กรุงเทพฯ--3 เม.ย.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี
วันที่ 2 เม.ย. 2562 ที่โรงแรมสุนีย์ แกรนด์ โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี จัดประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับ มะเร็งท่อน้ำดีและโรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ เขตสุขภาพที่ 10 ปีงบประมาณ 2562 ภายใต้สโลแกน "คนอีสานร่วมใจ ต้านภัยพยาธิใบไม้ตับ ปลอดภัยจากโรคทางเดินอาหารและน้ำ" เพื่อเป็นการถ่ายทอดนโยบายให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับมะเร็งท่อน้ำดีและโรคทางเดินอาหารและน้ำ นำเสนอผลงานเด่น รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์องค์ความรู้การปฏิบัติงานในพื้นที่ ให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อเนื่องและยั่งยืน โดยมีนายแพทย์สุวิทย์ โรจนศักดิ์โสธร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตสุขภาพที่ 10 เป็นประธาน และกล่าวรายงานการประชุม โดยนายแพทย์ดนัย เจียรกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี
นพ.สุวิทย์ ให้สัมภาษณ์ว่า โรคมะเร็งท่อน้ำดี ยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้เกิดความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตเป็นอย่างมาก แม้หน่วยงานทางสาธารณสุขจะประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ การป้องกันควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับอย่างต่อเนื่อง ทำให้การระบาดของโรคพยาธิใบไม้ตับลดลงเป็นลำดับ แต่สถานการณ์อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งท่อน้ำดีกลับไม่ได้มีแนวโน้มลดลงตาม ดังนั้นจึงควรมีการให้ความรู้ ความเข้าใจในการควบคุมโรคนี้ในทุกระดับ พร้อมทั้งเฝ้าระวัง การวินิจฉัยโรคมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งมีสาเหตุมาจากพยาธิดังกล่าว
จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2560 พบว่า มีผู้เสียชีวิตด้วยมะเร็งตับและท่อน้ำดีทั่วประเทศ จำนวน 16,382 ราย มากที่สุดคือภาคอีสาน 7,219 ราย สำหรับในเขตสุขภาพที่ 10 มีผู้เสียชีวิตจำนวน 253 ราย สาเหตุเกิดจากหลายปัจจัยและที่สำคัญที่สุดคือ พยาธิใบไม้ตับ โดยพบว่ามีความชุกของโรคพยาธิใบไม้ตับ ปี 2560 ประมาณร้อยละ 11 ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 ของภาคอีสาน สาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมการบริโภคปลาน้ำจืดมีเกล็ดแบบดิบๆ สุกๆ ปลาร้า ปลาส้ม ที่มีพยาธิและเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งท่อน้ำดีในอนาคต
นพ.สุวิทย์ กล่าวต่ออีกว่า มาตรการสำคัญในการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับ มะเร็งท่อน้ำดี 5 เรื่อง คือ 1. ส่งเสริมและพัฒนาระบบบริหารจัดการสิ่งปฏิกูลอย่างถูกหลักสุขาภิบาลผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2. ตรวจคัดกรองค้นหาผู้ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ ในประชาชนที่อายุ 15 ปีขึ้นไป ให้การรักษาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการกินให้ถูกสุขลักษณะ 3. ตรวจคัดกรองความผิดปกติด้วยเครื่องอัลตร้าซาวด์ สำหรับประชาชนอายุ 40 ปีขึ้นไป หากพบความผิดปกติ ให้ส่งต่อเพื่อตรวจยืนยัน และให้การรักษาอย่างทันท่วงที 4. มีระบบการส่งต่อเพื่อการรักษาตามความเหมาะสม และมีการติดตามดูแลแบบผสมผสาน โดยทีมหมอครอบครัว และแพทย์ทางเลือก 5. รณรงค์อาหารปลอดภัย ปลาปลอดพยาธิ คนปลอดภัย ในทุกพื้นที่ และสร้างองค์ความรู้ในการป้องกันโรคให้เกิดในชุมชน
สิ่งสำคัญที่สุดที่ภาคีเครือข่ายจะมีส่วนร่วมในการดำเนินงานตัดวงจรพยาธิใบไม้ตับ คือการจัดทำบ่อบำบัดสิ่งปฏิกูล เพื่อกักเก็บไข่พยาธิ รถดูดส้วมเถื่อน มักจะทิ้งสิ่งปฏิกูลในไร่นา หรือ ข้างทาง ซึ่งจะเป็นสาเหตุให้ไข่พยาธิในสิ่งปฏิกูล ฟักออกเป็นตัวและไชเข้าไปอาศัยในปลาน้ำจืดที่มีเกล็ด หากชาวบ้านไปจับปลามา ทำอาหารสุกๆดิบๆอยู่ ตัวพยาธิก็จะชอนไชเข้าไปในร่างกาย เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งตับ ในที่สุด