กรุงเทพฯ--1 เม.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากล (Insurer Financial Strength: IFS) ของบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ MTL เป็น 'A-' (หรืออยู่ในระดับ "แข็งแกร่ง") จาก 'BBB+' (หรืออยู่ในระดับ "ดี") และคงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศ (National IFS) ที่ 'AAA(tha)' โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ได้ยกเลิกสถานะอันดับเครดิตของบริษัทที่เป็นอันดับเครดิตที่อยู่ระหว่างการทบทวนที่เกิดจากการประกาศใช้หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตฉบับใหม่
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
การประกาศอันดับเครดิตในครั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังที่ฟิทช์พิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจประกันภัย (Insurance Rating Criteria) เสร็จสิ้นและมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2562 อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากลของ MTL เดิมถูกจำกัดด้วยอันดับเครดิตสากลสกุลในประเทศระยะยาวของประเทศไทย (Long-Term Local-Currency Issuer Default Rating) ที่ 'BBB+' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ อย่างไรก็ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจประกันภัยฉบับใหม่นี้ได้ยกเลิกการจำกัดอันดับเครดิตของธุรกิจประกันภัยไว้ที่ระดับไม่สูงกว่าอันดับเครดิตของประเทศ ('top-down' sovereign constraint) โดยเปลี่ยนแปลงเป็นการวิเคราะห์ความเสี่ยงของประเทศเป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์ปัจจัยที่อาจส่งผลต่ออันดับเครดิต (credit profile) ในแต่ละด้าน
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ MTL สะท้อนถึงโครงสร้างธุรกิจประกันชีวิตที่แข็งแรง (Favorable Business Profile) ระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง และฐานะทางการเงินที่แข็งแรงของบริษัท ซึ่งปัจจัยดังกล่าวช่วยบรรเทาความเสี่ยงของบริษัทในด้านการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง รวมถึงการที่บริษัทมีเงินลงทุนในหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับเงินลงทุนรวมทั้งหมดของบริษัท
ฟิทช์มีความเห็นว่าโครงสร้างธุรกิจประกันชีวิตของ MTL อยู่ในระดับแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรม MTL มีเครือข่ายทางธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านเบี้ยประกันชีวิตรับรวมเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศไทย และยังได้รับการสนับสนุนอย่างใกล้ชิดทางด้านการดำเนินงานและเทคนิคจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ฐานลูกค้าของ MTL ซึ่งมีการกระจายตัวที่ดีเมื่อเทียบกับบริษัทประกันชีวิตอื่นในประเทศรวมถึงการขยายธุรกิจจากการรับประกันภัยที่มีอัตรากำไรที่ดีก็น่าจะบรรเทาความเสี่ยงในด้านการกระจุกตัวของช่องทางการขายผลิตภัณฑ์ผ่านธนาคาร (bancassurance) และขนาดธุรกิจของบริษัทในต่างประเทศที่ยังคงมีขนาดเล็ก จากมุมมองดังกล่าว ฟิทช์จึงให้อันดับ 'a-' ในด้านโครงสร้างธุรกิจประกันชีวิต (business profile credit factor score) แก่ MTL ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของฟิทช์
อัตราส่วนเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามระดับความเสี่ยงของ MTL ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแรงโดยสะท้อนจากระดับของเงินกองทุนที่ 379% ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ซึ่งแม้ว่าจะลดลงเล็กน้อยจากในช่วงสิ้นปี 2560 ที่ 398% แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าระดับเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามเกณฑ์ที่ 140% อยู่มาก ระดับเงินกองทุนของบริษัทจากแบบจำลอง Prism Factor-Based Capital Model (Prism FBM) ของฟิทช์ยังอยู่ในระดับแข็งแกร่ง ('Strong') ประเมินจากข้อมูลทางการเงิน ณ สิ้นครึ่งปีแรกของปี 2561 เนื่องจากบริษัทมีความเสี่ยงของสินทรัพย์ที่อยู่ในระดับปานกลางและอัตรากำไรที่อยู่ในระดับที่ดี ฟิทช์เชื่อว่าบริษัทจะยังสามารถรักษาให้เงินกองทุนยังอยู่ในระดับที่เพียงพอที่จะสามารถรองรับความเสี่ยงทางธุรกิจที่อาจเกิดขึ้นและสามารถรองรับเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยงระยะที่ 2 ของประเทศไทยซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้ในปี 2562 ได้
บริษัทอาจเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นบ้างเพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะสั้น MTL มีสัดส่วนเงินลงทุนในตราสารทุนเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 11% ของสินทรัพย์ลงทุนรวม ณ สิ้นครึ่งปีแรกของปี 2561 (ปี 2557; 9%) โดยแนวโน้มของการลงทุนในตราสารทุนที่เพิ่มขึ้นนี้ยังคงสอดคล้องกับบริษัทประกันชีวิตอื่นในประเทศไทย อย่างไรก็ตามบริษัทมีการควบคุมความเสี่ยงของการลงทุนผ่านการกำหนดนโยบายการลงทุนที่ระมัดระวังและรักษาสมดุลระหว่างผลตอบแทนที่จะได้รับ ความเสี่ยงของการลงทุน และค่าความเสี่ยงของการคำนวณเงินกองทุน อาทิเช่น MTL จะลงทุนในตราสารหนี้ที่มีคุณภาพที่ดีและมีการกำหนดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงประเภทต่างๆ อย่างชัดเจน สัดส่วนเงินลงทุนของ MTL ในตราสารหนี้ภาครัฐและตราสารหนี้รัฐวิสาหกิจต่อส่วนทุนของบริษัทยังอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 390% ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2561
ฟิทช์คาดว่า MTL จะยังคงมีผลการดำเนินงานที่แข็งแรงต่อเนื่องในระยะปานกลางโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายการรับประกันภัยที่ระมัดระวังและจากผลตอบแทนของเงินลงทุนที่สม่ำเสมอ ซึ่งอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เฉลี่ยของ MTL ที่ 2.7% ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับบริษัทประกันชีวิตที่มีอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากลที่ระดับ 'A' สำหรับอัตราการเติบโตของเบี้ยประกันภัยรับของ MTL ที่ลดลงนั้นเป็นผลมาจากการเปลี่ยนกลยุทธ์ของบริษัทที่มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ด้านการให้ความคุ้มครองซึ่งมีเบี้ยประกันรับน้อยกว่า และการปรับตัวลดลงของยอดขายผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางธนาคารเนื่องจากผลกระทบจากการขยายตัวของเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับต่ำและจากกฏเกณฑ์การกำกับดูแลการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีความเข้มงวดเพิ่มขึ้น
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศของ MTL ไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้อีก เนื่องจากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศที่ 'AAA(tha)' เป็นอันดับเครดิตที่สูงที่สุดแล้ว
ปัจจัยที่อาจส่งผลให้ปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินได้แก่
- การปรับตัวลดลงของสัดส่วนเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (RBC) มาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 280% และการปรับตัวลดลงของระดับเงินกองทุนของบริษัทซึ่งวัดจากแบบจำลอง Prism FBM มาอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับแข็งแกร่ง ('Strong') เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง หรือ
- การปรับตัวลดลงของความสามารถในการทำกำไรซึ่งสะท้อนจากอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เฉลี่ยที่ต่ำกว่า 1% เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง
ปัจจัยที่อาจส่งผลให้ปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินได้แก่
- การปรับตัวเพิ่มขึ้นของระดับเงินกองทุนของ MTL ซึ่งวัดจากแบบจำลอง Prism FBM ให้อยู่ในระดับแข็งแกร่ง ('Strong') ได้อย่างต่อเนื่อง และ
- บริษัทมีขนาดของธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นและมีการกระจายความเสี่ยงของธุรกิจ (business diversification) ที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่น บริษัทมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมหลากหลายประเภทธุรกิจมากขึ้น ธุรกิจมีการกระจายตัวเชิงภูมิศาสตร์ที่ดีขึ้น และช่องทางการขายมีการกระจุกตัวที่ลดลง