินสัน ให้แก่ บุคคลทั่วไป ได้เข้าใจโรคพาร์กินสันมากยิ่งขึ้น รวมถึงวิธีการดูแลรักษาตนเอง การทำกิจกรรมสันทนาการเพื่อกระตุ้นสมองและการเคลื่อนไหว
- PD Caravan (คาราวาน.....สั่นสู้) – กิจกรรมเดินสายไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียงเพื่ออบรมให้ความรู้เรื่องโรคพาร์กินสัน แนวทางการรักษา การปฏิบัติตัว การคัดกรอง และแนวทางการส่งต่อผู้ป่วยสู่โรงพยาบาลประจำจังหวัด
- PD Clinic Setting – กิจกรรมการเช็คสุขภาพและตรวจโรคพาร์กินสันโดยมีสมุดประจำตัวผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน เป็นหนึ่งในตัวช่วยให้การคัดกรองโรค การติดตามการรักษา และการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยให้เป็นไปได้ดียิ่งขึ้น
นอกเหนือจากการจัดกิจกรรมให้ความรู้และสร้างเครือข่ายคัดกรองผู้ป่วยโรคพาร์กินสันแล้ว ในส่วนการทำงานของบุคคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลศรีสะเกษนั้นได้มีการจัดทำระบบ Patient Journey โดยเริ่มด้วยการสอบถามข้อมูลและตรวจอาการคัดกรองผู้ป่วยด้วยพยาบาลและแพทย์ทั่วไป จึงส่งต่อมายังวินิจฉัยโรคและทำการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางระบบประสาทและสมอง พยาบาลระบบประสาทและสมอง และ ผู้ช่วยพยาบาล เพื่อการให้บริการคนไข้ได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งยังสามารถคัดกรองผู้ป่วยก่อนการรักษาได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น
"สำหรับตัวโครงการจะมุ่งเน้นไปในการแก้ไขปัญหาความเข้าใจผิดต่างๆเกี่ยวกับโรคพาร์กินสัน อาทิ ปัญหาประชาชนขาดความเข้าใจในโรคพาร์กินสันโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงผู้สูงอายุ ปัญหาผู้ป่วยพาร์กินสันที่ยังไม่เข้าถึงการรักษา ในกลุ่มที่ไม่ทราบที่ตนเองเป็นโรคอยู่และกลุ่มที่ทราบเป็นโรคแล้ว แต่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ ปัญหาผู้ป่วยพาร์กินสันและผู้ดูแลขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคและการปฎิบัติตัว เมื่อเป็นโรคพาร์กินสัน ปัญหาการคัดกรองและการส่งต่อผู้ป่วยพาร์กินสันเพื่อทำการส่งต่อการรักษาผู้ป่วยโรคพาร์กินสันจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รวมไปถึงการพัฒนาการทำงานของกลุ่มบุคคลการทางการแพทย์ เพื่อประโยชน์สูงสุดในการดูแลผู้ป่วยพาร์กินสัน ซึ่งหลังจากที่ได้มีการทำโครงการฯ ออกไปอย่างต่อเนื่องทางทีมงานฯ ได้รับผลตอบรับในเชิงบวกมากยิ่งขึ้น อีกทั้งประชาชาชนมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคพาร์กินสันมากยิ่งขึ้น โดยทางทีมงานฯ ที่เกี่ยวข้องได้ตั้งเป้าที่จะไว้ในการขยายเครือข่ายโครงการฯ นำร่องให้ครอบคลุมทั่วทั้งภาคอีสานอีกด้วย" นพ.สิทธิพันธ์ จันทร์พงษ์ กล่าวปิดท้าย