กรุงเทพฯ--9 เม.ย.--กรมส่งเสริมการเกษตร?
จากสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่จังหวัดของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์สภาวะอากาศว่าจะเกิดการสะสมของฝุ่นละอองและหมอกควัน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม คมนาคม และการท่องเที่ยว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานสังกัดทั้งส่วนกลางและภูมิภาค เป็นชุดปฏิบัติการประจำพื้นที่เพื่อออกตรวจ ป้องปราม ระงับ ยับยั้ง และแจ้งเหตุการณ์เผาในพื้นที่เกษตร เพื่อลดผลกระทบจากฝุ่นควันโดยเร็ว
นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และอาสาสมัคร เฝ้าระวังการเผาใน 4 พื้นที่ ได้แก่ ป่าไม้ เกษตรกรรม ชุมชน และริมทาง โดยใช้ 5 มาตรการ คือ 1.มาตรการทางกฎหมายควบคุมการเผาในพื้นที่จังหวัดอย่างเข้มข้น จริงจัง โดยกำหนดระยะเวลาควบคุมการเผาให้สอดคล้องกับสภาพความรุนแรงของปัญหา พร้อมส่งเสริมให้นำเศษวัสดุไปใช้ประโยชน์แทนการเผา เช่น ไถกลบตอซังขณะมีความชื้น ทำปุ๋ยหมักหรืออาหารสัตว์ 2.ใช้ข้อมูลตำแหน่งจุดความร้อน (Hotspot) จากดาวเทียมวางแผนควบคุมการเผาอย่างถูกต้องแม่นยำ 3.ระดมสรรพกำลัง เครื่องจักร พร้อมจิตอาสา ช่วยดับไฟ ฉีดพ่นละอองน้ำลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ และรณรงค์ลดยานพาหนะควันดำ 4.แจกหน้ากากอนามัย แนะนำข้อปฏิบัติในการป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง พร้อมจัดเตรียมพื้นที่ปลอดภัยไว้บริการประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 5.สร้างการรับรู้ถึงความจำเป็นในการควบคุมการเผา กฎหมาย และแนวทางแก้ปัญหาของจังหวัด เพื่อป้องกันความขัดแย้ง
นายสำราญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กรมส่งเสริมการเกษตร สั่งการกำชับให้เกษตรจังหวัดเป็นหน่วยงานหลักขับเคลื่อนแผนป้องกันการเผาในพื้นที่ รวมทั้งลงพื้นที่ควบคุม กำกับดูแลและเข้มงวดไม่ให้เกิดการเผาในพื้นที่การเกษตร ทั้งระดับจังหวัดและอำเภอ ในความรับผิดชอบอย่างเคร่งครัด โดยให้ดำเนินการตามมาตรการ "4 พื้นที่ 5 มาตรการการจัดการ" เพื่อการหยุดเผา และให้เจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรระดับอำเภอจัดชุดปฏิบัติการประจำพื้นที่ออกตรวจ ล่าสุด จ.เชียงใหม่ ตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าแล้ว เพื่อเฝ้าระวัง รับแจ้งสถานการณ์ และแก้ปัญหาการเผาได้ทันท่วงที ด้าน จ.น่าน จ.พิจิตร และจังหวัดอื่นทยอยสร้างการรับรู้ผ่านงานรณรงค์วันถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อการเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ ประกอบกับมีเครือข่ายเกษตรกรศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 882 ศูนย์ทั่วประเทศ และศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) อีก 882 ศูนย์ทั่วประเทศ เป็นหน่วยเฝ้าระวังป้องกันและปลุกจิตสำนึกไม่เผาเศษซากพืช/วัสดุทางการเกษตร และเร่งสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากการเผา ตลอดจนถ่ายทอดเทคโนโลยีจัดการหลังการเก็บเกี่ยว โดยวิเคราะห์เป็นรายพืช เช่น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เหมาะสม ซึ่งเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจสามารถติดต่อร่วมเป็นสมาชิก ศพก. และ ศดปช. ใกล้บ้านท่าน หรือสอบถามเพิ่มเติมที่สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่
สำหรับการจัดทำข้อมูลแจ้งเตือนเกษตรกรงดเผาในพื้นที่ทำการเกษตรรายสัปดาห์ของกรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ล่วงหน้าในช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ 5 - 11 เมษายน 2561 ว่า อากาศจะยังคงไหลเวียนไม่ดี ก่อให้เกิดการสะสมของฝุ่นละอองและหมอกควัน แม้อาจจะมีลมและฝนบ้างแต่ก็ยังไม่สามารถช่วยพัดฝุ่นละอองและหมอกควันออกจากพื้นที่ได้ ทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนต่อเนื่อง ซึ่งในพื้นที่ตอนบนของประเทศไทย อากาศร้อน มีลมอ่อน และฝนน้อย โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย พิจิตร และพื้นที่ภาคกลาง โดยเฉพาะจังหวัดนครสวรรค์ กาญจนบุรี และราชบุรี ดังนั้นกรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอความร่วมมือเกษตรกรงดเผาวัสดุการเกษตรในพื้นที่ดังกล่าวอย่างเด็ดขาด
สำหรับพื้นที่จังหวัดอื่นตลอดจนภาคใต้ คาดว่าจะมีสภาพอากาศร้อน มีลมและฝนปานกลาง เกษตรกรไม่ควรเผาวัสดุการเกษตร เพื่อไม่ให้เกิดการสะสมของฝุ่นละอองและหมอกควันเพิ่มมากขึ้น โดยเกษตรกรหรือประชาชนทั่วไปสามารถติดตามข่าวสารสภาพอากาศล่วงหน้าได้ทุกสัปดาห์ ตลอดจนขอคำแนะนำในการกำจัดเศษวัสดุทางการเกษตรเพิ่มเติม ได้ที่ กรมส่งเสริมการเกษตร โทรศัพท์ 0 2579 0163 และสายด่วนกรมอุตุนิยมวิทยา 1182
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนร่วมกันเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์หมอกควันจากการเผาอย่างใกล้ชิด หากพบเหตุและสามารถดับไฟได้ขอให้ดับไฟทันที แล้วแจ้งให้สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ทราบ หากไม่สามารถดำเนินการได้ทันที ให้แจ้งหน่วยงานดับไฟของพื้นที่ทันที หรือแจ้งสายด่วนตลอด 24 ชั่วโมง โทรศัพท์ 1784 (ทุกพื้นที่) และ 1362 (พื้นที่ป่า)
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์: นาฏสรวง/ข่าว, เมษายน 2562
ข้อมูล: กองส่งเสริมโครงการพระราชดำริ การจัดการพื้นที่และวิศวกรรมเกษตร