กรุงเทพฯ--9 เม.ย.--มีเดีย แอสโซซิเอตเต็ด
เผยผลจัดอันดับธนาคารแห่งปี Bank of the Year ธนาคารกรุงเทพ ครองแชมป์ ธนาคารแห่งปี 2562 Bank of the Year 2019 ธนาคารกสิกรไทย นั่งอันดับ 2 ธนาคารไทยพาณิชย์ รั้งอันดับ 3
การเงินธนาคาร ฉบับเดือนเมษายน 2562 ประกาศผลการจัดอันดับ ธนาคารแห่งปี 2562 หรือ Bank of the Year 2019 โดยใช้ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ 14 แห่ง ในรอบปี 2561 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 ธันวาคม 2561 มาพิจารณาจัดอันดับ ปรากฏว่า ธนาคารกรุงเทพ ได้ครองแชมป์ธนาคารแห่งปี 2562
โดยธนาคารกรุงเทพสร้างกำไรสุทธิได้สูงเป็นอันดับ 3 ของระบบธนาคารพาณิชย์ โดยมีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 35,329.97 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,321.26 ล้านบาท หรือ 7.03% จากปี 2560 และมีกำไรสุทธิต่อหุ้นสูงเป็นอันดับ 1 ที่ 18.51 บาท นอกจากนี้ ยังเน้นการมีเสถียรภาพและความมั่นคงโดยตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 147,588.43 ล้านบาท คิดเป็น 7.08% ของสินเชื่อรวม สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของระบบธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) 17.96% แบ่งเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 ที่ระดับ 16.43% และเงินกองทุนขั้นที่ 2 ที่ระดับ 1.53%
สำหรับนโยบายของธนาคารกรุงเทพ ในปี 2562 ธนาคารยังคงยึดมั่นในเจตนารมณ์ของการเป็น "เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน" โดยให้ความสำคัญกับการเป็นเพื่อนคู่คิดในการดำเนินธุรกิจของลูกค้า และพัฒนาความสัมพันธ์อย่างจริงใจและยาวนานจากรุ่นสู่รุ่น โดยในกลุ่มลูกค้าธุรกิจ ธนาคารได้สนับสนุนและให้คำปรึกษาเพื่อช่วยให้ธุรกิจของลูกค้าเติบโตอย่างยั่งยืน ส่งเสริมธุรกิจที่มีศักยภาพและโอกาสใหม่ทางธุรกิจ และพัฒนาแพลตฟอร์มด้านบริการบริหารจัดการเงินสดและสินเชื่อการค้าระหว่างประเทศ
ด้านกลุ่มลูกค้าบุคคล ธนาคารเร่งปรับปรุงการให้บริการทุกช่องทางเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นแก่ลูกค้า และขยายฐานลูกค้าที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ควบคู่ไปกับพัฒนาและเพิ่มความหลากหลายของบริการวางแผนจัดการสินทรัพย์ ส่วนกลุ่มลูกค้าธุรกิจในต่างประเทศ ธนาคารจะมุ่งสนับสนุนลูกค้าให้ใช้ประโยชน์จากโอกาสทางธุรกิจในภูมิภาค และขยายฐานลูกค้าที่เป็นเครือข่ายธุรกิจของบริษัททั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมเชื่อมโยงลูกค้ากับคู่ค้าที่มีศักยภาพในภูมิภาค
นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการกลุ่มฟินเทคและผู้นำเทคโนโลยีเพื่อนำเสนอนวัตกรรมด้านบริการธนาคารดิจิทัล โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการเชื่อมโยงข้อมูลและการให้บริการลูกค้าในหลากหลายช่องทาง และนำนวัตกรรมและระบบอัตโนมัติมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
อันดับ 2 ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย โดยมีรายได้รวมสูงสุดเป็นอันดับ 1 ถึง 182,231.62 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิสูงเป็นอันดับ 2 รวม 38,459.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,120.87 ล้าบาท หรือ 12% ธนาคารมีสินทรัพย์รวม 3,155,090.81 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 16.07 บาท และมูลค่าหุ้นทางบัญชี 154.82 บาท สูงเป็นอัน 2 ของระบบธนาคารพาณิชย์
