กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ ThaiBev เป็นลบจากมีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (International Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) ของบริษัทฯ ที่ 'BBB-' อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาว ที่ 'AA(tha)' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิ ที่ 'AA(tha)'
การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ สะท้อนถึงความเสี่ยงที่การปรับลดอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ อาจมีความล่าช้ากว่าที่ฟิทช์เคยประมาณการไว้ เนื่องจากความต้องการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในประเทศปรับตัวลดลงในช่วงปีงบการเงินสิ้นสุดเดือนกันยายน 2561 (ปีงบการเงิน 2561) หลังจากที่บริษัทฯ มีการเข้าซื้อกิจการหลายกิจการในไตรมาสแรกของปีงบการเงิน 2561 ซึ่งเป็นเหตุให้อัตราส่วนหนี้สินฯ เพิ่มสูงขึ้น
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
การปรับลดอัตราส่วนหนี้สินล่าช้ากว่าที่คาด – ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สิน ซึ่งวัดโดยอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) ของ ThaiBev จะยังคงอยู่ในระดับสูง ประมาณ 4.5 – 5.5 เท่า ณ สิ้นปีงบการเงิน 2562 - 2564 ซึ่งสูงกว่าระดับที่ฟิทช์เคยคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 4.0 เท่า ภายในสิ้นปีงบการเงิน 2564 ถึงแม้ว่าจะเป็นการลดลงจากระดับสูงสุดที่ 8.3 เท่า ณ สิ้นปีงบการเงิน 2561 หลังจากการเข้าซื้อบริษัท Saigon Beer - Alcohol - Beverage Corporation (Sabeco) ในประเทศเวียดนาม บริษัท Myanmar Supply Chain and Marketing Services Co., Ltd และบริษัท Myanmar Distillery Co., Ltd. (รวมเรียกว่า Grand Royal Group หรือ GRG) ในประเทศเมียนมาร์ และร้าน KFC จำนวน 252 ร้านในประเทศไทย
ภายหลังจากการเข้าซื้อกิจการขนาดใหญ่ที่ผ่านมา ThaiBev ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถและการให้ความสำคัญต่อการลดระดับหนี้สิน และการรักษาอัตราส่วนหนี้สินให้อยู่ในระดับต่ำ สำหรับการเข้าซื้อกิจการครั้งล่าสุดที่ผ่านมา บริษัทฯ เน้นการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ Sabeco ให้สูงขึ้นเพื่อลดอัตราส่วนหนี้สินลง โดยยังไม่มีการประกาศแผนการลดหนี้อื่นๆ ThaiBev อาจใช้เวลาในการปรับลดอัตราส่วนหนี้สินลงให้ต่ำกว่า 4.0 เท่าได้เร็วขึ้น (อัตราส่วนหนี้สินที่เกินกว่า 4.0 เท่า เป็นระดับที่ฟิทช์จะพิจารณาปรับลดอันดับเครดิตของบริษัทฯ) หากธุรกิจใหม่ที่ซื้อมามีประสิทธิภาพในการดำเนินงานเพิ่มสูงขึ้น หรือบริษัทฯ มีการบริหารโครงสร้างเงินทุน หรือการปรับโครงสร้างสินทรัพย์
การฟื้นตัวของความต้องการสินค้าในประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป – ฟิทช์คาดว่าความต้องการอาหารและเครื่องดื่มในประเทศที่เติบโตในไตรมาสแรกของปีงบการเงิน 2562 จะเติบโตต่อเนื่องในช่วงสองถึงสามปีข้างหน้า โดยได้รับการสนับสนุนจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการออกสินค้าใหม่ๆ ปริมาณการจำหน่ายเบียร์ภายในประเทศของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมมีการเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 8 ในช่วงเดือนตุลาคม 2561 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 (ห้าเดือนแรกของปีงบการเงิน 2562) เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากที่ลดลงร้อยละ 12 ในช่วงปีงบการเงิน 2561 ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ได้แก่ น้ำดื่ม โซดา น้ำอัดลม และน้ำผลไม้ ก็เติบโตขึ้นเช่นกันในช่วงห้าเดือนแรกของปีงบการเงิน 2562 ในอัตราร้อยละ 2, ร้อยละ 4, ร้อยละ 9 และร้อยละ 15 ตามลำดับ
อัตราส่วนกำไรที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป – ฟิทช์คาดว่า กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ ThaiBev จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูงกว่า 4.0 หมื่นล้านบาท ในปีงบการเงิน 2562 จาก 3.3 หมื่นล้านบาท ในปีงบการเงิน 2561 อัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้สุทธิหลังหักภาษีสรรพสามิต (EBITDA margin) น่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 27-28 ในปีงบการเงิน 2562 ดีขึ้นจากร้อยละ 24 ในปีงบการเงิน 2561 ฟิทช์มองว่าการฟื้นตัวดังกล่าวจะเป็นการฟื้นตัวในทุกธุรกิจหลัก โดยในปีงบการเงิน 2562 กระแสเงินสดจากการรับรู้ผลประกอบการเต็มปีของ Sabeco และร้าน KFC ที่ซื้อมาเมื่อเดือนธันวาคม 2560 รวมถึงการขยายสาขาใหม่ของ KFC ในปี 2561 จะช่วยเพิ่มการเติบโตของยอดขายและกำไรของบริษัทฯ
สถานะทางธุรกิจที่ดีขึ้น – การเข้าซื้อกิจการในประเทศเวียดนามและเมียนมาร์ของ ThaiBev ช่วยขยายขนาดธุรกิจของบริษัทฯ และช่วยให้มีการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์ที่ดีขึ้น โดยสัดส่วน EBITDA จากประเทศไทยน่าจะลดลงเหลือต่ำกว่าร้อยละ 80 ในปีงบการเงิน 2562 จากเดิมที่สูงกว่าร้อยละ 90 ในปีงบการเงิน 2560 อันดับเครดิตของ ThaiBev ได้รับการสนับสนุนจากการเป็นผู้นำในตลาดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในประเทศไทย เมียนมาร์ และเวียดนาม ธุรกิจสุราภายในประเทศยังคงเป็นจุดแข็งที่สำคัญของบริษัทฯ ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดกว่าร้อยละ 90 การมีอุปสรรคในการเข้าสู่อุตสาหกรรมที่สูง และ EBITDA Margin อยู่ในระดับสูงกว่าร้อยละ 50 นอกจากนี้ ตราสินค้าที่เป็นที่ยอมรับในตลาดและเครือข่ายการจัดจำหน่ายสินค้าที่กว้างขวางก็เป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญต่อความแข็งแกร่งทางธุรกิจของ ThaiBev
กิจการที่บริษัทฯ เข้าซื้อทั้งสองบริษัท ได้แก่ Sabeco และ GRG ต่างเป็นผู้นำตลาดในประเทศของตนเอง โดย Sabeco มีส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดเบียร์ของประเทศเวียดนามวัดจากปริมาณการขายที่ประมาณร้อยละ 40 ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา ในขณะที่ GRG เป็นผู้นำตลาดวิสกี้ในประเทศเมียนมาร์ โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ประมาณร้อยละ 70 เวียดนามเป็นตลาดเบียร์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นหนึ่งในห้าประเทศที่มีปริมาณการบริโภคเบียร์สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ฟิทช์เชื่อว่าตลาดเบียร์ในเวียดนามมีศักยภาพในการเติบโตสูง เนื่องจากความนิยมในการดื่มเบียร์และเป็นประเทศที่มีอายุเฉลี่ยของประชากรค่อนข้างน้อย ส่วนตลาดสุราในประเทศเมียนมาร์ การบริโภควิสกี้ยังคงน้อยกว่าการบริโภคสุราขาว และมีการแข่งขันอยู่ในระดับปานกลางระหว่างผู้ผลิตรายใหญ่ 3 รายในประเทศ
ส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยใน Sabeco – ในการพิจารณาอันดับเครดิตของ ThaiBev ฟิทช์มองว่า ThaiBev และ Sabeco มีความสัมพันธ์ในด้านการดำเนินงานและกลยุทธ์ทางธุรกิจในระดับสูง แม้ว่าบริษัทฯ จะถือหุ้นใน Sabeco ในสัดส่วนร้อยละ 53.6 ฟิทช์พิจารณารวมสถานะการทางการเงินและผลการดำเนินงานทั้งหมดของ Sabeco เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ ThaiBev ซึ่งในการคำนวณกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO) จะนำเงินปันผลที่จ่ายให้กับผู้ถือหุ้นส่วนน้อยมาหักออก นอกจากนี้ ในกรณีนี้ ฟิทช์ยังถือว่าเงินสดในมือของ Sabeco (จำนวนประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปีงบการเงิน 2561) ในสัดส่วนตามการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นส่วนน้อย เป็นเงินสดที่มีภาระผูกพันซึ่งไม่สามารถนำมาเป็นรายการหักในการคำนวณหนี้สินสุทธิได้
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
อันดับเครดิตของ ThaiBev สะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำในตลาดสุราและเบียร์ในประเทศไทย เวียดนาม และเมียนมาร์ ซึ่งช่วยชดเชยการที่บริษัทฯ มีการกระจายตัวทางภูมิศาสตร์ที่น้อยกว่าและมีขนาดธุรกิจที่เล็กกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ ทั่วโลกที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิตในช่วงอันดับเครดิตใกล้เคียงกัน โดยสถานะทางธุรกิจของ ThaiBev ใกล้เคียงกับ Molson Coors Brewing Company (Molson Coors, อันดับเครดิต BBB- แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ถึงแม้ว่า Molson Coors จะมีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่า และมีการกระจายตัวทางภูมิศาสตร์ที่ดีกว่า แต่ก็มีความกระจุกตัวในตลาดอเมริกาเหนือ ThaiBev มีสถานะทางการเงินที่ใกล้เคียงกับ Molson Coors โดยทั้งคู่มีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงเนื่องจากการเข้าซื้อกิจการโดยใช้หนี้เป็นแหล่งเงินทุน อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในการปรับลดอัตราส่วนหนี้สินที่อาจจะล่าช้าออกไปของ ThaiBev ส่งผลให้บริษัทฯ มีแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ
เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิตภายในประเทศ สถานะทางเครดิตของ ThaiBev อยู่ในระดับต่ำกว่า บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS, อันดับเครดิต 'AA+(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งมีสถานะทางธุรกิจใกล้เคียงกัน โดยทั้งสองบริษัทครองตำแหน่งผู้นำในอุตสาหกรรมของตน โดย ThaiBev มีการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์ที่ดีกว่า อันดับเครดิตของ ThaiBev ต่ำกว่าของ AIS หนึ่งอันดับ เนื่องจากความเสี่ยงทางการเงินที่สูงกว่า
เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คแซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC, อันดับเครดิต AA(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ซึ่งมีสถานะทางเครดิตโดยลำพังที่ AA-(tha)) และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC, อันดับเครดิต AA(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ซึ่งมีสถานะทางเครดิตโดยลำพังที่ AA-(tha)) ThaiBev มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่ามาก โดย ThaiBev มีฐานะความเป็นผู้นำตลาด มีกระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash flow หรือ FCF) ที่แข็งแกร่ง โดยอัตราส่วน FCF ต่อรายได้สุทธิ (หลังหักภาษีสรรพสามิต) อยู่ที่ระดับร้อยละ 8 รวมถึงการเผชิญกับการแข่งขันทางธุรกิจที่ต่ำกว่า DTAC ต้องเผชิญการแข่งขันที่สูงในธุรกิจโทรคมนาคมของไทย ในขณะที่ PTTGC มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่มีความผันผวนตามวัฏจักรของธุรกิจมากกว่า ThaiBev ซึ่งเป็นผลจากความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอัตรากำไรในธุรกิจการกลั่นน้ำมัน ทั้ง DTAC และ PTTGC มี FCF เป็นลบเป็นส่วนใหญ่ตลอดช่วงวัฏจักรของธุรกิจ ซึ่งเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายลงทุนที่สูงในธุรกิจโทรคมนาคม และความผันผวนของความต้องการเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจปิโตรเคมี ดังนั้น ThaiBev จึงได้รับการจัดอันดับเครดิตที่สูงกว่าหนึ่งระดับ อย่างไรก็ตาม หาก ThaiBev ไม่สามารถลด FFO adjusted net leverage ให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 4.0 เท่าได้ อาจส่งผลให้อันดับเครดิตภายในประเทศของบริษัทฯ ลดลงเกินกว่าหนึ่งอันดับได้
สมมุติฐานที่สำคัญ
- รายได้สุทธิ (ไม่รวมภาษีสรรพสามิต) จากธุรกิจในประเทศไทยเติบโตขึ้นในอัตราร้อยละ 10-12 ในปีงบการเงิน 2562 และในอัตราร้อยละ 2-5 ต่อปีในปีงบการเงิน 2563-2564
- รายได้สุทธิ (ไม่รวมภาษีสรรพสามิต) ของ GRG และ Sabeco ที่ระดับ 5.0 - 6.0 หมื่นล้านบาท ต่อปี ในปีงบการเงิน 2562-2564
- EBITDA margin (โดยคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้สุทธิ) สำหรับธุรกิจในประเทศไทย ดีขึ้นมาอยู่ในระดับร้อยละ 30-33 ในปีงบการเงิน 2562-2564 โดย EBITDA margin อยู่ในระดับร้อยละ 50-55 สำหรับธุรกิจสุรา; ร้อยละ 15-20 สำหรับธุรกิจเบียร์; ต่ำกว่าร้อยละ 3 สำหรับธุรกิจเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์; ร้อยละ 13-15 สำหรับธุรกิจอาหาร ในปีงบการเงิน 2562-2564
- EBITDA margin (โดยคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้สุทธิ) ของ GRG ลดลงจากค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่สูงขึ้น ในปีงบการเงิน 2562-2564
- EBITDA margin (โดยคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้สุทธิ) ของ Sabeco อยู่ที่ระดับ ร้อยละ 17-19 ในปีงบการเงิน 2562-2564
- ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน 5.5-7.5 พันล้านบาทต่อปี ในปีงบการเงิน 2562-2564 (ไม่รวมการเข้าซื้อกิจการ)
- ลดอัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) ในปีงบการเงิน 2562-2564
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:
- แนวโน้มอันดับเครดิตอาจกลับมามีเสถียรภาพได้หาก ThaiBev มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่สูงกว่าที่คาด หรือมีการปรับโครงสร้างเงินทุนเพื่อลดระดับหนี้สินของบริษัทฯ ซึ่งส่งผลให้ FFO adjusted net leverage ปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 4.0 เท่า ณ สิ้นปีงบการเงิน 2564
ปัจจัยลบ:
- บริษัทฯ ไม่สามารถลด FFO adjusted net leverage ให้ลงมาอยู่ในระดับประมาณ 4.0 เท่า ได้ในปีงบการเงิน 2564
- มีหลักฐานหรือเหตุการณ์ที่แสดงถึงตำแหน่งทางการตลาด หรือประสิทธิภาพในการดำเนินงาน หรืออำนาจในการต่อรองราคา ที่อ่อนแอลง ส่งผลให้มีอัตราการเติบโตของรายได้และอัตรากำไรที่อ่อนแออย่างต่อเนื่อง
สภาพคล่อง
การชำระคืนหนี้เสร็จสิ้นและสภาพคล่องที่อยู่ในเกณฑ์ดี: ThaiBev มีหนี้ที่ครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้านับจากสิ้นเดือนธันวาคม 2561 จำนวน 8.2 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะสั้นและระยะยาว และหนี้สำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งรวมถึงหนี้ระยะสั้นที่เกิดจากการเข้าซื้อกิจการจำนวน 7.1 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ชำระคืนหนี้จำนวนนี้ครบถ้วนแล้วก่อนกำหนดในไตรมาสที่สองของปีงบการเงิน 2562 โดยแหล่งเงินทุนส่วนใหญ่มาจากการออกหุ้นกู้ระยะยาวภายในประเทศ สภาพคล่องของ ThaiBev ได้รับการสนับสนุนจาก ความน่าเชื่อถือของบริษัทฯ ในฐานะบริษัทในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใหญ่ที่สุด และเป็นหนึ่งในสิบบริษัทที่มีมูลค่าตามราคาตลาดในตลาดหลักทรัพย์สูงสุด ในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศสิงคโปร์ บริษัทฯ มีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ และมีประวัติที่ดีในการเข้าถึงเงินทุนผ่านตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