กรุงเทพฯ--1 เม.ย.--ซีพีเอฟ
ซีพีเอฟผนึกกำลัง CPP CP-Meiji พัฒนาอาหารหยาบ "ข้าวโพดหมัก" หรือ Corn silage ช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม มีผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ที่เหมาะสม ส่งผลให้ได้น้ำนมดิบคุณภาพสูง และผู้บริโภคได้รับน้ำนมสดที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ตั้งเป้าปี 62 ผลิตอาหารหยาบได้ 2 หมื่นตัน มูลค่ากว่า 50 ล้านบาท
นายเรวัติ หทัยสัตยพงศ์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจผลิตและขายอาหารสัตว์บก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟดำเนินธุรกิจผลิตอาหารโคนมมานานกว่า 30 ปี โดยเฉพาะอาหารข้นสำเร็จรูป ขณะที่โคเป็นสัตว์เคี้ยงเอื้องมี 4 กระเพาะ จำเป็นต้องได้รับอาหารทั้งอาหารข้นและอาหารหยาบในสัดส่วนที่สมดุล ธุรกิจขายอาหารสัตว์บกซีพีเอฟ สำนักวิชาการอาหารสัตว์เครือเจริญโภคภัณฑ์ CP-Meiji และธุรกิจพืชครบวงจร-ข้าวโพด จึงร่วมกันดำเนินโครงการ "ศูนย์ผลิตอาหารหยาบสำหรับโคนม" ณ ฟาร์มพืชไร่ ต.แสลงพัน อ.วังม่วง จ.สระบุรี เพื่อนำหลักวิชาการมาพัฒนาสูตรอาหารสัตว์ที่เหมาะสม ด้วยการจัดหาพืชอาหารสัตว์ภายใต้โครงการผลิตข้าวโพดหมัก สำหรับเกษตรกรนำไปเป็นอาหารโคนม เพื่อให้ได้น้ำนมคุณภาพดี ป้อนให้กับโรงงานแปรรูปนมของ CP-Meiji ต่อไป
"ฟาร์มพืชไร่แสลงพันเป็นสถานที่วิจัยและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการเป็นศูนย์ผลิต Corn silage เนื่องจากรายล้อมไปด้วยฟาร์มโคนมที่หนาแน่นที่สุดในประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของซีพีเอฟที่ต้องการผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในพื้นที่ที่มีความต้องการสูง โดยปีนี้ตั้งเป้าหมายการผลิตที่ประมาณ 20,000 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท" นายเรวัติ กล่าว
ด้าน นายสายัณห์ หงษา ประธานคณะผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจพืชครบวงจร–ข้าวโพด บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิวส์ จำกัด หรือ CPP กล่าวว่า ข้าวโพดหมัก เป็นผลิตภัณฑ์ชนิดแรกที่ถูกเลือกนำมาผลิต เนื่องจากมีวัตถุดิบที่สามารถผลิตได้ในประเทศ และข้าวโพดอาหารสัตว์มีจุดเด่นที่มีเปอร์เซนต์แป้งสูง มีเปอร์เซนต์โปรตีนที่ดี มีอัตราการสะสมแป้งระยะสั้น อายุเก็บเกี่ยวไว ในขณะที่ใบยังเขียว ทั้งยังมีผลผลิตต่อไร่สูง ธุรกิจพืชครบวงจรจึงใช้ความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาข้าวโพดมากว่า 40 ปี ในการทุ่มเทวิจัยและพัฒนาคัดสรรสายพันธุ์ข้าวโพดที่เหมาะสมสำหรับผลิต Corn silage ด้วยมุ่งหวังผลิตอาหารสัตว์ที่เป็นต้นน้ำทั้งอาหารข้นและอาหารหยาบ ส่งต่อแก่เกษตรกรฟาร์มโคนม เพื่อต่อยอดให้ธุรกิจอุตสาหกรรมแปรรูปมีน้ำนมดิบที่สามารถควบคุมได้ตลอดกระบวนการ จนถึงมือผู้บริโภค
"การที่ CPP และซีพีเอฟ ร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาในครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของเครือซีพีที่ได้ผนึกกำลังเพื่อสร้างรากฐานที่มั่นคง ขยายตลาด และเพิ่มโอกาสอุตสาหกรรมโคนมไทย ให้มีศักยภาพที่จะสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ที่สำคัญยังช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม มีผลิตภัณฑ์อาหารหยาบ Corn silage ที่มีคุณภาพสูงและเหมาะกับความต้องการของโค ขณะเดียวกันทีมงานยังพัฒนาพื้นที่แปลงปลูกให้สามารถปลูกข้าวโพด นอกจากฤดูกาลที่ต้องผลิตเมล็ดพันธุ์หลัก นับเป็นการใช้ประโยชน์ในพื้นที่อย่างสูงสุด" นายสายัณห์ กล่าว.