กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์
รพ.จิตเวชโคราช จับมือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พัฒนาหลักสูตรอบรมพยาบาลวิชาชีพประจำรพ.ชุมชน และรพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลในจ.นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ เพิ่มความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสุขภาพจิตและจิตเวชชุมชน เริ่มรุ่นแรกปีนี้ 23 คน สามารถจัดบริการดูแลผู้ป่วยหรือมีปัญหาทางจิตครบวงจรและอยู่ใกล้บ้านทั้งรายใหม่ และรายเก่าที่อาการทุเลาแล้วแต่ต้องกินยาต่อเนื่อง ป้องกันป่วยซ้ำจากปัญหาขาดยา
นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่า ในปี 2562 นี้ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯในฐานะที่เป็นโรงพยาบาลเชี่ยวชาญเฉพาะทางแม่ข่ายดูแลระบบบริการจิตเวชและสุขภาพจิตในเขตสุขภาพที่ 9 ประกอบด้วย 4 จังหวัด คือนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ หรือเรียกรวมว่าเขตสุขภาพนครชัยบุรินทร์ ได้ร่วมมือกับสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พัฒนาหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางในสาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวชชุมชน (Program of Nursing Specialty of Mental Health and Psychiatric Nursing in Community ) เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรในกลุ่มพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่อยู่ในเขตสุขภาพนี้ ให้มีความเชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพจิตและจิตเวชชุมชน สามารถให้บริการประชาชนที่มีปัญหาสุขภาพจิตในขั้นไม่รุนแรงได้อย่างครบวงจร เริ่มรุ่นแรกจำนวน 23 คน มั่นใจว่าจะเพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยรายใหม่ที่อยู่ในหมู่บ้านชุมชนได้มากขึ้น เพราะหากเข้าถึงได้เร็ว ก็จะมีโอกาสหายป่วยได้สูงขึ้น เช่นโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล เป็นต้น หากรายใดอาการรุนแรงจะมีระบบส่งต่อดูแลรักษาในรพ.จังหวัดหรือรพ.ศูนย์ในจังหวัดเดียวกัน หรือที่รพ.จิตเวชฯ จนอาการทุเลาลง
ขณะเดียวกันรพ.ชุมชนก็สามารถให้การดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการป่วยรุนแรง ซับซ้อนที่ได้รับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพจากรพ.จิตเวชฯที่แพทย์ประเมินว่าอาการทุเลาแล้ว ซึ่งโดยเฉลี่ยต่อวันจะมีการส่งต่อผู้ป่วยกลุ่มนี้กลับไปดูแลและรักษาอย่างต่อเนื่องที่ภูมิลำเนาประมาณ 14 คน จะสามารถแก้ปัญหาอาการป่วยกำเริบซ้ำจากการขาดยา อันเนื่องมาจากไม่สามารถเดินทางไปตรวจและรับยาเดิมตามนัดที่รพ.จิตเวชฯได้ เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีฐานะค่อนข้างยากจน และญาติมีภาระต้องทำงานเลี้ยงชีพไม่มีเวลาพาผู้ป่วยไปรับยา
"จากการสอบถามผู้ป่วยและญาติพบว่าการเดินทางไปรับยาแต่ละครั้ง ญาติต้องจ้างเหมาค่ารถโดยสารครั้งละ 800 – 1,000 บาท ต้องจ่ายค่าอาหารด้วยครั้งละ ประมาณ 200 – 300 บาท บางรายไม่ได้ประกอบอาชีพ การไปโรงพยาบาลชุมชนจะลดค่าเดินทางได้ประมาณร้อยละ 50-70 ที่ผ่านมารพ.จิตเวชฯได้จัดโครงการพัฒนาบุคลากรในโรงพยาบาลชุมชน ทั้งแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกรมาอย่างต่อเนื่อง สามารถให้การดูแลผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตได้"นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว
ทางด้านนางกุศลิน กัณหา หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพยาบาล รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ กล่าวว่า ตามหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางฯนี้ ใช้เวลาอบรม 4 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2562 สาระหลักจะเน้นการพยาบาลดูแลช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวช การตรวจประเมินสภาวะทางจิต การบำบัดทางจิตสังคม การดูแลต่อเนื่องในชุมชนทั้งภาคทฤษฎีและการปฏิบัติจริง เพื่อเกิดทักษะและประสบการณ์ สามารถให้บริการในเบื้องต้นอย่างมีคุณภาพมาตรฐาน รวมทั้งทำงานร่วมกันกับทีมสหวิชาชีพและเครือข่ายทีมหมอครอบครัวในชุมชนได้ อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ได้เข้าถึงข้อมูลความรู้ในการดูแลสุขภาพจิตของตนเองและเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตและจิตเวชเมื่อจำเป็นด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาชาวบ้านในภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางส่วนยังเข้าใจว่า ผู้ที่มีอาการทางจิต เป็นผีบ้า ไม่ใช่คนป่วย จึงไม่พาไปรักษา