กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--มหาวิทยาลัยมหิดล
นักศึกษามหิดลสุดคึกคักร่วมประกวดโชว์ไอเดียสร้างนวัตกรรมใหม่ให้โลกเปลี่ยน ในโครงการนวัตกรรมเพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยให้ยั่งยืน หรือ Innovation for Campus Sustainability 2019 งานนี้ได้เห็นแนวคิดล้ำๆจากสิ่งธรรมดาในชีวิตประจำวัน ที่สามารถจะต่อยอดให้เกิดเป็นนวัตกรรมเพื่อสร้างความยั่งยืนภายในมหาวิทยาลัยและส่งต่อสู่สังคมภายนอกได้ โดยทีมที่คว้ารางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีมนักศึกษาชั้นปี 1 จาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กับผลงานแอปพลิเคชันหาอาสาสมัครทำกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งหลังจากนี้จะเตรียมเป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยไปนำเสนอผลงานในเวทีงานประชุมวิชาการนานาชาติ ในเดือนมิถุนายนนี้
รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการประกวดว่า "โครงการนวัตกรรมเพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยให้ยั่งยืน Innovation for Campus Sustainability เป็นเวทีการประกวดสำหรับนักศึกษาปริญญาตรีและปริญญาโทของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นการประลองความรู้ความสามารถผ่านการบูรณาการองค์ความรู้เพื่อสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยี โปรแกรมซอฟแวร์ เพื่อลดมลพิษสิ่งแวดล้อม และร่วมเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น โดยผลงานจากการประกวดในเวทีนี้จะถูกนำไปถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวทีระดับนานาชาติ ในงานประชุมวิชาการ The 5th Asian Conference on Campus Sustainability: ACCS ณ มหาวิทยาลัยทงจี (Tongji University) ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 1-2 มิถุนายน 2562"
โดยในการประกวดได้กำหนดหัวข้อสร้างนวัตกรรมใหม่ให้โลกเปลี่ยน ซึ่งนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน อาจเป็นสิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยี โปรแกรมซอฟแวร์ หรือกิจกรรมกลุ่มที่คิดค้นขึ้นใหม่หรือพัฒนาปรับปรุงจากเดิม โดยคำนึงถึงผลกระทบและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ เพื่อให้นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ได้ใส่ใจต่อสิ่งรอบตัว และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนสู่สังคมไทย
สำหรับปีนี้ รางวัลชนะเลิศตกเป็นของทีมเฟรชชี่น้องใหม่ ชื่อทีม "129 sustainability" สมาชิกประกอบด้วย นายศุภกฤต โฆษิตบวรชัย (ไอซ์) นายพศิณ อินทรขาว (แคน) และ นายศุภโชค เจริญศักดิ์โยธิน (พุดดี้) โดยทั้งหมดเป็นนักศึกษา ชั้นปีที่ 1 จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล รวมตัวกันสร้างสรรค์ผลงาน "welunteering application" ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันหาอาสาสมัครทำกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย โดยเป็นการประชาสัมพันธ์หาจิตอาสาผ่านสมาร์ทโฟน ช่วยลดการใช้ทรัพยากรและพลังงานจากป้ายประกาศทั่วไป อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมจิตอาสาในหมู่นักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัยอีกด้วย
