กรุงเทพฯ--3 เม.ย.--เอ็ม ที มัลติมีเดีย
โรงงานน้ำตาล คาดปิดหีบอ้อยได้ก่อนเทศกาลสงกรานต์หลังผ่าน 133 วัน ผลิตน้ำตาลได้ 13.92 ล้านตัน ส่งฝ่ายไร่ลงพื้นที่ช่วยชาวไร่ หลังสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงกว่าที่คิดโรงงานน้ำตาล ประเมินปิดหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 61/62 ทันก่อนเทศกาลสงกรานต์ หลังเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของฤดูหีบจากการเปิดรับผลผลิตแล้ว 133 วัน มีอ้อยเข้าหีบรวม 126.14 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลได้ 13.92 ล้านตัน พร้อมเตรียมแผนเพาะปลูกอ้อยฤดูถัดไป หวั่นวิกฤตภัยแล้งฉุดอ้อยลดลง
นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ การหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตในปี 61/62 ที่เริ่มเปิดรับผลผลิตตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันรวมระยะเวลาเปิดหีบอ้อยแล้ว 133 วัน และเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของฤดูการผลิตปีนี้ พบว่า มีปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบแล้ว รวมทั้งสิ้น 126.14 ล้านตัน ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 125.81 ล้านตัน และผลิตผลน้ำตาลได้แล้ว 13.92 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 13.80 ล้านตัน และมีค่าความหวานเฉลี่ยอยู่ที่ 12.60 ซี.ซี.เอส. ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 12.52 ซี.ซี.เอส. โดยมีผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) อยู่ที่ 110.34 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เพิ่มขึ้น 0.66 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มียิลด์อยู่ที่ 109.68 กิโลกรัมต่อตันอ้อย
นอกจากนี้ ยังเห็นสัญญาณที่ดีจากปริมาณอ้อยไฟไหม้ พบว่า ฤดูการผลิตปีนี้ปริมาณอ้อยไฟไหม้ลดลง จากช่วงเดียวกันในปีก่อน จำนวนร้อยละ 5 จากปีก่อนร้อยละ 65 มาเป็นร้อยละ 60 ซึ่งเป็นผลมาจากการรณรงค์ให้ตัดอ้อยสดส่งโรงงานน้ำตาลมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม อ้อยไฟไหม้ยังคงเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรชาวไร่อ้อยและสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง
"ช่วงนี้ถือเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของฤดูการหีบอ้อยในปีนี้ หลังผ่านมา 133 วัน มีปริมาณอ้อยเข้าหีบเฉลี่ยต่อวันเริ่มลดลงต่ำกว่า 1 ล้านตันมาตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยคาดการณ์ว่า โรงงานน้ำตาลทุกโรงจะสามารถปิดหีบอ้อยทั้งหมดได้ทันก่อนเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ และคาดว่าจะมีอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น ประมาณ 130 ล้านตัน" นายสิริวุทธิ์ กล่าว
รองประธานคณะกรรมการบริหาร TSMC กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงงานน้ำตาลได้เตรียมการเพาะปลูกอ้อยสำหรับปี 2562/63 โดยการจัดส่งฝ่ายไร่ลงพื้นที่ให้คำแนะนำ และช่วยเหลือชาวไร่ในการเพาะปลูกอ้อยข้ามแล้ง เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้จะยาวนานและมีความรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา พร้อมให้ดำเนินการจัดเตรียมหาแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อการสนับสนุนการเพาะปลูกอ้อย หลังจากมีความกังวลว่า ภัยแล้งในปีนี้จะส่งผลต่อผลผลิตอ้อยเข้าหีบในปีถัดไป ซึ่งคาดว่า จะมีปริมาณลดลงกว่าปีนี้