กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
"เศรษฐีสวนทุเรียน" เป็นชื่อบอร์ดเกมจากฝีมือการพัฒนาของเยาวชนทีมเศรษฐีสวนทุเรียน จากโรงเรียนสวีวิทยา จังหวัดชุมพร ทีมเยาวชนผู้ชนะเลิศและได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนการศึกษา 50,000 บาท จากโครงการออกแบบเกม ออกแบบสังคม หรือ Thammasat - Banpu Innovative Learning Program ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 20 ทีมจากทั่วประเทศ เข้าสู่เส้นทางของการบ่มเพาะนวัตกรผู้มุ่งหวังเปลี่ยนแปลงสังคม โดยมีกระบวนการพัฒนาบอร์ดเกมเป็นกลไกที่ช่วยพัฒนาเยาวชนผ่านหลักคิดเชิงออกแบบ หรือ Design Thinking ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจด้านพลังงานแบบครบวงจรแห่งเอเชีย - แปซิฟิกที่มุ่งมั่นพัฒนา "คน" ซึ่งจะขับเคลื่อนชุนชนและสังคมอย่างยั่งยืนในระยะยาว
เรวัต นาควิสัย หรือ เอ็กซ์ ตัวแทนเยาวชนทีมเศรษฐีสวนทุเรียน กล่าวถึงแนวคิดในการพัฒนาบอร์ดเกมว่า ครอบครัวของพวกเขาเองก็ทำสวนทุเรียน คนในชุมชนและจังหวัดชุมพรส่วนใหญ่ก็ทำสวนทุเรียนทั้งในและนอกฤดูกาลเนื่องจากตลาดมีความต้องการทุเรียนสูงขึ้น ทำให้ชาวสวนเริ่มใช้สารเคมีป้องกันศัตรูพืชและเร่งการเจริญเติบโต สร้างผลกระทบต่อคุณภาพการส่งออก และสุขภาพของเกษตรกรอย่างมาก จึงพัฒนาบอร์ดเกมเศรษฐีสวนทุเรียนขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือให้ความรู้แก่ชาวสวนทุเรียนสามารถดูแลสวน ลดใช้สารเคมี และส่งเสริมคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามารับช่วงต่อจากพ่อแม่ให้มีความรู้พื้นฐานในการดูแลและจัดการสวนทุเรียนต่อไป
"ทุกกระบวนการของโครงการที่ผ่านมา เราได้เรียนรู้ได้ลงมือทำทุกอย่างด้วยตัวเอง และเข้าไปทำความเข้าใจปัญหาในพื้นที่จริง ทำให้พวกเราที่เป็นแค่เด็กมัธยมสามารถออกแบบบอร์ดเกมที่สร้างความสนุกและแฝงไปด้วยความรู้ ที่ตอบโจทย์ปัญหาคนในชุมชนได้จริง วันนี้เรากลายเป็นผู้พัฒนาบอร์ดเกมเศรษฐีสวนทุเรียนแล้วอยากให้ทุกคนได้ลองเล่นเกมของพวกเราบ้าง แล้วได้รู้ว่าถ้าอยากจะเป็นเศรษฐีสวนทุเรียนต้องทำอยางไร และฝากถึงเพื่อน ๆ คนอื่นที่เริ่มสนใจบอร์ดเกมหรืออยากได้ประสบการณ์เรียนรู้แบบพวกเราว่าการเข้าร่วมโครงการนี้สร้างเครือข่าย สร้างมิตรภาพ เพราะไม่ใช่แค่การแข่งขัน แต่ในการอบรมแต่ละครั้งพวกเราได้แลกเปลี่ยนกันตลอด ทั้งเทคนิคการทำเกม และเรื่องราวในประเด็นสังคมจากเกมของเพื่อนโรงเรียนอื่น เราได้ลองเล่นเกมของกันและกัน ให้ข้อเสนอแนะกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันทั้งที่มาจากต่างที่ต่างทัศนะแต่เราก็สามารถเรียนรู้ร่วมกันได้"
และจากการนำบอร์ดเกมเศรษฐีสวนทุเรียนไปให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนทุเรียนทดลองเล่น พบเสียงสะท้อนจากผู้เล่นว่า เกมออกแบบมาได้ใกล้เคียงกับชีวิตจริงของชาวสวนทุเรียนมาก และความรู้ที่ได้รับสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง นอกจากนี้ยังช่วยฝึกทักษะการวางแผนการบริหารจัดการสวนทุเรียนอย่างเป็นระบบ เช่น สภาพพื้นที่ ผลผลิต การดูแลรักษา การตลาด บัญชีรับจ่ายที่แสดงผลกำไร-ขาดทุน เรียกว่าครบวงจรของการทำสวนทุเรียนเลยทีเดียว
รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่าคุณลักษณะของคนที่เป็นนวัตกร คือ คนที่เปิดกว้าง เห็นความเป็นไปได้ในทุกโอกาส คิดวิเคราะห์เป็น พยายามศึกษาปัญหาอย่างเข้าอกเข้าใจ และลงมือทำให้สำเร็จด้วยความรักและมุ่งมั่น ซึ่งการที่จะสร้างเยาวชนให้มีคุณลักษณะเหล่านี้ได้เขาต้องได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง เข้าร่วมกระบวนการพัฒนาผ่าน หลักการคิดเชิงออกแบบ(Design Thinking) และโครงการฯ ยังมีเครื่องมือย่อยอื่น ๆ ให้แก่เยาวชนนำไปใช้ในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการพัฒนาบอร์ดเกมที่ผ่านมาด้วย
"การพัฒนาชิ้นงานต้นแบบ (Prototype) เป็นหนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญมากของหลักการคิดเชิงออกแบบที่ต้อง อาศัยความเร็วในการหาจุดบกพร่องให้เจอเพื่อแก้ไข หากล้มเหลวก็พยายามใหม่เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ในโครงการเยาวชนทุกทีมจะต้องผ่านประสบการณ์การทำงานจริงที่เข้มข้น นั่นคือการรับฟังคำติชมผลงาน และข้อเสนอแนะจากทุกทิศทาง ทั้งจากผู้เชี่ยวชาญในประเด็นทางสังคมต่าง ๆ นักพัฒนาบอร์ดเกม และผู้เล่นอื่น เพื่อนำไปปรับแก้เกมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถือเป็นช่วงสำคัญที่หล่อหลอมเยาวชนให้เติบโตเป็นนวัตกรต่อไปในอนาคต ถือเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง (Experiential Learning) อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เยาวชนเกิดการเรียนรู้ และจดจำได้ดีที่สุด"
ทางด้านนายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)กล่าวว่าบ้านปูฯ ตระหนักถึงความท้าทายในศตวรรษที่ 21 ที่โลกต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม จึงเห็นถึงความจำเป็นอย่างยิ่งที่เยาวชนจะต้องมีความรู้ความสามารถที่สอดคล้องกับบริบทของโลกที่เปลี่ยนไป ดังนั้น การศึกษาซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศจึงเป็นเครื่องมือที่จะช่วยบ่มเพาะให้คนรุ่นใหม่เติบโตขึ้นเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพมีทักษะที่ก้าวทันโลกและสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้แก่ตนเองและส่วนรวมได้ หนึ่งในนั้นคือการมีทักษะการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) เพื่อสร้างนวัตกรรม
"บ้านปูฯ มองว่าการเรียนรู้เป็นรากฐานสำคัญเพื่อพัฒนาคนในฐานะกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนชุมชนและสังคมให้พัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว เราจึงมุ่งสร้างกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมที่เกี่ยวกับการพัฒนาเยาวชนและการศึกษาอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว และสำหรับโครงการออกแบบเกม ออกแบบสังคม ที่ทางบ้านปูฯ ร่วมสร้างและสนับสนุน เรายินดีที่ได้เห็นพัฒนาการของเยาวชนในโครงการตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และเราก็เชื่อว่านวัตกรรุ่นเยาว์ ที่มีคุณภาพเหล่านี้จะสามารถนำกระบวนการเรียนรู้ที่ได้มาสร้างแรงกระเพื่อมที่ยิ่งใหญ่ให้แก่ประเทศไทยในวันข้างหน้า" นายชนินท์ทิ้งท้าย