นายศุภโชค (พุดดี้) เล่าถึงปัญหาว่า "ภายในมหาวิทยาลัยมหิดลของเรา มักจะมีกิจกรรมต่าง ๆ ให้นักศึกษามาร่วมกันทำอยู่ตลอด บางทีจะมีการประกาศโดยการติดตั้งป้ายไม้บ้าง กระดาษโปสเตอร์บ้าง แต่ก็จะไม่ใช่ว่าทุกคนจะเห็นหรือสนใจ ซึ่งการประชาสัมพันธ์ด้วยวิธีเหล่านี้ เป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรและพลังงานต่าง ๆ เช่น ไม้อัด สี กระดาษ หมึกพิมพ์ ไปจนถึงน้ำมันรถที่จะต้องใช้เพื่อบรรทุกป้ายไม้ไปติดตั้งและรื้อถอน เป็นต้น"
ด้าน นายพศิณ (แคน) กล่าวเสริมว่า "ถ้าเราลองเปลี่ยนแปลงระบบตรงนี้ ลองเอาป้ายประกาศต่าง ๆ กระจายหาคนครั้งเดียวผ่านมือถือ ก็เท่ากับได้กระจายอย่างทั่วถึงพร้อมกันทั้งมหาวิทยาลัย แล้วคนที่สนใจก็สามารถทำได้เลย ไม่จำเป็นต้องรอเวลา รอเพื่อน ไม่จำเป็นต้องส่งใบสมัคร ลงทะเบียน คือเมื่อเราเปลี่ยนประกาศให้อยู่ในมือถือได้ ก็สามารถลดค่าใช้จ่าย และกระจายผลได้เร็วกว่า"
ผลงาน welunteering application หรือ "แอปพลิเคชันหาอาสาสมัครทำกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย" จึงเป็นแอปที่ช่วยประกาศหาอาสาสมัครมาช่วยทำกิจกรรมดี ๆ ได้เข้าถึงทุกคนทุกที่ทุกเวลา เช่น ระดมจิตอาสา 50 คน ช่วยทำความสะอาดสนามฟุตบอล หรือ แม้แต่งานเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เป็นประโยชน์หรือที่ได้ช่วยเหลือผู้คนภายในมหาวิทยาลัย เช่น ขอแรงเพื่อน 2 คน มาช่วยย้ายของจากชั้นบนลงชั้นล่าง โดยผู้ลงประกาศสามารถใส่รายละเอียดได้ ทั้งสิ่งที่จะทำ วัน เวลา สถานที่ จำนวนคนที่ต้องการ โดยคนที่โพสต์และจิตอาสาที่จะมาช่วยเหลือ สามารถเป็นได้ทั้งนักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัย นับเป็นการส่งเสริมเรื่องจิตอาสาเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมไปถึงได้ช่วยลดการใช้ทรัพยากรและพลังงานต่าง ๆ ด้วย
นอกจากนี้ แอปนี้ยังมีระบบให้แต้มเพื่อตอบแทนให้กับคนที่มาทำกิจกรรมด้วย โดยเจ้าของโพสต์ สามารถกดยืนยันว่าอาสาสมัครนั้น ๆ ทำงานเสร็จแล้ว อาสาสมัครคนนั้นก็จะได้เก็บชั่วโมงกิจกรรมของมหาวิทยาลัยด้วย และยังเป็นแต้มรางวัล สามารถนำไปใช้เป็นส่วนลด หรือ แลก เป็นของเล็ก ๆ น้อย ๆ ในร้านค้าของมหาวิทยาลัย เป็นการให้กำลังใจเล็ก ๆ แก่จิตอาสาผู้ทำความดีแก่สังคม
นายศุภกฤต (ไอซ์) สมาชิกอีกคนของทีม กล่าวว่า "สุดท้ายแล้วอยากให้ welunteering application นี้เป็นการสร้างความยั่งยืนในจิตใจของทุกคน มากกว่าการที่เราจะทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งแล้วก็จบแยกย้ายกันไป พวกผมอยากให้การทำกิจกรรมจิตอาสาเกิดขึ้นได้ง่ายกว่านั้น อยากให้ทุกคนเห็นการช่วยเหลือ การตอบแทนในการช่วยเหลือคนในสังคมเป็นเรื่องปกติ แม้จะเป็นสเกลเล็ก ๆ แต่ก็ทำให้เกิดขึ้นในสังคมได้ เพราะเชื่อว่ามีหลายคนในสังคมที่อยากทำ อยากช่วยเหลือคน โดยไม่รู้จะเริ่มต้นหรือทำในจุดไหน แต่การทำจิตอาสาเริ่มได้จากสิ่งเล็ก ๆ ง่ายๆ และคนก็ทำด้วยความเต็มใจ เริ่มจากภายในมหาวิทยาลัยและส่งต่อไปถึงสังคมภายนอกได้"
