กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--สำนักงานศึกษาธิการภาค 7 ยะลา ขับ
สำนักงานศึกษาธิการภาค 7 ยะลา พร้อมบูรณาการหน่วยงานการศึกษาในสังกัดกระทรวง ศึกษาธิการและหน่วยงานอื่นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขับเคลื่อน 6 ประเด็นยุทธศาสตร์ สอดคล้องนโยบายยุทธศาสตร์ชาติ และยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการสู่การปฏิบัติในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมตามแผนพัฒนาการศึกษาภาคใต้ชายแดน ประจำปี 2562
นายสันติ แสงระวี รองศึกษาธิการภาค รักษาการในตำแหน่งศึกษาธิการภาค 7 ได้เปิดเผยถึงที่มาของสำนักงานศึกษาธิการภาค 7 โดยระบุว่า สำนักงานศึกษาธิการภาคจัดตั้งตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2559 ลงวันที่ 3 เมษายน 2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวง ศึกษาธิการ ข้อ 5 ให้มีการจัดตั้งสำนักงานศึกษาธิการภาค จำนวนสิบแปดภาค และได้มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง กำหนดสถานที่ตั้งของสำนักงานศึกษาธิการภาค ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2560 ตามมา ซึ่งครั้งนั้นสำนักงานศึกษาธิการภาค 7 ที่นี่ใช้ชื่อว่าสำนักงานศึกษาธิการภาค 8 ตามประกาศดังกล่าว
"แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีประกาศเรื่อง สถานที่จัดตั้งสำนักงานศึกษาธิการภาค สำนักงานปลัดกระกรวงศึกษาธิการ ฉบับใหม่ เป็นการประกาศเพื่อให้สำนักงานศึกษาธิการภาคสอดคล้องกับเขตตรวจราชการของสำนักนายกรัฐมนตรีและกลุ่มจังหวัดตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ ที่ได้มีประกาศ ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 จัดตั้งกลุ่มจังหวัดและกำหนดจังหวัดที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด จำนวน 18 กลุ่มจังหวัด 6 ภาค
"โดยประกาศกระทรวงฯ ฉบับดังกล่าวระบุว่า สำนักงานศึกษาธิการภาค 7 ตั้งอยู่ที่ 3 ถนนอาคารสงเคราะห์ ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา รับผิดชอบดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา และให้โอนบรรดาอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับข้าราชการ กิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิ หนี้ ภาระผูกพัน ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้าง และอัตรากำลังของสำนักงานศึกษาธิการภาค 8 ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง กำหนดสถานที่ตั้งของสำนักงานศึกษาธิการภาค ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2560 ไปเป็นของสำนักงานศึกษาธิการภาค 7 ตามประกาศนี้"
นายสันติกล่าวต่อว่า สำนักงานศึกษาธิการภาค 7 มีบทบาทและภารกิจสำคัญคือการขับเคลื่อนการศึกษาในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ชายแดน จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา ให้สอดคล้องกับการปฏิบัติภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการในระดับพื้นที่ ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการศึกษาในระดับภาคและจังหวัด โดยการอำนวยการ ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการศึกษาแบบร่วมมือและบูรณาการกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานอื่นหรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่
"ทั้งนี้ สำนักงานศึกษาธิการภาค 7 ดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนการศึกษาในระดับภาคและจังหวัด โดยการบูรณาการกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานอื่นสู่การศึกษาที่มีคุณภาพ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาภาค 7 (พ.ศ.2560 – 2564) ประกอบด้วย 6 ประเด็นยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาการจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างความมั่นคง, ยุทธศาสตร์ที่ 2 ผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะในการแข่งขัน, ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัยและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้, ยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางการศึกษา, ยุทธศาสตร์ที่ 5 จัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ ยุทธศาสตร์ที่ 6 พัฒนาระบบการบริหารจัดการศึกษา"
รองศึกษาธิการภาค รักษาการในตำแหน่งศึกษาธิการภาค 7 กล่าวย้ำว่า สำหรับในปี 2562 นี้ สำนักงานศึกษาธิการภาค 7 ยังคงเดินหน้าแผนงานและโครงการเชิงบูรณาการเพื่อผลสัมฤทธิ์ด้านการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของสำนักงานศึกษาธิการภาค 7 , โครงการพิธีมอบใบรับรองและระเบียนแสดงผลสอบเทียบความรู้อิสลามศึกษา พุทธศักราช 2546 ของผู้สอบเทียบประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 , โครงการพัฒนาองค์กรตามหลักธรรมาภิบาล สำนักงานศึกษาธิการภาค 7 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 , โครงการประเมินผลการปฏิบัติราชการของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 , โครงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาสู่การปฏิบัติระดับภูมิภาค, โครงการส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานตามพระราโชบายด้านการศึกษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร สู่การปฏิบัติและปลุกจิตสำนึกความรักชาติ ศาสนาและเทิดทูนพระมหากษัตริย์, เงินอุดหนุนการศึกษานักเรียนมุสลิมและอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทยระดับมัธยมศึกษาและนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาและมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา, โครงการ TFE (Teams For Education) สำนักงานศึกษาธิการภาค 7 (ยะลา), โครงการ Coaching Teams เพื่อยกระดับคุณภาพ และ โครงการขับเคลื่อนการพัฒนาการจัดการศึกษาปฐมวัยในระดับพื้นที่