กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
- สจล. แนะ 3 มาตรการดูแลตัวเอง ในภาวะวิกฤติฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) รุดจัดกิจกรรม "รวมน้ำใจ แบ่งปันหน้ากากอนามัย ต้านภัยฝุ่น" เพื่อส่งมอบกำลังใจ หน้ากากอนามัย N95 และทุนทรัพย์ ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย และจะมีพิธีส่งมอบความช่วยเหลือต่อไปยัง ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย หรือ ทปอ. นำส่งต่อไปยังพื้นที่ โดยสาเหตุหลักของฝุ่นละอองในพื้นที่ภาคเหนือมาจากปัญหาไฟป่าและการลักลอบเผาป่า ประกอบกับช่วงอากาศปิดและลมสงบ จึงทำให้เกิดวิกฤติฝุ่นละอองขนาดเล็กขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน พร้อมเสนอแนวทางการดูแลตัวเองของประชาชน คือ 1.สวมหน้ากากอนามัยชนิด N95 2.หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในที่โล่งแจ้ง และ 3.การเพิ่มมาตรการห้ามก่อควันในพื้นที่ประสบภัย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ สจล. หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 เว็บไซต์ www.kmitl.ac.th หรือ www.facebook.com/kmitlnews
ศาสตราจารย์ ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. กล่าวว่า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้จัดกิจกรรม "รวมน้ำใจ แบ่งปันหน้ากากอนามัย ต้านภัยฝุ่น" เพื่อส่งมอบกำลังใจ หน้ากากอนามัย N95 และทุนทรัพย์ ในช่วยเหลือผู้ประสบภัยฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย โดยเปิดรับบริจาคจาก คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา สจล. และประชาชนที่มีความประสงค์ทั่วไป โดยสจล. เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปและบุคคลากร สามารถร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบภัย ผ่านบัญชีธนาคารของสถาบันฯ เพื่อนำไปจัดซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับผู้ประสบภัยฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และเจ้าหน้าที่ควบคุมไฟป่า โดยได้รับการตอบรับ และสนับสนุนที่ดีจากสาธารณชน ทั้งนี้ สจล. จะมีพิธีส่งมอบหน้ากากอนามัยและเงินช่วยเหลือไปยัง ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย หรือ ทปอ. เพื่อนำส่งต่อไปยังพื้นที่ที่จำเป็นต่อไป
สำหรับแนวทางการดูแลตัวเองของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 มีดังนี้
1. สวมหน้ากากอนามัยชนิด N95 ที่มีประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่นละออง PM 2.5 ควรหมั่นเปลี่ยนชิ้นใหม่ทุกวัน โดยไม่ควรใช้ซ้ำติดกันนานเป็นเวลาหลายวัน
2. หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในที่โล่งแจ้งเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในโรงเรียนต่างๆ ควรประกาศให้ยกเลิกกิจกรรมกลางแจ้งทุกประเภท เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ
3. เพิ่มมาตรการห้ามก่อควันในพื้นที่ประสบภัย และขอความร่วมมือผู้ประกอบการที่ดูแลโครงการก่อสร้างต่างๆ ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัย และส่งผลกระทบต่อชุมชนในบริเวณโดยรอบน้อยที่สุด เช่น มีตาข่ายกันพื้นที่ก่อสร้างเพื่อดักจับฝุ่นละออง
ในขณะนี้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือของไทยมีค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานขั้นวิกฤติ ตั้งแต่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ ตากและน่าน สาเหตุหลักมาจากปัญหาไฟป่า หมอกควันจากพื้นที่แนวชายแดน และการลักลอบเผาป่าทั้งในพื้นที่และประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบกับการที่กำลังลมในพื้นที่อ่อนแรงลง อากาศปิดและลมสงบ จึงส่งผลกระตุ้นให้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะสถาบันการศึกษา สจล. เล็งเห็นว่าปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่มีกว่า 3,200,000 คน ที่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ จะเป็นกลุ่มที่เดินทางด้วยรถสาธารณะและใช้ชีวิตกลางแจ้งเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงหน้ากากอนามัย N95 ที่ใช้ป้องกันฝุ่นนั้นไม่ได้ออกแบบให้รับกับสรีระใบหน้าของเด็กส่งผลให้ป้องกันได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ สจล. หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 เว็บไซต์ www.kmitl.ac.th หรือ www.facebook.com/kmitlnews