นอกจากนั้นยังมีรางวัลพิเศษอีก 6 รางวัล พร้อมทุนการศึกษา 20,000 บาท เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าเยาวชนทุกคนได้ผ่านโครงการนี้มาด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ และพยายามที่จะเรียนรู้จริง ๆ ได้แก่ บอร์ดเกม Bin Bin จากโรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย จ.ศรีสะเกษ ได้รับรางวัล Creativity Award สำหรับทีมที่คิดนอกกรอบ สามารถออกแบบเกมได้อย่างน่าสนใจ สร้างสรรค์และแปลกใหม่ บอร์ดเกม Cadmium Control จากโรงเรียนสรรพวิทยาคม จ.ตาก ได้รับรางวัล Community Engagement Award สำหรับทีมที่สามารถนำเกมไปใช้สร้างเครือข่ายชุมชนในการแก้ปัญหา และสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ขึ้นในชุมชนได้ บอร์ดเกม AEC Together จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มอดินแดง) จ.ขอนแก่น ได้รับรางวัล Well-Research Award เป็นรางวัลที่สะท้อนการทำงานของเยาวชนบนฐานวิชาการ ทำความเข้าใจปัญหาได้ถึงราก และสามารถย่อยข้อมูลออกมาในรูปแบบเกมการเรียนรู้ได้อย่างน่าสนใจ บอร์ดเกม The Literature วรรณคดีมีชีวิต จากโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติพระศรีนครินทร์ จ.ลพบุรี ได้รับรางวัล Team Commitment Award สำหรับทีมที่แสดงถึงการมีส่วนร่วมของคนในทีม การทำงานร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม เพราะเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่โครงการบ่มเพาะให้แก่เยาวชนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการทำงานในโครงการและต่อไปในอนาคต บอร์ดเกม Farming Land จากโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม จ.ตราด ได้รับรางวัล Learning & Growth Award สำหรับทีมที่มีการเรียนรู้และเติบโตจากการเปลี่ยนแปลงทางความคิดอย่างเด่นชัด และสามารถก้าวผ่านอุปสรรคเรียนรู้จากความผิดพลาดและเกิดการพัฒนาศักยภาพของสมาชิกในทีม และ บอร์ดเกม Fortune Condom จากโรงเรียนเซนต์แมรี่ จ.อุดรธานี ได้รับรางวัล Empathic Communication Award ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับทีมที่สามารถออกแบบเกมจากความเข้าอกเข้าใจ มีกระบวนการเพื่อสื่อสารประเด็นที่มีความเปราะบาง และต้องอาศัยความเข้าใจระหว่างผู้เล่นได้อย่างดี ส่วนเยาวชนผู้พัฒนาเกมอีก 13 ทีม ยังได้รับรางวัลชมเชยในประเภทต่าง ๆ พร้อมทุนการศึกษา 15,000 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติคุณกลับไปอีกด้วย
ทั้งนี้ โครงการออกแบบเกม ออกแบบสังคมไม่เพียงแต่ผลิตนวัตกรรุ่นเยาว์ทั้ง 20 ทีมเท่านั้น แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างภาคีเครือข่ายในการทำงานพัฒนาคนร่วมกันขององค์กรเอกชน บุคลากรทางการศึกษา นักพัฒนาบอร์ดเกม และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการพัฒนาและสร้างการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ นอกห้องเรียนต่อไป ผู้สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการออกแบบเกมออกแบบสังคมต่อไปได้ที่ www.facebook.com/tu.banpu