กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
ภาษีสรรพสามิตในรอบ 6 เดือน (ตุลาคม 2561 – มีนาคม 2562) กรมสรรพสามิต จัดเก็บได้ 289,638.94 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน จำนวน 20,501.03 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.62 และสามารถจับกุมผู้กระทำผิด จำนวน 17,217 คดี คิดเป็นเงินค่าปรับ 264.62 ล้านบาท
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยถึงผลการจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตในรอบ 6 เดือน (ตุลาคม 2561 – มีนาคม 2562) ว่ากรมสรรพสามิตสามารถจัดเก็บได้รวม 289,638.94 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน (269,137.92 ล้านบาท) จำนวน 20,501.03 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.62
สำหรับรายได้ภาษีที่กรมสรรพสามิตสามารถจัดเก็บได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน จัดเก็บได้สูงสุด จำนวน 97,044.20 ล้านบาท 2) ภาษีรถยนต์ จัดเก็บได้ 70,811.50 ล้านบาท 3) ภาษีเบียร์ จัดเก็บได้ 36,753.51 ล้านบาท 4) ภาษียาสูบ จัดเก็บได้ 34,553.58 ล้านบาท 5) ภาษีสุรา จัดเก็บได้ 33,988.22 ล้านบาท
ด้านความคืบหน้ามาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบที่ได้รับผลกระทบจากการ ลดปริมาณการรับซื้อใบยาสูบ เฉพาะฤดูกาลผลิต 2561/2562 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้เพาะปลูกยาสูบ ปัจจุบัน ธกส. ดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีผู้ได้รับสิทธิ จำนวน 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 8, 11 และ 20 มีนาคม 2562 จำนวนทั้งสิ้น 12,658 ราย เป็นเงิน 112.38 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม ยสท. ยังเร่งตรวจสอบสิทธิกลุ่มเกษตรกรในส่วนที่เหลือ ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถจ่ายเงินเยียวยาทั้งหมดวันที่ 2 เมษายน 2562 สำหรับมาตรการในระยะยาว คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงการคลัง และ ยสท. ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการพิจารณาแนวทางการส่งเสริมเกษตรกรให้เพาะปลูกพืชชนิดอื่นแทนการปลูกยาสูบ หรือสนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกยาสูบที่มีความพร้อมปรับเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่นที่เหมาะสม โดยให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนที่จะเริ่มฤดูการผลิตในปี 2562/2563 เพื่อให้เกษตรกรที่จะได้รับผลกระทบมีเวลาเพียงพอในการปรับแผนการผลิต และเพื่อให้มีรายได้ทดแทนจากการจำหน่ายใบยาสูบที่ลดลง
อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวต่ออีกว่า ด้านแนวทางการพัฒนาการตรวจวิเคราะห์คุณภาพสุรา คณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการให้กรมสรรพสามิตเป็นผู้ตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพสุราให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งสุราที่ผลิตในประเทศและสุรานำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและสอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและตามหลักสากล ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตจึงได้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงการอนุญาตนำสุราเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2560 โดยขอแก้ไขข้อ 5 (2) จากเดิม "ส่งตัวอย่างสุราที่จะนำเข้ามาในราชอาณาจักรต่ออธิบดีเพื่อตรวจวิเคราะห์คุณภาพก่อนยื่นคำขอใบอนุญาต หรือส่งหนังสือรับรองผลการวิเคราะห์ตัวอย่างสุราดังกล่าว ว่ามีคุณสมบัติเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ..." เป็น "ส่งตัวอย่างสุราที่จะนำเข้ามาในราชอาณาจักรต่ออธิบดีเพื่อตรวจวิเคราะห์คุณภาพก่อนยื่นคำขอใบอนุญาต หรือส่งหนังสือรับรองผลการวิเคราะห์ตัวอย่างสุราดังกล่าวว่ามีคุณสมบัติเป็นไปตามมาตรฐานที่อธิบดีประกาศกำหนด ..." ซึ่งจะได้ออกประกาศกรมสรรพสามิต เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การตรวจวิเคราะห์คุณภาพสุราสำหรับสุราที่ผลิตในประเทศและสุรานำเข้าใหม่ตามแนวทางที่คณะทำงานฯ ได้ให้ความเห็นชอบ โดยแบ่งมาตรฐานในการตรวจวิเคราะห์คุณภาพสุราเป็น 4 มาตรฐาน ได้แก่ มาตรฐานไวน์ มาตรฐานสุราแช่อื่น มาตรฐานสุรากลั่น และมาตรฐานเบียร์ ต่อไป
