กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--ไซเบอร์ดายน์
"ไซเบอร์ดายน์" บริษัทชั้นนำด้านหุ่นยนต์ไซบอร์กทางการแพทย์ของญี่ปุ่น จับมือ TCELS เปิดตัวธุรกิจบริการหุ่นยนต์ช่วยเหลือผู้ป่วยช่วยตัวเองไม่ได้ ในงานสัมมนาการแพทย์หุ่นยนต์ล้ำยุคประจำปี 2562 หลังประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือผู้ป่วยในระดับสากล มั่นใจความร่วมมือระหว่างภาครัฐของไทย กับภาคเอกชนของญี่ปุ่น ช่วยยกระดับการเข้าถึงนวัตกรรมด้านการแพทย์ของประชาชนได้ทั่วถึง
ศ.ดร.โยชิยูกิ ซานไค ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการ บริษัท ไซเบอร์ดายน์ เปิดเผยว่า การเปิดตัวครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากไซเบอร์ดายน์ ประสบความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยที่ไม่สามารถขยับหรือเดินได้ให้มีความสามารถในการเดินหรือช่วยตัวเองได้อีกครั้งหนึ่งในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี อิตาลี โปแลนด์ ซาอุดิอาระเบีย มาเลเซีย และญี่ปุ่น เป็นต้น
ไซเบอร์ดายน์ให้บริการเช่าหุ่นยนต์ไซบอร์กทางการแพทย์ เพื่อฟื้นฟูความสามารถในการทำงานของส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น คนที่เป็นอัมพาตส่วนล่างตั้งแต่เอวลงไปถึงเท้าจะใช้ไซบอร์กรุ่นระบบขา (HAL Lower Limb Type), คนไข้ที่ไม่สามารถยกตัวขึ้นได้หรือสูญเสียความสามารถในการนั่งจะใช้ไซบอร์กระบบเอว (HAL Lumbar Type), คนไข้ที่ไม่สามารถยืดหรือหดข้อได้ ไม่ว่าจะเป็นข้อแขน มือ เข่า หรือ เท้า จะใช้ไซบอร์กระบบข้อ (HAL Single Joint Type) และคนไข้ที่มีปัญหาในการขยับที่มีปัญหาในการขยับนิ่วมือจะใช้ระบบมือในการช่วยฟื้นฟูความสามารถในการหยิบจับกำและแบมือ (Hand of Hope)
สำหรับทำงานของหุ่นยนต์ไซบอร์ก Cyberdyne ใช้ระบบปฏิบัติการผสมผสาน (HAL-Hybrid Assitive Limp) ซึ่งเป็นระบบที่แพทย์สามารถเลือกได้ระหว่างแบบให้คนไข้สั่งการหุ่นยนต์เองด้วยความคิด หรือ แบบอัตโนมัติ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของหุ่นยนต์ Cyberdyne ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้หุ่นยนต์ของบริษัทฯ เป็นไซบอร์กด้วย เนื่องจากระบบการทำงานที่คนไข้สั่งการได้เองจะเป็นการเชื่อมต่อระหว่างสัญญาณไฟฟ้าจากสมองมนุษย์ และระบบอิเล็กทรอนิกส์ของหุ่นยนต์ การทำงานช่วยเหลือกันอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน โดนไซเบอร์ดายน์ จะให้บริการเช่าหุ่นยนต์ไซบอร์กทางการแพทย์ผ่านการให้บริการของโรงพยาบาลหรือคลินิกฟื้นฟูกายภาพเท่านั้น โดยมีตัวแทนอย่างเป็นทางการในประเทศไทย คือ Zignature Robotics
ด้าน ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การเปิดตัวหุ่นยนต์ทางการแพทย์ครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องดีกับประชาชนคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ซึ่งการที่ภาคเอกชนเข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมทางการแพทย์จะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์มากขึ้น
"ต้องยอมรับว่า ขณะนี้เครื่องไม้เครื่องมือในประเทศรวมถึงบุคลากรของไทยด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ยังมีน้อย ภาครัฐจึงจำเป็นต้องอำนวยความสะดวกด้านต่างๆโดยเฉพาะเรื่องของการสนับสนุนการลงทุนของต่างชาติให้เข้ามาร่วมพัฒนาเทคโนโลยีประเภทนี้ในประเทศ เพื่อยกระดับศักยภาพด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ของไทย ให้ทัดเทียมต่างชาติ ซึ่งเป็นผลดีต่อประชาชนในประเทศ" ดร.นเรศ กล่าว