ดร.อรันย์ ศรีรัตนา ทาบูกานอน หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินโครงการ กล่าวว่า "ทีมที่ชนะเลิศในครั้งนี้มีมุมมองด้านความยั่งยืนแตกต่างจากทีมอื่น ๆ โดยพวกเขาได้นำเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน อย่างการรวบรวมคนทำกิจกรรม หรือการหาอาสาสมัครต่าง ๆ ที่เรามักเห็นเป็นป้ายประกาศมากมายตามบอร์ดหรือสถานที่ต่าง ๆ มาพัฒนาเป็นแอปพลิเคชั่นที่เข้าถึงคนทั่วไปได้ง่ายขึ้น และทั่วถึงขึ้น เป็นการช่วยประหยัดทรัพยากรธรรมชาติในทางหนึ่ง"
"นอกจากนี้ ทางคณะกรรมการมองว่า นวัตกรรมไม่จำเป็นต้องหรูหรา ฟุ่มเฟือย บางทีเป็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คนอาจมองข้าม แต่สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เกิดในชีวิตประจำวัน ผลกระทบจากจุดเล็ก ๆ ตรงนั้นจึงสามารถขยายต่อไปในวงกว้าง ทีมที่ได้รางวัลชนะเลิศของปีนี้ จึงเป็นผลงานที่เรียบง่ายแต่มีผลกระทบค่อนข้างกว้าง ผนวกกับนักศึกษามหิดลที่มีใจรักในงานจิตอาสา สามารถนำผลงานไปใช้ประโยชน์ต่อยอดได้อย่างเป็นรูปธรรม กรรมการจึงเห็นตรงกันว่าน่าจะเกิดเป็นความยั่งยืนที่ชัดเจน ตรงกับวัตถุประสงค์ของการประกวด" ดร.อรันย์ กล่าวเสริม
ด้านรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม Koala กับผลงาน MU Refill Corner นวัตกรรมตู้รีฟิลและ แอปพลิเคชั่น ที่จะให้บริการเติมผลิตภัณฑ์ของใช้ในชีวิตประจำวันต่าง ๆ เช่น แชมพู สบู่ หรือน้ำยาล้างจาน เพื่อลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกในมหาวิทยาลัย และรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม Park Car MU กับผลงาน MU Car Park โดยเป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยแสดงจำนวนที่จอดรถที่ว่างในแต่ละจุดจอดรถอย่างชัดเจน ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาในการขับรถหาที่จอดภายในมหาวิทยาลัยมหิดล
นอกจากนี้ยังมีนักศึกษาอีกหลายทีมที่ได้เข้าร่วมประกวด ซึ่งต่างจะต้องแสดงรูปแบบผลงานและตอบคำถามด้วยภาษาอังกฤษ เป็นการสร้างประสบการณ์ให้กับนักศึกษาได้มีโอกาสเพื่อนำเสนอแนวคิดตนเองอย่างเต็มที่ อาทิ ผลงานแอปพลิเคชั่นที่ใช้แทนใบเสร็จเพื่อลดปริมาณกระดาษที่เกิดขึ้นจากการใช้ใบเสร็จ ผลงานอุปกรณ์ดักจับไมโครพลาสติกที่หลุดออกมาในเครื่องซักผ้าด้วยหลักการทางเคมีเพื่อลดการทิ้งขยะไมโครพลาสติกซึ่งดักจับได้ยากก่อนที่จะปล่อยลงสู่แหล่งบำบัดน้ำเสีย ผลงานอุปกรณ์ฉีดปุ๊ปแห้งปั๊ปหรือที่ฉีดชำระที่สามารถปล่อยทั้งน้ำและลมได้ในตัวเดียวกันเพื่อลดทั้งการใช้ทิชชู่และลดการใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
"สำหรับภาพรวมจากการเข้าร่วมโครงการของนักศึกษาปีนี้ เราได้เห็นความคิดสร้างสรรค์ด้านนวัตกรรมของนักศึกษา ซึ่งมาจากทุกชั้นปีและหลากหลายคณะ แสดงให้เห็นถึงความสนใจ ความกระตือรือร้น มุมมองหลายๆ แบบ ที่จะร่วมคิด ร่วมแก้ปัญหา เพื่อสร้างความยั่งยืนในหลาย ๆ ด้าน เราหวังว่า โครงการนี้ จะเป็นการจุดประกายให้นักศึกษาและมหาวิทยาลัยของเรา สร้างสรรค์และพัฒนาสิ่งดี ๆ อย่างยั่งยืน เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่ามากขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน ให้มหาวิทยาลัยมหิดลก้าวสู่มหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ ได้อย่างเต็มภาคภูมิ" รศ.ดร.กิติกร กล่าวทิ้งท้าย