ในปี 2562 ธนาคารกสิกรไทยได้กำหนดภารกิจสำคัญ ได้แก่ การเดินหน้าสร้างการเติบโตด้วยการขยายฐานลูกค้า การสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่ พร้อมการบูรณาการทุกมิติของทีมงาน และการผนึกกำลังกับพันธมิตรธุรกิจเพื่อสร้างประสบการณ์ในการใช้บริการที่ราบรื่นไร้รอยต่อ พร้อมรองรับลูกค้าทั้งบนแพลตฟอร์มของธนาคาร-ผ่าน K PLUS และบนการเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มอื่น
สำหรับการดำเนินธุรกิจข้ามประเทศ ธนาคารให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงลูกค้าธุรกิจให้เข้าถึงผู้บริโภคในกลุ่มประเทศ CCLMVI ได้แก่ จีน กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยธนาคารมีเป้าหมายในการสร้างแพลตฟอร์มการชำระเงินแห่งภูมิภาคเพื่อสร้างความสะดวกสบายและเข้าถึงผู้บริโภครายย่อยในภูมิภาคผ่านแพลตฟอร์มของธนาคาร
ในส่วนของการสร้างนวัตกรรมใหม่ ธนาคารยกระดับขีดความสามารถในการทำงานร่วมกับพันธมิตรผ่านนวัตกรรมแห่งความร่วมมือ 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. Open Banking API ที่เชื่อมต่อบริการของธนาคารและพันธมิตร โดยสะดวกและปลอดภัย 2. K PLUS Business Platform นิยามใหม่ของ K PLUS จากการเป็นธนาคารบนโทรศัพท์มือถือสู่การเป็นแพลตฟอร์มสำหรับธุรกิจที่เอื้อให้พันธมิตรสามารถนำไปต่อยอดเพื่อสร้างบริการในรูปแบบดิจิทัล และ 3. Innovation Sandbox สนามทดลองเพื่อรองรับการทดสอบไอเดียทางนวัตกรรมใหม่ ๆ ของพันธมิตรโดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพ เพื่อส่งเสริมการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ตรงใจลูกค้า
อันดับ 3 ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ อยู่ใน โดยมีกำไรสุทธิ 40,067.56 ล้านบาท ลดลง 3,084.34 ล้านบาท หรือ 7.15% และมีสินทรัพย์รวม 3,187,339.62 ล้านบาทสูงสุดเป็นอันดับ 1 โดยตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป ธนาคารมุ่งเน้นต่อยอดโครงการ SCB Transformation และยุทธศาสตร์ตีลังกา (Going Upside Down) โดยนำขีดความสามารถใหม่ด้านดิจิทัลและด้านข้อมูลมาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง
นอกจากนี้ ธนาคารยังให้ความสำคัญกับการลงทุนสำหรับอนาคตเพื่อสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยการจับมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ รวมถึงการสร้างขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีผ่านหน่วยงานภายในและบริษัทในเครือของธนาคาร ทั้งบริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ จำกัด ที่ดำเนินกลยุทธ์การขยายขอบข่ายทางเทคโนโลยีที่สำคัญ เช่น Blockchain ปัญญาประดิษฐ์ และการลงทุนในรูปแบบ Venture Capital เฟ้นหาและเรียนรู้จากบริษัทเทคโนโลยีรวมถึงสตาร์ตอัพทั่วโลก เพื่อนำมาต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่
และบริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด ที่มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อพัฒนาธุรกิจและบริการ นอกจากนี้ ธนาคารยังได้จัดตั้งแผนก SCB10X ขึ้นมาใหม่เพื่อมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างผลิตภัณฑ์เชิงยุทธศาสตร์ ผ่านโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ที่จะสร้างประสบการณ์และคุณค่าใหม่ให้กับลูกค้า
อันดับ 4 ธ.ทิสโก้ อันดับ 5 ธ.ธนชาต อันดับ 6 ธ.กรุงไทย อันดับ 7 ธ.กรุงศรีอยุธยา อันดับ 8 ธ.เกียรตินาคิน อันดับ 9 ธ.ทหารไทย อันดับ 10 ธ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ อันดับ 11 ธ.ไอซีบีซี (ไทย) อันดับ 12 ธ.ยูโอบี อันดับ 13 ธ.ไทยเครดิตเพื่อรายย่อย และ อันดับ 14 ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย