กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ตระหนักถึงปัญหาการตั้งครรภ์ขณะยังไม่พร้อมในช่วงวัยรุ่น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเรียนของเยาวชนทำให้เรียนไม่จบ เกิดเป็นปัญหาเรื่องการออกกลางคันของผู้เรียน ซึ่งมีสาเหตุจากหลายปัจจัย ทั้งจากสภาพสังคมการดำรงชีพของครอบครัว พ่อแม่ต้องทำงาน เวลาของการดูแลครอบครัวจึงน้อยลง นักเรียน นักศึกษา จึงขาดการดูแล ขาดการชี้แนะแนวทางที่เหมาะสม ประกอบกับมีสิ่งกระตุ้น สิ่งเร้า และ การเข้าถึงสื่อทุกรูปแบบในยุคโซเชียลที่ไร้ขีดจำกัด ทำได้ง่ายและรวดเร็วมีอิทธิพลส่งผลต่อพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสมก่อนวัยอันสมควร และความไม่รู้ไม่เข้าในเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์และการรักษาความสัมพันธ์ทางเพศที่เหมาะสม
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวต่อไปว่า สอศ.ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้จึงได้ดำเนินการให้นักเรียน นักศึกษา ได้มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการเสริมสร้างและพัฒนาทักษะชีวิตในสถานศึกษา การสร้างวินัยเชิงบวก พร้อมกับการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีในการใช้ชีวิตที่เหมาะสม การจัดกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษา โดยสร้างระบบการดูแลช่วยเหลือ ด้วยการพัฒนานักเรียน นักศึกษาแกนนำให้มีความสามารถในการเป็นนักเรียนเพื่อนที่ปรึกษา (Youth Counselor) เพื่อให้คำปรึกษาแก่เพื่อนนักเรียนที่ประสบปัญหาในเบื้องต้น โดยวิทยาลัยการอาชีพขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้เป็นแกนนำจัดอบรม "โครงการทักษะการให้คำปรึกษาเพื่อนจิตอาสา สู่ยุค 4.0" ให้แก่ครูหัวหน้างานอาจารย์ที่ปรึกษา และนักเรียน นักศึกษาในสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 142 แห่ง จาก 11 จังหวัด รวมจำนวน กว่า 500 คน เพื่อหาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ของนักเรียน นักศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เพิ่มทักษะการให้คำปรึกษาแก่ครูในเรื่องการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และส่งเสริมพลังเยาวชนในการช่วยเหลือ และให้คำแนะนำแก่เพื่อนที่ถูกต้อง รวมถึงจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในการใช้สื่อเพื่อการรณรงค์และเผยแพร่ข้อมูลด้านการป้องกันและการแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
พร้อมกันนี้ การอบรม"โครงการทักษะการให้คำปรึกษาเพื่อนจิตอาสา สู่ยุค 4.0" ได้จัดให้มีเวิร์คช็อบทบทวนการสอน "เพศวิถีศึกษา" ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ เกี่ยวกับเพศที่ครอบคลุมพัฒนาการทั้งทางร่างกาย จิตใจ การทำงานของสรีระ และการดูแลสุขอนามัย ทัศนคติค่านิยม สัมพันธภาพ พฤติกรรมทางเพศ มิติทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีผล ต่อวิถีชีวิตทางเพศ ในทุกมิติทั้งด้านความรู้ ความคิด ทัศนคติ อารมณ์ และทักษะที่จำเป็นสำหรับบุคคล ที่ช่วยชี้แนะให้นักเรียน นักศึกษา สามารถเลือกดำเนินชีวิตทางเพศอย่างเป็นสุข และปลอดภัย รวมถึงดำรงความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้อย่างมีความรับผิดชอบและ สมดุล ซึ่งครูผู้สอนก็จะมีทัศนคติใหม่ของการดูแลนักเรียน นักศึกษาด้วย เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษากล่าว