กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดสอนหลักสูตรใหม่ระดับปริญญาตรี หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ หลักสูตรใหม่ เริ่มปีการศึกษา 2561 รุ่นแรกรับ 30 คน ได้รับทุนเรียนฟรี
ดร.อัญชลิสา แต้ตระกูล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยขาดแคลนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล และข้อมูลจากทั่วโลกพบว่าข้อมูลด้านสุขภาพเป็น 1 ใน 3 อันดับแรกที่ถูกนำมาวิเคราะห์ด้วยวิทยาศาสตร์ข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการดูแลสุขภาพหรือการบริการด้านสาธารณสุข เช่น การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence - AI) วิเคราะห์รูปภาพและข้อมูลทางการแพทย์เพื่อช่วยวินิจฉัยโรคของผู้ป่วย หรือการปรับปรุงขั้นตอนการทำงานในโรงพยาบาลเพื่อลดระยะเวลาการใช้บริการของผู้ป่วย เป็นต้น นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพจะทำการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงลึก โดยดึงเอาข้อมูลที่มีอยู่แล้วในอดีต มาหาความสัมพันธ์เพื่อตอบโจทย์ปัญหา แล้วมาทำเป็นโมเดลคณิตศาสตร์เพื่อทำนายอนาคต และบอกแนวทางในการแก้ปัญหานั้นๆ
สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ เป็นการออกแบบหลักสูตรร่วมกันของสองสถาบัน โดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จะเน้นการเรียนการสอนแบบการแก้โจทย์ปัญหาจริง (problem based learning) จากฐานข้อมูลจริง เพื่อให้นักศึกษามีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล และวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะสอนเรื่อง Healthcare ที่เกี่ยวกับความรู้ด้านสาธารณสุข สุขภาพ ข้อมูลการรักษา ข้อมูลโรงพยาบาล เมื่อบัณฑิตจบไปจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่มีความเข้าใจเรื่อง Healthcare สามารถไปศึกษาเพิ่มเติมในด้านอื่นให้เข้าใจในธุรกิจนั้นก็สามารถประกอบอาชีพได้ในหลากหลายธุรกิจ เช่น ธนาคาร ค้าปลีก ภาครัฐ สามารถทำงานในด้านต่าง ๆ เช่น นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล นักระบาดวิทยา นักวิเคราะห์ข้อมูล นักพัฒนาซอฟต์แวร์และระบบข้อมูล และนักวิชาการคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพเป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี 4 ปี รับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ช่วงชั้นที่ 4 หรือสายการเรียนวิทย์-คณิต หรือประกาศนียบัตรที่กระทรวงศึกษาธิการเทียบเท่าสายวิทยาศาสตร์ โดยการเรียนการสอนของนักศึกษาจะเรียนที่ มจธ.เป็นส่วนใหญ่ สำหรับบางรายวิชาที่ต้องเรียนให้ห้องแล็บหรือใช้อุปกรณ์ด้าน Healthcare จะเรียนที่วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยผู้สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรนี้จะได้รับปริญญาบัตรร่วมกันจากสถาบันทั้งสองแห่ง