กรุงเทพฯ--30 ม.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์
ไอเอ็นจี กรุ๊ป เผยผลสำรวจความคิดเห็นนักลงทุนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 13 ประเทศ พบนักลงทุนไทย 69% มั่นใจบรรยากาศการลงทุนโดยรวมในปี 2551 เทียบกับปี 2550 ดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรก ขณะที่อินเดียเชื่อมั่นในบรรยากาศการลงทุนปีนี้ว่าดีขึ้นสูงสุดถึง 93%
เนื่องด้วย ไอเอ็นจี กรุ๊ป ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้ลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 13 ประเทศ ได้แก่ ไทย ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไต้หวัน เพื่อประเมินทัศนคติและพฤติกรรมการลงทุนของผู้ลงทุนเป็นประจำทุกไตรมาส ในชื่อว่า “ING Investor Sentiment Tracking Study” โดยล่าสุดได้ทำการสำรวจในช่วงเดือนพฤศจิกายน — ธันวาคม 2550 ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่ได้สำรวจครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2550 โดยมีกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 1,311 คน
ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างดังกล่าวเป็นนักลงทุนรายบุคคล อายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป และมีสินทรัพย์สภาพคล่อง ไม่น้อยกว่า 1 แสนเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3.35 ล้านบาท) ยกเว้นประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งใช้ตัวเลขในบัญชีเงินฝาก และฟิลิปปินส์ ใช้รายได้ต่อเดือน เป็นเกณฑ์
นายมาริษ ท่าราบ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ผลการสำรวจครั้งนี้พบว่า ในด้านความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนที่มองบรรยากาศด้านการลงทุนโดยรวมในเชิงเปรียบเทียบระหว่างปี 2551 กับปี 2550 สำหรับประเทศไทยมีถึงร้อยละ 69 ที่มองว่าปี 2551 จะดีกว่าปี 2550 โดยอีกร้อยละ 17 มองว่าแย่ลง และที่เหลือร้อยละ 14 มองว่าทรงๆ ซึ่งสอดคล้องกับคำถามในการสุ่มตัวอย่างจากกลุ่มนักลงทุนดังกล่าวที่ว่าตลาดหุ้นไทยจะเป็นอย่างไรในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งผลปรากฎว่าร้อยละ 69 มองว่าหุ้นจะขึ้น อีกร้อยละ 16 มองว่าหุ้นจะตก ที่เหลือร้อยละ 15 มองว่าทรงตัว
ส่วนในประเทศอื่นๆ นั้น ที่อินเดียมีความเชื่อมั่นสูงสุด เพราะมีถึงร้อยละ 93 ที่ตอบว่าบรรยากาศการลงทุนโดยรวมจะดีขึ้น โดยร้อยละ 61 บอกว่าหุ้นจะขึ้น และมีเพียงประเทศเดียวที่ตอบว่าบรรยากาศการลงทุนโดยรวมน่าจะแย่ลงมากกว่าคือญี่ปุ่น ซึ่งตอบว่าจะแย่ลงร้อยละ 58 และตอบว่าดีขึ้นเพียงร้อยละ 17 โดยมีถึงร้อยละ 60 ที่บอกว่าหุ้นญี่ปุ่นจะตกในช่วง 3 เดือนข้างหน้า
ในด้านผลตอบแทนจากการลงทุนในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาในประเทศไทยนั้น มีถึงร้อยละ 66 ที่ตอบว่าได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น มีร้อยละ 22 ตอบว่าผลตอบแทนลดลง และอีกร้อยละ 12 ที่ตอบว่าผลตอบแทนคงที่ ส่วนความคาดหวังในช่วง 3 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 68 และคาดว่าผลตอบแทนลดลงเพียงร้อยละ 10
“ขณะที่ฐานะการเงินส่วนตัวในช่วง 3 เดือนก่อน มีไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่ตอบว่าฐานะดีขึ้น แต่ความคาดหวังในช่วง 3 เดือนข้างหน้านั้น เกินกว่าครึ่งหนึ่งที่บอกว่าฐานะน่าจะดีขึ้นทั้งในเชิงส่วนตัวและของครอบครัว” นายมาริษกล่าว
สำหรับพฤติกรรมการลงทุนนั้น นักลงทุนไทยมีแนวโน้มลงทุนสั้นๆ มากขึ้น และลดการลงทุนระยะยาวลง ดูได้จากผลสำรวจครั้งนี้ ซึ่งมีผู้ตอบว่า จะลงทุนสั้นๆ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 26 เป็นร้อยละ 33 ส่วนการลงทุนระยะยาวลดลงจากร้อยละ 38 เหลือร้อยละ 32 ตรงข้ามกับจีนและมาเลเซีย ที่ผู้ลงทุนจะลงทุนระยะยาวมากขึ้นและลดการลงทุนระยะสั้นลง โดยสัดส่วนการลงทุนที่สูงที่สุดในทุกประเทศคือการลงทุนในระยะปานกลาง มีตั้งแต่ร้อยละ 35 (ไทย) ไปจนถึงร้อยละ 73 (เกาหลีใต้)
และถ้ามามองดูความคิดเห็นของนักลงทุนทั่วเอเชีย ซึ่งมีต่อตลาดหุ้นของประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในเอเชียอย่างจีน พบว่าความเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ หุ้นจีนจะปรับตัวขึ้นมากกว่าลง ยกเว้นนักลงทุนจากไต้หวันเพียงประเทศเดียวที่เชื่อว่าหุ้นจีนจะลงมากกว่าขึ้น
กรรมการผู้จัดการ บลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) กล่าวด้วยว่า ในด้านของภาวะเศรษฐกิจโดยรวมนั้น นักลงทุนไทยส่วนใหญ่ (63%) มองว่าภาวะเศรษฐกิจของไทยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมายังย่ำแย่ แต่เมื่อมองไปในช่วง 3 เดือนข้างหน้า กลับมีถึงร้อยละ 55 ที่บอกว่าจะดีขึ้น มีเพียงร้อยละ 19 ที่บอกว่าแย่ลง และอีกร้อยละ 26 ตอบว่าทรงตัว ในขณะที่มีอยู่ 3 ประเทศ ที่ตอบว่าเศรษฐกิจของประเทศตนน่าจะแย่ลงมากกว่า คือ นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และไต้หวัน
นอกจากนี้ จากผลการสำรวจยังพบว่า นักลงทุนในประเทศที่มีการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและการลงทุนมานานแล้ว เช่น ออสเตรเลีย ฮ่องกง ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ มีการลงทุนแบบอนุรักษ์นิยมมากว่า ในประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่ อย่างจีนและอินเดีย โดยปัญหาที่นักลงทุนยังเชื่อว่ามีผลต่อความเชื่อมั่นต่อการลงทุนนั้น ยังมาจากปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพในสหรัฐอเมริกา (ซับไพร์ม) และภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ : คุณกฤติยาพร พลตรี (บุ๋ม)
บริษัท มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด
โทร. 02-643-1191 ,02-248-7967-8 มือถือ 08-9636-8414
E-mail address : kritiya_kpp@yahoo.com