กรุงเทพฯ--3 เม.ย.--กระทรวงวัฒนธรรม
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 2เมษายน ที่ผ่านมา มีมติรับทราบ 3 แนวทาง 14 มาตรการ รณรงค์สืบสานประเพณีสงกรานต์ ภายใต้แนวคิด "สงกรานต์วิถีไทย ใช้น้ำคุ้มค่า ทุกชีวาปลอดภัย"โดย วธ.บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 19 หน่วยงาน อาทิ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรุงเทพมหานคร เป็นต้น เพื่อจัดงานประเพณีสงกรานต์ ตามนโยบายรัฐบาลในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และเผยแพร่มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ถูกต้องและเหมาะสม การปฏิบัติตามวิถีชีวิตที่ดีงามของประชาชนชาวไทย การรณรงค์ให้จัดกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์ คำนึงถึงคุณค่า สาระสำคัญของวัฒนธรรม ประเพณี และคุณค่าของน้ำและใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่าที่สำคัญเพื่อรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวเพิ่ม เพื่อสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น
นายวีระ กล่าวอีกว่า แนวทางและมาตรการรณรงค์ช่วงสงกรานต์ปีนี้ มี 3 แนวทาง 14 ด้าน ดังนี้
1.รณรงค์จัด "สงกรานต์แบบไทย" ได้แก่ 1.1 ส่งเสริมให้จังหวัดต่างๆ ใช้พื้นที่จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมและร่วมกันสืบสานประเพณีต่างๆ เน้นวิถีวัฒนธรรมชูเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น 1.2 ขอความร่วมมือจากประชาชนในการสืบสานคุณค่าสาระและสิ่งที่ควรทำของประเพณีสงกรานต์แบบไทย เช่น ทำความสะอาดบ้านเรือน วัด สถานที่สาธารณะ ทำบุญตักบาตร ปฏิบัติธรรม ฟังเทศน์สรงน้ำพระ รดน้ำขอพรผู้สูงอายุ ทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษ เล่นน้ำอย่างพองาม 1.3 รณรงค์ให้แต่งกายด้วยชุดสุภาพ ใช้ผ้าไทย ผ้าท้องถิ่น หรือชุดไทยย้อนยุคเข้าร่วมงาน และ 1.4 ขอความร่วมมือผู้ประกอบการและประชาชน จัดกิจกรรมโดยคำนึงถึงวัฒนธรรมที่ดีงามโดยจัดให้มีการเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม สายด่วนวัฒนธรรม 1765
2. รณรงค์ "ใช้น้ำคุ้มค่า" ได้แก่ 2.1 ขอความร่วมมือสืบสานประเพณีอย่างมีวัฒนธรรม เพื่อใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่าสูงสุด ขอความร่วมมืองดใช้รถบรรทุกตระเวนสาดน้ำในพื้นที่ต่างๆ กำหนดระยะเวลาการเล่นน้ำ ให้เลิกเล่นน้ำในเวลาที่กำหนด ห้ามใช้แป้งและสีต่างๆ มาเล่น 2.2 ขอความร่วมมือจากประชาชนให้ใช้อุปกรณ์ที่ปลอดภัยและประหยัดน้ำ เช่น ขันขนาดเล็ก ไม่ใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง เล่นน้ำอย่างสุภาพ 2.3 ขอความร่วมมือประชาชนให้ใช้น้ำอย่างประหยัดและน้ำสะอาดเพื่อสุขอนามัย และสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงขาดแคลนน้ำ
3. รณรงค์ "ทุกชีวาปลอดภัย" ได้แก่ 3.1 ขอความร่วมมือภาคเอกชน ผู้ประกอบการ สถานบันเทิง ผู้จัดกิจกรรม กำหนดเวลาเปิด-ปิดในจัดกิจกรรมและงดจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ตามเวลาที่กฎหมายกำหนด 3.2 ควบคุมและรณรงค์ผู้ใช้รถโดยใช้มาตรการเมาไม่ขับ ปลอดแอลกอฮอล์ และมีน้ำใจให้แก่กันในการใช้รถใช้ถนน และพบเห็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมให้แจ้งหน่วยงานหรือศูนย์รับแจ้งเหตุของหน่วยงานต่างๆ 3.3 มาตรการเข้ม ลดปัจจัยเสี่ยงด้านคน ถนน และยานพาหนะ และมาตรการด้านความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว ความปลอดภัยทางน้ำ-ทางเรือ และหลังเกิดอุบัติเหตุ ควบคุมความเร็วการใช้รถให้ใช้รถใช้ถนนอย่างเคร่งครัด 3.4 กิจกรรมส่งคนกลับบ้าน อำนวยความสะดวกในการเดินทางการตรวจความพร้อมของผู้ขับรถสาธารณะ ควบคุมและตรวจจับความเร็วของรถบริการสาธารณะด้วยระบบ GPS และเฝ้าระวังยานพาหนะต่างๆ ศูนย์บริการตรวจสภาพรถฟรี รวมถึงมีศูนย์รับแจ้งเหตุร้องเรียนการใช้รถใช้ถนนโดยกรมการขนส่งทางบก และจุดบริการพักรถระหว่างการเดินทางเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาล 3.5 สถานที่ที่จัดงานต่างๆ ต้องมีมาตรการเพื่อรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน 3.6 การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง เช่น พ.ร.บ.การจราจรทางบก และ3.7 มีศูนย์แจ้งเตือนภัยสภาพอากาศตลอดช่วงเทศกาล
นายวีระ กล่าวอีกว่า วธ. และหน่วยงานต่างๆ ทั้ง 19 หน่วยงาน เชื่อมั่นว่าการบูรณาการแนวทางและมาตรการรณรงค์ "สงกรานต์วิถีไทย ใช้น้ำคุ้มค่า ทุกชีวาปลอดภัย" จะก่อให้เกิดการจัดงานประเพณีสงกรานต์ที่เหมาะสม ดีงาม เป็นการอนุรักษ์ สืบสานประเพณีสงกรานต์ ให้คงคุณค่า สาระและความงดงามซึ่งเป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ ที่แสดง ให้คนไทยและชาวต่างชาติได้รับรู้ อีกทั้งเป็นการป้องกันอุบัติเหตุต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งการดูแลทรัพย์สินและความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญให้พี่น้องคนไทยและชาวต่างชาติ ได้รับความสุขจากประเพณีสงกรานต์และร่วมกันสืบสานประเพณีที่สำคัญของประเทศไทย