กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ในฐานะผู้แทนจากประเทศไทย ได้เข้าร่วมประชุมที่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development) หรือ "โออีซีดี" ณ ศูนย์ประชุมสำนักงานใหญ่ของโออีซีดี กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Committee for Scientific and Technological Policy - CSTP) ครั้งที่ 114 และการประชุมโต๊ะกลมระดับสูงของคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (High-Level Roundtable of the CSTP) ในหัวข้อ การสร้างนโยบายทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เพื่อสังคม
ทั้งนี้ การจัดทำนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เพื่อมุ่งเป้าตามยุทธศาสตร์ชาติและการจัดทำระบบฐานข้อมูลการวิจัยที่เชื่อมโยงระดับประเทศนั้น มีความจำเป็นอย่างมากกับประเทศไทย โดยเฉพาะสำหรับการเตรียมการไปสู่การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการ สวทน. ได้รับเชิญเป็นผู้บรรยายในการขึ้นกล่าวในที่ประชุมระดับสูง ภายใต้หัวข้อ "การวิจัยมุ่งเป้า (Mission Oriented Program)" อีกทั้งยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้นำองค์กรด้านนโยบายจากทั่วโลก ซึ่ง สวทน. ในฐานะหน่วยนโยบาย พร้อมจะนำกรณีตัวอย่างมาปรับใช้ในการพัฒนานโยบายของประเทศต่อไป พร้อมกันนี้ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อเตรียมการวางระบบฐานข้อมูลการวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญด้านฐานข้อมูลของโออีซีดี โดยในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ให้ความร่วมมืออย่างต่อเนื่องกับการจัดทำข้อมูลด้านนโยบาย วทน. ภายใต้โครงการฐานข้อมูล วทน. และเข็มทิศนโยบาย วทน. (Science, Technology and Innovation Outlook and STIP Compass) กับโออีซีดี โดยเห็นได้จากข้อมูลของประเทศไทยที่ปรากฏอยู่บนฐานข้อมูลระดับโลก
ซึ่งการประชุมในครั้งนี้นับว่ามีความสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการประชุม โออีซีดี ที่ประเทศไทยมีผู้แทนเข้าร่วมประชุมในฐานะสมาชิก (Participant) นอกจากนี้ระหว่างการเข้าร่วมประชุม สวทน. ยังได้นัดหมายกับหน่วยงานภายใต้ โออีซีดี เพื่อหารือถึงการทำงานร่วมกันในการศึกษาเศรษฐกิจฐานชีวภาพในประเทศไทยอีกด้วย