กรุงเทพฯ--30 ม.ค.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุพรรณบุรี จัดอบรมโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งทีมกู้ชีพกู้ภัย เพื่อให้มีทีมค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยประจำท้องถิ่น ที่มีความรู้ ความสามารถ ทักษะในการค้นหา และการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเบื้องต้นอย่างถูกวิธีตามหลักวิชาการ อีกทั้งเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ตั้งเป้าให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 127 แห่ง ในจังหวัดสุพรรณบุรี มีทีมกู้ชีพกู้ภัยครบทุกแห่ง ภายในปี 2551
นางสมเจตน์ พรหมสุนทร หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุพรรณบุรี เปิดเผยว่า ปัจจุบันภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทั้งภัยธรรมชาติ และภัยจากการกระทำของมนุษย์ สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยสาเหตุของการเสียชีวิตส่วนหนึ่งมาจากการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเบื้องต้นล่าช้าและไม่ถูกวิธี ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ทุพพลภาพ และเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุพรรณบุรี จึงได้จัดอบรมหลักสูตรหนึ่งตำบลหนึ่งทีมกู้ชีพกู้ภัย เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ ความสามารถ ทักษะในการค้นหา และการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเบื้องต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง รวดเร็วและปลอดภัย อีกทั้งเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา โดยตั้งเป้าให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นเทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบลทั้ง 127 แห่ง ในจังหวัดสุพรรณบุรี ต้องมีทีมกู้ชีพกู้ภัยแห่งละ 1 ทีม ชุดละ 10 คน ครบทุกแห่งภายในปี 2551 ซึ่งขณะนี้ทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุพรรณบุรี ได้จัดอบรมทีมกู้ชีพกู้ภัยไปแล้ว 34 แห่ง โดยได้ดำเนินการอบรมครั้งละ 6 แห่งๆ ละ 10 คน รวม 60 คน ระยะเวลาในการอบรม
5 วัน ได้รับการสนับสนุนวิทยากรจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 2 สุพรรณบุรี สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุพรรณบุรี และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี ตลอดจนได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งละ 50,000 บาท รวมถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี ยังให้การสนับสนุนเครื่องมือ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ต่างๆ ในการอบรม ซึ่งจะทำให้จังหวัดสุพรรณบุรีมีทีมค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยประจำท้องถิ่นที่มีความรู้ ความสามารถ ทักษะในการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย ส่งผลให้ผู้ประสบภัยได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกวิธีตามหลักวิชาการ ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ในระดับหนึ่ง