กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
โดย การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
ตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย อยู่ห่างจากจังหวัดเลยประมาณ 48 กิโลเมตร ปัจจุบันเมืองเล็กๆแห่งนี้ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวกันเป็นจำนวนมาก โดยะเฉพาะในช่วงฤดูหนาว เพื่อดื่มด่ำกับบรรยากาศอันสวยงามริมน้ำโขง ไฮไลน์ของอำเภอเชียงคานนอกจากเสน่ห์ของบ้านไม้เก่าย่านถนนคนเดินหรือถนนชายโขงและวิถีชีวิตที่สงบเรียบง่ายของชาวเชียงคานแล้ว อาชีพประมงยังถือเป็นอาชีพหลักของคนในท้องถิ่นที่ผูกพันกับลำน้ำสายนี้มาอย่างยาวนาน
การประมงแม่น้ำโขง คือ ความมั่นคงทางอาหาร ในอดีตการหาปลาเป็นการหาเพื่อยังชีพ ชาวประมงจึงมีความรู้และภูมิปัญญาต่างๆ ในการดำรงชีพ เช่น รู้จักภูมินิเวศในแม่น้ำในลักษณะต่างๆ และระบบภูมินิเวศย่อยๆ ประกอบด้วย แก่ง หาด คก วังน้ำ และดอน (มีสภาพเป็นเกาะกลางน้ำที่เกิดจากทราย และก้อนหินขนาดเล็กมากมายที่กระแสน้ำพัดพามาทับถม) เป็นต้น ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีลักษณะการใช้ประโยชน์แตกต่างกันไปตามลักษณะของภูมินิเวศ และในการหาปลาของชาวประมงก็จะมีความรู้และภูมิปัญญาที่ซ่อนอยู่ เช่น เครื่องมือหาปลาแต่ละชนิด ลักษณะการขึ้นลงของปลาในแต่ละฤดูกาล ลักษณะแหล่งที่อยู่อาศัยของปลา รวมถึงการปลูกพืชผักริมน้ำ และจากวิถีชีวิตของคนเชียงคานที่มีความเกี่ยวข้องและผูกพันกับแม่น้ำเลยและแม่น้ำโขง ทำให้ชุมชนเป็นแหล่งสะสมถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศแม่น้ำโขง รวมทั้งวิธีการทำประมงและการเกษตรริมฝั่งแม่น้ำโขง
แต่เมื่อมีโครงการพัฒนาแม่น้ำโขงเกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อชุมชนในพื้นที่ เช่น โครงการกั้นฝายแม่น้ำเลย ทำให้แม่น้ำตื้นเขิน ปริมาณสัตว์น้ำลดลง บางชนิดหายไป รวมถึงพื้นที่บางส่วนหายไป หรือกรณีโครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในประเทศจีน ทำให้ระดับน้ำขึ้นน้ำลงไม่เป็นปกติ จากเมื่อก่อนระดับน้ำจะค่อยๆ ขึ้นลงตามฤดูกาล แต่ปัจจุบันการขึ้นลงของระดับน้ำแม่น้ำโขงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วชั่วข้ามคืน ส่งผลกระทบต่อการอพยพของปลา หรือที่ชาวประมงเรียกว่า "ปลาหลงน้ำ" หรือปลาอพยพ จนปริมาณปลาลดลงและปลามีขนาดเล็กลง ส่งผลให้อาชีพประมงลดลงจากเดิมที่มีมากกว่า 400 คน เหลือเพียง 40-50 คน นอกจากนี้ยังเกิดปัญหาน้ำท่วมส่งผลต่อการเกษตรริมโขงถูกน้ำกัดเซาะและบางส่วนกำลังอยู่ในภาวะเสี่ยง ชุมชนริมน้ำโขงและชาวประมงสูญเสียรายได้และสูญเสียความมั่นคงทางอาหารที่สำคัญ และยังจะเป็นปัจจัยผลักดันให้ผู้คนอพยพออกจากถิ่นฐานเข้าสู่เมือง
จากปัจจัยดังกล่าวทำให้ชาวประมงมองหาอาชีพอื่น ทำให้ความรู้ด้านการประมงภูมิปัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงพื้นบ้านค่อยๆ เลือนหายไปจากชุมชน ผนวกกับการท่องเที่ยวของอำเภอเชียงคานที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมากขึ้น ความต้องการอาหารเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตประมงเช่นกัน ชาวประมงปากแม่น้ำเลยและแม่น้ำโขงตำบลเชียงคานจึงได้ร่วมกันทำวิจัยเพื่อท้องถิ่น (Community Based Research : CBR) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างกระบวนการการเรียนรู้เพื่อแก้ไขปัญหา 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการศึกษาวิถีชีวิตชาวประมงในปากแม่น้ำเลยและแม่น้ำโขงเพื่อสร้างการเรียนรู้ให้กับชุมชน กรณีตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย 2.โครงการการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมของชาวประมงในแม่น้ำโขง และ 3.โครงการเสริมสร้งศักยภาพเครือข่ยด้านการสื่อสารเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางเรือของชาวประมง
นายยุทธนา วงศ์โสภา ผู้ประสานงาน ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดเลย ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สกว. กล่าวถึงผลการดำเนินงานที่ผ่านมาว่า สำหรับโครงการศึกษาวิถีชีวิตชาวประมงฯ จากการเก็บข้อมูลในพื้นที่ปากแม่น้ำเลยและแม่น้ำโขงในพื้นที่บ้านคกมาด และบ้านเชียงคาน หมู่ที่ 1 ทำให้ทราบว่า มีชาวประมงในพื้นที่ศึกษาประมาณ 83 คน ส่วนประเภทของสัตว์น้ำที่จับเพื่อประกอบอาหารมีทั้งหมด 130 ชนิด แยกเป็นปลา 115 ชนิด ปู 3 ชนิด กุ้ง 4 ชนิด และ หอย 7 ชนิด ทำให้ชาวบ้านไม่ต้องพึ่งพาแหล่งอาหารจากภายนอก แต่เมื่อมีนโยบายหรือโครงการเพื่อการพัฒนาในพื้นที่จากรัฐบาล เช่น โครงการกั้นฝ่ายแม่น้ำเลย โครงการพัฒนาในลุมแม่น้ำโขง เช่น เขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในประเทศจีน เข้ามาได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชาวประมง ทำให้ระบบนิเวศต่างๆ เปลี่ยนไป เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงเรื่อยๆ รวมถึงการผันผวนของระดับในแม่น้ำเลยและแม่น้ำโขง และการขนส่งของเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ ทำให้การจับปลาถูกรบกวนจากคลื่น และยังสร้างความเสียหายให้กับเครื่องมืออุปกรณ์ดักปลาของชาวประมงจากการถูกคลื่นพัดลงน้ำจมหายไป อีกทั้งยังทำให้เกิดอุบัติเหตุได้หากนำเรือประมงหลบเข้าฝั่งไม่ทัน เป็นต้น
ส่วนเรื่องภูมิปัญญาและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวประมง สามารถแยกความรู้ออกได้เป็น 1. ความรู้เรื่องสัตว์น้ำ 2. ความรู้ด้านเครื่องมือหาปลา 3. ความรู้ด้านเครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็นในการหาปลา 4. ความรู้ด้านวิถีชีวิตชาวประมง และ 5. พิธีกรรมหาปลา และจากวิถีชีวิตชาวประมงเชียงคานดังกล่าว ได้นำไปสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กเยาวชนในพื้นที่ ได้แก่ 1) การจัดกิจกรรมศิลปะแห่งสายน้ำ เพื่อสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กนักเรียนในพื้นที่ 2) การสร้างศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาชาวประมง เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้การทำประมงในแม่น้ำเลยและแม่น้ำโขง โดยปรับปรุงแพปลาเก่าของชาวประมง (มหาวิทยาลัยชาวบ้านหรือชุมชน) เป็นศูนย์ประสานของสมาชิกชาวประมง และเป็นสถานที่ในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ 3) การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างเครือข่ายชาวประมงในลุ่มแม่น้ำโขง และได้เข้าร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนลุ่มแม่น้ำโขง 8 จังหวัด 4) กิจกรรมการทำบุญต่อชะตาแม่น้ำเลยและแม่น้ำโขง
นายชาญณรงค์ วงศ์ลา กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกษตรริมโขง กล่าวว่า ปัจจุบันอำเภอเชียงคาน เป็นเมืองท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก เพราะมีธรรมชาติที่สวยงาม กอปรกับการใช้ชีวิตที่เรียบง่ายของชุมชนจึงเป็นจุดหมายปลายทางอีกแห่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวอยากมาสัมผัส แต่สถานที่ท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่นักท่องเที่ยวรู้จัก มีเพียงถนนชายโขง หรือ ถนนคนเดิน ดูบ้านไม้เก่า แก่งคุดคู้ ภูทอก และวัดในชุมชน หรือการยืนชมบรรยากาศแม่น้ำโขงจากบนฝั่งเท่านั้น จึงได้มีการดำเนินการวิจัยเพื่อสร้างรูปแบบการท่องเที่ยวของชาวประมงเชียงคาน เพื่อคงไว้ซึ่งวิถีชีวิตของคนลุ่มแม่น้ำโขง และให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรมความเชื่อของชาวประมง เพื่อให้ชาวประมงได้คงอยู่กับลุ่มน้ำโขงต่อไป จึงเป็นที่มาของโครงการการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมของชาวประมงในแม่น้ำโขงฯ ขึ้น โดยผลจากการศึกษาทำให้เกิดการทบทวนความรู้ ความเชื่อ และพิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขง รวมถึงระบบนิเวศต่างๆ ที่มีความเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของชาวประมง และในการดำเนินงานดังกล่าว ได้มีการตั้ง "ศูนย์เรียนรู้คนกับของเชียงคาน" ซึ่งดัดแปลงขึ้นจากแพชาวประมง เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้แก่ผู้ที่สนใจและนักท่องเที่ยว โดยภายในศูนย์ฯ มีการจัดนิทรรศการภาพวิถีชีวิตแม่น้ำโขง โมเดลปลาชนิดต่างๆ รวมถึงมีการแสดงเครื่องมืออุปกรณ์หาปลาที่ใช้งานได้ เช่น มอง (ข่าย) เบ็ด ซ้อน เป็นต้น
นอกจากนี้ยังได้ทดลองจัดการท่องเที่ยวโดยชาวประมง 3 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบที่ 1 เป็นการท่องเที่ยวทางเรือ ชมความสวยงามของพระอาทิตย์ขึ้นในยามเช้า และพระอาทิตย์ตกในช่วงเย็น ใช้ระยะเวลาไม่เกิน 1-2 ชม. รูปแบบที่ 2 เป็นการล่องเรือชมความสวยงามของธรรมชาติของแม่น้ำโขง ชมพื้นที่ระบบนิเวศที่สำคัญ มีการบอกเล่าตำนาน ความเชื่อ และสัมผัสการทำเกษตรริมโขง ใช้ระยะเวลาไม่เกิน 4-5 ชม. และรูปแบบที่ 3 เป็นการท่องเที่ยวที่ใช้ระยะเวลาตลอดทั้งวัน เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวประมง เรียนรู้การหาปลา ชมระบบนิเวศ ไปจนถึงชมพระอาทิตย์ตกกลางแม่น้ำโขง ซึ่งผลการดำเนินการพบว่าเบื้องต้นมีนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยววิถีชีวิตชาวประมงจำนวนกว่า 200 คน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ
ผลจากการดำเนินโครงการดังกล่าวข้างต้น ยังได้นำไปสู่การทำวิจยในโครงการเสริมสร้งศักยภาพเครือข่ยด้านการสื่อสารเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางเรือของชาวประมง เพื่อศึกษาสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวอำเภอเชียงคาน เกี่ยวกับปัจจัยเงื่อนไข และรูปแบบการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายด้านการสื่อสารเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางเรือของชาวประมงเชียงคาน ซึ่งผลการศึกษาสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวอำเภอเชียงคาน ในปี พ.ศ. 2560 พบว่า มีจำนวนนักเที่ยวประมาณ 455,100 คน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย หรือคิดเป็นร้อยละ 91.1 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด และมีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 1,137,750,000 บาท คิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวอยู่ที่ประมาณ 2,500 บาทต่อคน และยังพบว่า ช่วงเวลาที่มีนักท่องเที่ยวมากที่สุดอยู่ในช่วงปลายฝนต้นหนาว คือ ระหว่างปลายเดือนพฤศจิกายน ถึงต้นปีประมาณเดือนเมษายน
อย่างไรก็ตาม ในด้านการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายด้านการสื่อสารเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางเรือของชาวประมงอำเภอเชียงคาน พบว่า มีด้วยกัน 6 รูปแบบ จากการเก็บข้อมูลผลการสื่อสารที่ผ่านมาของเครือข่ายฯ ระหว่างวันที่ 22 พ.ย.2559 – 3 เม.ย.2560 ทำให้ทราบว่า มีนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวทางเรือกับกลุ่มประมง มีจำนวน 720 คน คิดเป็นรายได้ทั้งหมด 310,000 บาท โดยส่วนใหญ่จะมาท่องเที่ยวตั้งแต่ช่วงออกพรรษาจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์
นอกจากนี้ชุมชนชาวประมงเชียงคาน ได้มีการจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยจดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกษตรริมโขงประมงพื้นบ้านเชียงคานขึ้น มีนายประยูน แสนแอ เป็นประธานกลุ่ม เพื่อเป็นองค์กรที่ดำเนินการด้านการท่องเที่ยวและเชื่อมโยงภาคีด้านการท่องเที่ยวในอำเภอเชียงคาน และเครือข่ายการท่องเที่ยวอื่นๆ ในพื้นที่ รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวจังหวัดเลย (อพท.5) และสถาบันอาศรมศิลป์ จัดตั้ง "พิพิธภัณฑ์ชาวประมงเชียงคาน" หรือ "ศูนย์เรียนรู้ประมงพื้นบ้านเชียงคาน"ขึ้น โดยมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นพื้นที่เรียนรู้ให้กับชุมชน และเพิ่มศักยภาพในการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น โดยคาดว่าศูนย์ดังกล่าวจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของเมืองเชียงคานต่อไป ซึ่งเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการปรับตัวของชุมชนโดยการใช้งานวิจัยเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการจัดการกับปัญหาของชุมชนอย่างมีส่วนร่วม ทำให้ชุมชนเกิดความรัก ความหวงแหนต่ออาชีพ วิถีชีวิต และทรัพยากรธรรมชาติมากยิ่งขึ้น