กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--นิโอ ทาร์เก็ต
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกวันนี้ หนึ่งในโรคร้ายแรงที่ทำให้เราหวาดกลัวกันมากที่สุด คือ โรคมะเร็ง เพราะนอกจากจะเป็นโรคที่คร่าชีวิตคนไทยสูงเป็นอันดับหนึ่งแล้ว ยังเป็นโรคที่มีปัจจัยเสี่ยงมากมาย จนหาทางป้องกันได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย พฤติกรรมการใช้ชีวิต รวมไปถึงลักษณะทางพันธุกรรม
ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพระดับยีน ดร. เอมอร โคพีร่า Chief Medical Officer โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง กล่าวใน งานประชุมสัมมนาวิชาการ การบริหารจัดการโรงพยาบาล (Hospital Management Forum: HM Forum) ครั้งที่ 5 เรื่อง "Precision Public Health & Precision Medicine" ว่า ในปัจจุบันมีนวัตกรรมทางการแพทย์ที่สามารถตรวจหาแนวโน้มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งได้ในระดับพันธุกรรม ซึ่งความจริงได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ขึ้นมาหลายปีแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาประเทศที่พัฒนาแล้วในยุโรปและอเมริกา มีผู้ที่รอดชีวิตจากโรคมะเร็งจำนวนมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากวิทยาการด้านการรักษาโรคมะเร็งที่ทันสมัย ความก้าวหน้าของเครื่องมือคัดกรองโรคมะเร็งต่าง ๆ รวมทั้งการตรวจในระดับยีน ทำให้สามารถตรวจพบการก่อตัวที่ผิดปกติของเซลล์เร็วขึ้นก่อนเซลล์จะผิดรูปกลายเป็นเซลล์มะเร็ง และมีโอกาสในการรักษาเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ในกลุ่มประเทศแถบเอเชีย จากความคิดที่เคยกลัวและเชื่อว่ามะเร็งเป็นโรคที่รักษาไม่หาย เป็นแล้วต้องเสียชีวิต ไม่ต้องการรับรู้ว่าเป็นมะเร็ง เปลี่ยนมาเป็นต้องการรู้แนวโน้มหรือความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งของตน โดยเชื่อมั่นในวิทยาการทางการแพทย์ว่าจะสามารถทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งสามารถหายขาด และกลับมามีสุขภาพแข็งแรงใช้ชีวิตได้อย่างปกติ จากผลการรักษาที่ผ่านมา ที่ว่ายิ่งพบเจอเร็ว ก็จะยิ่งจัดการได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นการหาวิธีป้องกันหรือการรักษาก็ตาม
"สอดคล้องกับกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจอย่างนักแสดงฮอลลีวูดชื่อดัง "แองเจลิน่า โจลี่ ที่ตรวจพบว่ากรรมพันธุ์จากทางครอบครัวของเธอทำให้ตัวเธอมีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งเต้านมถึงเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแม่ของเธอก็เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมเช่นกัน ทำให้เธอตัดสินใจผ่าเต้านมทั้งสองข้างออกเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นอกจากนี้ แองเจลิน่า โจลี่ ยังได้สนับสนุนให้ผู้หญิงทุกคนเข้ารับการตรวจเพื่อหาทางป้องกันให้เร็วที่สุดอีกด้วย"
ดร. เอมอร ยังเสริมอีกด้วยว่า การแพทย์แผนปัจจุบันนั้นจะเน้นที่การรักษาตามอาการโรค แต่การพยายามทำความเข้าใจตัวโรคก่อนที่จะเกิดยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าที่ควร และถึงแม้วิทยาการความรู้ด้านการดูแลสุขภาพระดับยีนจะมีการพัฒนามานานแล้ว แต่ในประเทศไทยยังไม่เป็นที่รู้จัก อีกทั้งยังขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งคาดการณ์ว่า ในระยะเวลาอีก 5 ปีต่อจากนี้ การแพทย์เฉพาะทางนี้จะเข้ามา Disrupt วงการสุขภาพครั้งใหญ่เลยทีเดียว เพราะการตรวจสอบยีนและกรรมพันธุ์สามารถบอกได้อย่างละเอียดถึงความเหมาะสมกับสภาพร่างกายของคนไข้แต่ละคน ตั้งแต่ อาหารการกิน การออกกำลังกาย ไปจนถึงปริมาณยา และความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ เรียกว่า สามารถดูแลสุขภาพได้อย่างครอบคลุมครบทุกมิติ
"ปัจจุบันนี้ ในประเทศไทยมีสถานพยาบาลเอกชนเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่มีบริการการดูแลรักษาสุขภาพที่ลึกในระดับพันธุกรรม ซึ่งในฐานะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านพันธุกรรม ดร. เอมอร โคพีร่าจึงมีอีกหน้าที่คือเป็นผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูสุขภาพ (Regenerative and Genomics Center) ที่โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง ศูนย์การแพทย์ระดับ 6 ดาวที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยทางศูนย์เน้นการบริการทางการแพทย์ใน 3 ส่วนหลัก ได้แก่ การชะลอวัย (Anti-aging) การป้องกันและรักษาโรคมะเร็ง และการดูแลสุขภาพระดับยีนส์ตลอดชีพ ตั้งแต่ก่อนเกิดจนถึงก่อนตาย (Before Birth to Before Death) ซึ่งถือเป็นการตอบโจทย์ความท้าทายเรื่องสังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Population ที่ประเทศไทย รวมถึงอีกหลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่เป็นอย่างดี ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thonburibamrungmuang.com