กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย กรุงเทพมหานคร และพันธมิตรทั้งองค์กรรัฐ เอกชน รวมถึงองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ฉลองความสำเร็จยิ่งใหญ่จากกิจกรรม 60+Earth Hour2019 ปิดเพื่อโลกเปลี่ยนเพื่ออนาคต ชี้เป็นปีที่ประสบความสำเร็จสูงสุด กว่า 188 ประเทศเข้าร่วม และมีปรากฎข้อมูลกิจกรรม Earth Hour ทั่วโลก รวมถึงการส่งต่อภาพรวมถึงสัญลักษณ์บนโลกออนไลน์มากกว่า 2 พันล้านครั้ง
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลสำนักงานประเทศไทย หรือ WWF-Thailand เผยผลสำรวจการเข้าร่วมกิจกรรม 60+ Earth Hour ในปี ค.ศ. 2019 จากทั่วโลก ก้าวสู่สถิติใหม่ด้วยการปิดไฟดวงที่ไม่จำเป็นและร่วมกันระดมพลังจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ด้วยเป้าหมายในการหยุดยั้งความสูญเสียและการถูกทำลาย รวมทั้งลดสภาวะโลกร้อน โดยในปีนี้ ประชาคมโลกยกให้ปัญหามลพิษจากขยะพลาสติกเป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน และการประหยัดพลังงานถือเป็นการริเริ่มที่ดีที่จะนำไปสู่วิถีปฏิบัติบนแนวทางของนักอนุรักษ์ในขอบเขตด้านอื่นต่อไป
"นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2007 เป็นต้นมา WWF ริเริ่ม และจัดกิจกรรม 60+ Earth Hour อย่างต่อเนื่องและยาวนาน โดยในแต่ละปี เราจะได้เห็นพลังของทุกฝ่ายที่ก้าวเข้ามาร่วมกันทำงานนี้มากขึ้นแม้จะเป็นเพียงกิจกรรมแค่ 1 วันในเชิงสัญลักษณ์ แต่ก็เป็นการนับ 1 ของคนหลายๆ คน และอีกมากที่เริ่มนับ 1 มานานหลายปีแล้ว เราคาดหวังว่า กิจกรรมในวันนี้จะขยายผลสู่งานเชิงอนุรักษ์ด้านอื่น เพื่อมุ่งหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก" กอร์ดอน คองดอน ผู้จัดการฝ่ายงานอนุรักษ์ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF-Thailand) กล่าว
ทั้งนี้ ในปี พ.ศ.2562 กิจกรรม 60+ Earth Hour มีประเทศต่างๆ เข้าร่วมทั้งสิ้น 188 ประเทศ รวมถึงผู้มีอิทธิพลทางความคิดของมวลชนในทุกประเทศทั่วโลก ต่างร่วมกันติด #Connect2Earth, #EarthHour ส่งผลให้แฮชแท็คดังกล่าว ขึ้นติดเทรนด์ในโซเชียลมีเดีย กว่า 26 ประเทศ ถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ของ Earth Hour ที่จัดกิจกรรมมาครบรอบ 12 ปี
สำหรับประเทศไทย กรุงเทพมหานครจัดให้มีกิจกรรมหลักที่ลานหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิล์ด และยังมีการปิดไฟที่สถานที่สำคัญหลายแห่ง รวมถึง พระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้ว วัดอรุณราชวรมหาวิหาร สะพานพระราม 8 และภูเขาทองวัดสระเกศ ขณะที่ตามเขตต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ก็มีการจัดกิจกรรม 60+ EarthHour ของตนเอง รวมไปถึงการจัดกิจกรรมของภาคเอกชนตามสถานประกอบการ ห้างสรรพสินค้า โรงแรม และอาคารที่อยู่อาศัยในพื้นที่ต่างๆ
ทั้งนี้ ผลการจัดกิจกรรมปิดไฟหนึ่งชั่วโมง ลดโลกร้อน ที่ดำเนินโดยกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับความร่วมมือจากการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ในการวัดปริมาณการใช้ไฟฟ้าระหว่างเวลา 20:30-21:30 น. นั้นในปีนี้ สามารถลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลไปได้ 1,514 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นอัตราการลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ 6,050,021 บาท เทียบเป็นปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ลดลงประมาณ 749 ตัน
สำหรับ WWF ประเทศไทย ได้มีการจัดแสดงนิทรรศการเชิงสิ่งแวดล้อม และกิจกรรมแยกขยะ ในพื้นที่ลานหน้า ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิล์ด ในวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา ด้วยต้องการสะท้อนปัญหาขยะพลาสติกที่เป็นเรื่องสำคัญ และส่งผลต่อสภาพแวดล้อมในปัจจุบันอย่างไม่มีใครปฏิเสธ โดยในงานดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมากตลอดทั้งวัน
"WWF ประเทศไทยในฐานะองค์กรอนุรักษ์หวังว่า 60+Earth Hour จะสร้างความตระหนักรู้ และเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้นในทุกๆ ปี เพราะพลังแห่งการอนุรักษ์ต้องการการต่อยอดที่การกระทำ และวิถีชีวิตที่ต้องปรับเปลี่ยนไป การปิดไฟแม้จะเป็นการช่วยประหยัดพลังงาน แต่หากมองให้ลึกซึ่งเราจะพบว่า การที่เราได้ช่วยธรรมชาติ ก็จะทำให้เราได้เข้าใกล้ และเห็นความงามของธรรมชาติได้มากยิ่งขึ้น" ผู้จัดการส่วนงานอนุรักษ์ WWF ประเทศไทยกล่าว
ขณะเดียวกัน มาร์โค แลมเบอตินี่ ผู้อำนวยการทั่วไปขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานใหญ่ กล่าวเพิ่มเติมถึงเป้าหมายในอนาคตว่า "ในปี 2020 อาจเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลง โดยหนึ่งในเป้าหมายคือการผลักดันให้การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นมาตรการสำคัญของโลก โดยหากทุกคนเห็นความสำคัญของธรรมชาติมากขึ้นเราจะมีรากฐานที่แข็งแรง ให้ในอีก 10 ปีข้างหน้าประชากรโลกมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพื่ออนาคตที่ดี และชีวิตใหม่ที่จะเกิดขึ้นบนโลกของเรา"
เกี่ยวกับ WWF
WWF คือหนึ่งในองค์กรเพื่อการอนุรักษ์ที่ได้รับความเชื่อถือมากที่สุด และเป็นอิสระมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีผู้ให้การสนับสนุนมากกว่า 5 ล้านคน และมีเครือข่ายทำงานอยู่ในประเทศต่างๆ กว่า 100 ประเทศ พันธกิจของ WWF คือ ลดการบุกรุก และยับยั้งการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพของโลก พร้อมไปกับสร้างอนาคตใหม่ให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน ด้วยการอนุรักษ์ไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพของโลก สร้างหลักประกันให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ผลักดันให้ลดมลภาวะ และลดการบริโภคอย่างสิ้นเปลือง (www.wwf.or.th)