กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--สวทน.
สวทน. จับมือ พันธมิตร ออกโรงปั้นผู้ประกอบการนวัตกรรม จัดกิจกรรมจับคู่ SME กับผลงานวิจัย จัดแพ็กเกจสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญการเงิน การลงทุน การตลาด เทคโนโลยีการผลิต ด้านทรัพย์สินทางปัญญา ถ่ายทอดเทคโนโลยีและบ่มเพาะความพร้อมตลอดระยะเวลาการพัฒนาผลงานวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ร่วมกับ หน่วยงานพันธมิตร ประกอบด้วย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA สมาคมธนาคารไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม จัดงาน "STI – IDE Matching Day: จับคู่จากหิ้งสู่ห้าง" ปั้นผู้ประกอบการนวัตกรรม ภายใต้โครงการส่งเสริมและยกระดับผู้ประกอบการไทยสู่การเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรม (Uplifting Businesses to Innovation Driven Enterprises (IDE)) เชิญผู้ประกอบการ SME กว่า 30 ราย เล็งจับจองผลงานวิจัยไทยที่มีศักยภาพพร้อมต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ สวทน. แย้ม เป็นโครงการที่มีโอกาสประสบความสำเร็จสูง เพราะนอกจากความพร้อมของผลงานวิจัยแล้ว ยังได้จัดแพ็กเกจสนับสนุนที่ปรึกษามือเอกปิดจุดอ่อน SME ทั้งเรื่องการเงินและการลงทุน การตลาดและการลงทุน เทคโนโลยีการผลิตและวิศวกรรม กฎหมายและทรัพย์สินทางปัญญา และการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ โดยจะจัดเต็มในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและบ่มเพาะความพร้อมตลอดระยะเวลาการพัฒนาผลงานวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์
ดร.กาญจนา วานิชกร รองเลขาธิการ สวทน. เปิดเผยว่า ตามที่ สวทน. ได้รับมอบหมายให้ศึกษาและเสนอกลไกการส่งเสริมและยกระดับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs สู่การเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprises : IDE) ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลอย่างเข้มข้น สวทน. ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ได้ออกแบบรูปแบบกลไกการส่งเสริมและยกระดับผู้ประกอบการ SME รวมถึงแนวทางการพัฒนาระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เหมาะสม โดยหนึ่งในกลไกของการส่งเสริมและยกระดับสู่การเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรมนั้น คือการสร้างระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยต่อการต่อยอดผลงานวิจัยสู่นวัตกรรม หรือผลิตภัณฑ์ที่ขายได้จริงในตลาด และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ จึงได้ริเริ่มจัดงาน STI – IDE Matching Day: จับคู่จากหิ้งสู่ห้าง ปั้นผู้ประกอบการนวัตกรรม ในครั้งนี้ขึ้น เพื่อนำร่องกิจกรรมการพัฒนากลไกดังกล่าว
"เพื่อเป็นการสร้างระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยต่อการต่อยอดผลงานวิจัยสู่นวัตกรรม หรือผลิตภัณฑ์ที่ขายได้จริงในตลาด สวทน. ได้เชิญหน่วยงานพันธมิตรอาทิ สวทช. TCELS, NIA สมาคมธนาคารไทย และ บสย. ร่วมมือกันเสาะหาผลงานวิจัยที่มีความพร้อมต่อการต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มานำเสนอแก่ผู้ประกอบการในงาน และได้เชิญผู้ประกอบการที่มีความสนใจและมีความพร้อมในการต่อยอดผลงานวิจัยเข้าร่วมงาน ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการและผลงานวิจัยสามารถจับคู่กันได้ ไม่เพียงแต่ผู้ประกอบการจะได้รับทราบข้อมูลและรายละเอียดผลงานวิจัยจากนักวิจัยที่เป็นเจ้าของผลงานที่พร้อมต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์เท่านั้น แต่ยังเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการในการนำผลงานวิจัยต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย สวทน. และหน่วยงานพันธมิตรจะสนับสนุนที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทั้งในด้านการเงินและการลงทุน ด้านการตลาดและการลงทุน ด้านเทคโนโลยีการผลิตและวิศวกรรม ด้านกฎหมายและทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนด้านการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและบ่มเพาะความพร้อมให้ผู้ประกอบการตลอดระยะเวลาการพัฒนาผลงานวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์" ดร.กาญจนา กล่าว
สำหรับผลงานวิจัยที่พร้อมต่อยอดและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด ที่ได้นำเสนอต่อผู้ประกอบการในงาน ประกอบด้วยผลงานจาก ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ภายใต้ สวทช. ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เพื่อการผ่อนคลายและบรรเทาอาการปวดเมื่อย ที่มีอนุภาคนาโนกักเก็บน้ำมันไพลและขมิ้นชัน เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการออฟฟิศซินโดรม โดย ดร.สุวิมล สุรัสโม ครีมขมิ้นชันลดสี เพื่อใช้ทางผิวหนัง ใช้นาโนเทคโนโลยีลดปัญหาสีตกค้างบนเสื้อและผิวหนัง โดย ดร.ชญานันท์ เอี่ยมสำอาง และผลิตภัณฑ์ลดการเคลื่อนไหวของสัตว์น้ำ รักษาความสดและปลอดภัยด้วยสารสกัดจากธรรมชาติ ลดการบอบช้ำระหว่างการขนส่ง โดย นายจักรวาล ยศถาวรกุล และอีกงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก TCELS คือ ผลิตภัณฑ์แชมพูและแฮร์โทนิคจากเซรั่มยางพารา เพื่อช่วยในการบำรุงรักษาเส้นผมและขนคิ้วให้ดกดำโดย ดร.วุฒิชัย วิสุทธิพรต ซึ่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ทั้ง 4 ดังกล่าว พัฒนาจากเทคโนโลยีฐานที่สามารถต่อยอดประยุกต์ใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมในหลากหลายธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม การจัดงาน STI – IDE Matching Day: จับคู่จากหิ้งสู่ห้าง ปั้นผู้ประกอบการนวัตกรรม ภายใต้โครงการส่งเสริมและยกระดับผู้ประกอบการไทยสู่การเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรม จะเป็นอีกหนึ่งต้นแบบสำคัญที่มีกระบวนการทดลองนำร่องจากการพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์จริง เพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ในด้านการเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัยเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลต่อไป