กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังอนุญาตให้นายสุเทพ สุวรรณรัตน์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ นำคณะเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยจากภาคใต้และจังหวัดอื่น ๆ เข้าพบ เพื่อขอบคุณกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ช่วยผลักดันมาตรการแก้ไขปัญหาราคาไข่ไก่ได้สำเร็จ ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ผลจากการดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ของกระทรวงเกษตรฯ ที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเกษตรกรปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ฟองละ 2.50 บาท ทำให้ภาวะปริมาณไข่ไก่ที่ล้นตลาดเริ่มกลับสู่สมดุล หลังจากภาคเอกชนผู้นำเข้าปู่ย่าพันธุ์ (GP) และพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) ทั้ง 16 บริษัท และเจ้าของฟาร์มไก่ไข่ขนาด 2 แสนตัวขึ้นไป ให้ความร่วมมือในการลดจำนวนไก่พันธุ์และลดแม่ไก่ไข่ยืนกรง พร้อมผลักดันการส่งออกไข่ไก่ไปจำหน่ายต่างประเทศ ตามแผนปฏิบัติการ "PS Support" ของกรมปศุสัตว์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ หรือ Egg Board ที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาไข่ไก่ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีเป้าหมายมุ่งสร้างความยั่งยืนแก่เกษตรกรไทย โดยเฉพาะการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ ด้วยการปรับสมดุลการผลิตให้เหมาะสมกับความต้องการบริโภคในประเทศ ลดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไข่ไก่ของไทยจากปัญหาไข่ไก่ล้นตลาด เพื่อให้เกษตรกร ผู้เลี้ยงไก่ไข่สามารถขายไข่ไก่ได้ในราคาที่น่าพึงพอใจ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค
"การแก้ปัญหาราคาไข่ไก่อย่างเป็นระบบและจริงจังเริ่มตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน อาศัยการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนรายใหญ่และเกษตรกรผู้เลี้ยง ในการให้ความร่วมมือตามมาตรการที่กรมปศุสัตว์กำหนด โดยไม่ใช้งบประมาณของภาครัฐ วันนี้สิ่งที่ทุกฝ่ายดำเนินการอย่างต่อเนื่องเริ่มบรรลุผล ทำให้ราคาไข่ไก่ขยับขึ้นใกล้เคียงต้นทุนการผลิต ช่วยให้เกษตรกรสามารถต่อยอดอาชีพต่อไป หลังจากนี้จะยังคงสานต่อมาตรการเพื่อให้ราคาไข่ไก่มีเสถียรภาพ จากกิจกรรมส่งออกไข่ไก่ที่ยังคงเดินหน้าต่อ โดยเฉพาะกรมปศุสัตว์ได้เปิดตลาดสิงคโปร์เพิ่มอีก 49 ล้านฟองต่อเดือน จากเดิมที่ส่งออกในตลาดฮ่องกงอยู่แล้ว และในช่วงเดือนพฤษภาคม ที่โรงเรียนเปิดภาคเรียน ราคาไข่น่าจะดีขึ้นเป็นลำดับจากการบริโภคที่เพิ่มขึ้น" นายกฤษฎา กล่าว
ด้าน นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มที่ปรับตัวขึ้น เป็นผลมาจากมาตรการระยะสั้นครั้งล่าสุดที่กรมปศุสัตว์ประสานกับผู้ประกอบการทุกภาคส่วน ให้รวบรวมไข่ไก่สดส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศแล้ว 138 ล้านฟอง ควบคู่กับการลดจำนวนแม่ไก่ไข่ ยืนกรง 4,000,000 ตัว พร้อมดำเนินกิจกรรมลดพ่อแม่พันธุ์ PS ให้เหลือ 460,000 ตัว รวมถึงลดปู่ย่าพันธุ์ GP ให้เหลือ 3,800 ตัว ส่วนมาตรการระยะยาว นอกจากการปรับลดแม่พันธุ์ไก่ไข่ให้มีจำนวนที่เหมาะสมตามหลักการ "ตลาดนำการผลิต" แล้ว ยังมีการตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ไก่ไข่ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2562 - 2566) เพื่อทบทวนยุทธศาสตร์เดิม และเพิ่มเติมเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งการลดต้นทุนการผลิต การส่งเสริมการบริโภค การสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมถึงการบริหารจัดการปริมาณการเลี้ยงที่เหมาะสม ตลอดจนการจับคู่ระหว่างเกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยกับผู้ซื้อโดยตรง และการสร้างแรงจูงใจต่าง ๆ ให้กับเกษตรกรที่ปฏิบัติตามมาตรการแก้ปัญหา.