กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ติดตามโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ข้าวโพดหลังนาในพื้นที่จังหวัดชัยนาท ณ บ้านหัวเด่น ตำบลบางขุด อำเภอสรรคบุรี ซึ่งมีพื้นที่จำนวน 891.25 ไร่ สมาชิกแปลงใหญ่ จำนวน 70 รายโดยเกษตรกรมีการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา และทำนาข้าวในช่วงนาปีผลัดเปลี่ยนกันไป พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นาลุ่มปานกลาง ในช่วงฤดูแล้งจึงมีความเหมาะสมและสามารถทำการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ดังนั้น ภาครัฐจึงได้เข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนการปลูกข้าวในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งเกษตรกรให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งมีการรวมตัวกันเป็นแปลงใหญ่ข้าวโพดบ้านหัวเด่นขึ้นมา เพราะเล็งเห็นว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชทางเลือกที่ใช้น้ำน้อย ให้ผลตอบแทนสูงเมื่อเทียบกับการทำนาปรัง อีกทั้งความต้องการของตลาดเพื่อผลิตเป็นอาหารสัตว์ยังมีอีกมาก โดยเกษตรกรได้รับการส่งเสริมจากกระทรวงเกษตรฯ ทั้งในการอบรมให้ความรู้ความเข้าใจในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี และเหมาะสม (Good Agriculture Practices : GAP) การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การใช้ปุ๋ยคอก การเตรียมดินที่ดี การใช้น้ำอย่างคุ้มค่า รวมถึงการสนับสนุนปัจจัยการผลิตต่างๆ เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องจักรกลการเกษตร
จากการติดตาม ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 จังหวัดชัยนาท (สศท.7) พบว่า ต้นทุนการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของแปลงใหญ่บ้านหัวเด่น ปีเพาะปลูก 2561/2562 เฉลี่ย 5,942 บาทต่อไร่ ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ได้เฉลี่ยอยู่ที่ 1218 กิโลกรัมต่อไร่ ราคาขายเฉลี่ยเดือนมีนาคม 2562 อยู่ที่ 7.36 บาทต่อกิโลกรัม เกษตรกรมีผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) ประมาณ 3,021 บาทต่อไร่ ทั้งนี้ เกษตรกรในแปลงใหญ่ประสบปัญหาหนอนกระทู้ระบาด จำเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยังสูงกว่าการทำนาปรัง โดยในส่วนการบริหารจัดการกลุ่ม คณะกรรมการกลุ่ม และสมาชิกมีการประชุมวางแผนการผลิตร่วมกัน ซื้อปัจจัยการผลิตร่วมกัน ทำให้ซื้อได้ในราคาถูกลง และมีการรวมกลุ่มจำหน่าย จึงมีอำนาจต่อรองราคา รวมทั้งยังได้ทำข้อตกลง MOU กับบริษัท ซึ่งได้ราคาที่สูงกว่าการขายผ่านพ่อค้าคนกลาง
ด้านนายชีวิต เม่งเอียด ผู้อำนวยการ สศท.7 กล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน กลุ่มแปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บ้านหัวเด่น มีความเข้มแข็ง และยังมีโอกาสพัฒนาเกษตรกรผู้สนใจหันมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนการทำนาปรังในฤดูแล้งให้มากขึ้น ถือเป็นตัวอย่างที่ดีให้เกษตรกรที่ประสบปัญหาการทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้งได้ใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจทำการเกษตรของตนเอง ซึ่งจากการสัมภาษณ์พูดคุยกับผู้จัดการแปลง (นางลมูล จันทรวงค์ เกษตรอำเภอสรรคบุรี) และประธานแปลงใหญ่ (นายเสน่ห์ แทนรอด ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 10 บ้านหัวเด่น) ได้บอกเล่าว่า ระยะแรกที่รัฐบาลได้เข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนการปลูกข้าวในช่วงฤดูแล้ง ช่วงแรกยังไม่ค่อยได้รับความสนใจจากเกษตรกรมากนัก เนื่องจากเกษตรกรยังไม่มีความเชื่อมั่นว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้จริง อีกทั้งบางส่วนยังไม่มีประสบการณ์ความชำนาญในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาก่อน ยังยึดในวิถีชีวิตการทำนาแบบเดิม และหลังจากมีการส่งเสริมของกระทรวงเกษตรฯ ทั้งด้านองค์ความรู้ การสนับสนุนปัจจัยต่างๆ พร้อมทั้งเป็นที่ปรึกษาในการหาตลาดให้กับเกษตรกร ประกอบกับประธานแปลงใหญ่เป็นเกษตรกรที่มีความรู้ความเข้าใจ และมีประสบการณ์ในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาก่อน จึงเป็นต้นแบบให้แก่เกษตรกรในกลุ่มแปลงใหญ่ได้ดี ทั้งนี้ ทางกลุ่ม ยินดีให้เกษตรกรสามารถเข้ามาศึกษาดูงานได้ โดยสามารถติดต่อได้ที่กลุ่มแปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาบ้านหัวเด่น เลขที่ 8 หมู่ที่ 10 ตำบลบางขุด อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท หรือ นายเสน่ห์ แทนรอด ประธานแปลงใหญ่ โทร. 08 0860 2383