สำหรับด้านมาตรการภาษีเพื่อลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 และมลพิษต่าง ๆ ที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ กรมสรรพสามิตนำปัจจัยเรื่องการปล่อยมลพิษฝุ่น PM มาเป็นหลักการในการกำหนดอัตราภาษีควบคู่ไปกับหลักการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โดยปรับลดอัตราภาษีรถยนต์กระบะ และรถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) หากมีค่าฝุ่น PM ไม่เกิน 0.005 กรัมต่อกิโลเมตร หรือรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทไบโอดีเซล ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 เป็นส่วนผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงได้ (บี 20) เพื่อยกระดับมาตรฐานการปล่อยมลพิษจากท่อไอเสียของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลจากมาตรฐาน ยูโร 4 (PM ไม่เกิน 0.025) ในปัจจุบัน เป็นมาตรฐาน ยูโร 5 (PM ไม่เกิน 0.005) ให้เร็วยิ่งขึ้น ประกอบกับมาตรการปรับลดอัตราภาษีรถยนต์แบบพลังงานไฟฟ้า (Electronic Powered Vehicle) ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จากปัจจุบันอัตราภาษีร้อยละ 2 ให้ลดลงเหลืออัตราร้อยละ 0 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 จนถึง 31 ธันวาคม 2565
อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับผลการตรวจค้นและจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายสรรพสามิตตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 โดยผลการปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายสรรพสามิตทั่วประเทศ ในรอบ 6 เดือน (ตุลาคม 2561 – มีนาคม 2562) ปีงบประมาณ 2562 พบว่ามีการกระทำผิด จำนวน 17,217 คดี คิดเป็นเงินค่าปรับ 264.62 ล้านบาท โดยแยกเป็นคดีสุรา จำนวน 10,054 คดี คิดเป็นเงินค่าปรับ 93.98 ล้านบาท คดียาสูบ จำนวน 4,701 คดี คิดเป็นเงินค่าปรับ 101.79 ล้านบาท คดีไพ่ จำนวน 477 คดี คิดเป็นเงินค่าปรับ 4.25 ล้านบาท น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน จำนวน 766 คดี คิดเป็นเงินค่าปรับ 27.94 ล้านบาท น้ำหอม จำนวน 60 คดี คิดเป็นเงินค่าปรับ 1.32 ล้านบาท รถจักรยานยนต์ จำนวน 875 คดี คิดเป็นเงินค่าปรับ จำนวน 17.30 ล้านบาท และสินค้าอื่น ๆ จำนวน 284 คดี รวมเป็นเงินค่าปรับ 18.05 ล้านบาท โดยมีของกลางแยกเป็นน้ำสุรา จำนวน 187,272.107 ลิตร ยาสูบ จำนวน 242,127 ซอง ไพ่ จำนวน 19,835 สำรับ น้ำหอม จำนวน 25,509 ขวด น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน จำนวน 580,365.170 ลิตร และถจักรยานยนต์ 865 คัน
"หากประชาชนท่านใดทราบเบาะแสการกระทำความผิดเกี่ยวกับสินค้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตสามารถแจ้งโดยตรงได้ที่กรมสรรพสามิต หรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือ Call center 1713 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่ www.excise.go.th หรือแจ้งที่ตู้ ป.ณ.10 เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300 ซึ่งกรมสรรพสามิตจะปกปิดข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสเป็นความลับ และจะมอบสินบนนำจับให้ ภายหลังจากคดีเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว"