กรุงเทพฯ--11 เม.ย.--นิด้าโพล
เนื่องในวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี ตรงกับวันผู้สูงอายุ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" ร่วมกับ ศูนย์วิจัยสังคมสูงอายุ (Center for Aging Society Research – CASR) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็น เรื่อง "ผู้สูงอายุไทยซึมเศร้าหรือไม่" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 1 – 2 เมษายน 2562 จากผู้สูงอายุไทยที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค จำนวน 1,265 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าของผู้สูงอายุไทย การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0
จากการสำรวจภาวะซึมเศร้าของผู้สูงอายุโดยใช้ข้อคำถามทดสอบภาวะซึมเศร้า PHQ-9 นำเกณฑ์มาจาก ศ.นพ.มาโนช หล่อตระกูล คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ร้อยละ 71.54 ระบุว่า ไม่มีภาวะซึมเศร้า (0 - 4 คะแนน) รองลงมา ร้อยละ 17.00 ระบุว่า มีความผิดปกติแต่ยังไม่มีภาวะซึมเศร้า (5 - 8 คะแนน) ร้อยละ 9.09 ระบุว่า มีภาวะซึมเศร้าเล็กน้อย (9 - 14 คะแนน) ร้อยละ 1.74 ระบุว่า มีภาวะซึมเศร้าปานกลาง (15 - 19 คะแนน) และร้อยละ 0.63 ระบุว่า มีภาวะซึมเศร้ารุนแรง (≥ 20 คะแนน)
ส่วนการแก้ไขปัญหาของผู้สูงอายุในช่วงเวลาที่มีภาวะซึมเศร้า (ถามเฉพาะผู้สูงอายุที่มีอาการอย่างน้อยหนึ่งข้อตามแบบทดสอบ ภาวะซึมเศร้า PHQ-9) พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 46.34 ระบุว่า ออกกำลังกาย รองลงมา ร้อยละ 41.04 ระบุว่า ออกไปพบปะเพื่อนฝูง หรือสังสรรค์กับเพื่อน ร้อยละ 36.67 ระบุว่า พูดคุยกับสมาชิกในครอบครัว (คู่สมรส ลูกหลาน ญาติ เป็นต้น) ร้อยละ 6.72 ระบุว่า เล่น Line ร้อยละ 6.49 ระบุว่า เข้าวัด ไหว้พระ ทำบุญ นั่งสมาธิ ฟังธรรม ร้อยละ 5.31 ระบุว่า ดูโทรทัศน์/ฟังวิทยุ ร้อยละ 4.48 ระบุว่า เล่น Facebook ร้อยละ 3.89 ระบุว่า ปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ ทำความสะอาดบ้าน ร้อยละ 3.07 ระบุว่า ทำงานอาสาสมัคร ร้อยละ 2.59 ระบุว่า ไปเที่ยวพักผ่อน และร้อยละ 0.35 ระบุว่า ไปพบแพทย์
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงการติดต่อขอความช่วยเหลือจาก "สายด่วนสุขภาพจิต 1323" ของผู้สูงอายุในช่วงเวลาที่มีภาวะซึมเศร้า (ถามเฉพาะผู้สูงอายุ ที่มีอาการอย่างน้อยหนึ่งข้อตามแบบทดสอบภาวะซึมเศร้า PHQ-9) พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ร้อยละ 98.11 ระบุว่า ไม่เคยโทรติดต่อขอความช่วยเหลือ ขณะที่ ร้อยละ 1.89 ระบุว่า เคยโทรติดต่อขอความช่วยเหลือ
ซึ่งในจำนวนของผู้ที่ระบุว่า ไม่เคยโทรติดต่อขอความช่วยเหลือจาก "สายด่วนสุขภาพจิต 1323" พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ร้อยละ 84.86 ระบุว่า ไม่รู้ว่าเป็นสายด่วนสุขภาพจิต รองลงมา ร้อยละ 7.93 ระบุว่า รู้ว่าเป็นสายด่วนสุขภาพจิต แต่ไม่มั่นใจว่าจะช่วยแก้ปัญหาให้ได้ และร้อยละ 7.21 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ยังไม่ได้มีภาวะซึมเศร้าจนต้องโทรติดต่อขอความช่วยเหลือ/แก้ปัญหาด้วยตัวเอง/ปรึกษาคนรอบข้าง ส่วนในจำนวนของผู้ที่ระบุว่า เคยโทรติดต่อขอความช่วยเหลือจาก "สายด่วนสุขภาพจิต 1323" พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ร้อยละ 87.50 ระบุว่า รู้ว่าเป็นสายด่วนสุขภาพจิต และร้อยละ 12.50 ระบุว่า รู้ว่าเป็นสายด่วนสุขภาพจิต และเชื่อมั่นว่าจะช่วยแก้ปัญหาให้ได้
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 9.33 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 24.98 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 20.32 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 32.09 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.28 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 56.29 อยู่ในเขตเมือง/ในเขตเทศบาล ร้อยละ 36.60 อยู่ในเขตชนบท/นอกเขตเทศบาล และร้อยละ 7.11 ไม่ระบุเขตที่อยู่ ตัวอย่างร้อยละ 50.75 เป็นเพศชาย ร้อยละ 49.17 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.08 เป็นเพศทางเลือก
ตัวอย่างร้อยละ 60.95 มีอายุ 60 - 69 ปี และร้อยละ 39.05 มีอายุ 70 - 79 ปี ตัวอย่างร้อยละ 94.94 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 2.21 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.66 นับถือศาสนาคริสต์ /ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 1.19 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 4.19 ระบุว่า สถานภาพโสด ร้อยละ 85.61 สมรสแล้ว ร้อยละ 8.86 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 1.34 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่าง ร้อยละ 2.77 ไม่ได้รับการศึกษา ร้อยละ 55.57 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 18.58 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 4.27 จบการศึกษาอาชีวะศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 17.47 จบการศึกษาอุมดมศึกษาหรือเทียบเท่า และร้อยละ 1.34 ไม่ระบุการศึกษา