กรุงเทพฯ--11 เม.ย.--สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
โดย การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
"ชาวบ้านต้องการฟื้นฟูป่า ไม่อยากเห็นเขาหัวโล้นจะต้องทำอย่างไร และถ้าจะไม่ให้ชาวบ้านปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แล้วจะให้เขาปลูกอะไร งานวิจัยมีทางออกให้ไหม" คือเสียงสะท้อนจากชาวบ้านบ้านก้างปลาเมื่อกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันหมู่บ้านก้างปลาได้พัฒนาเป็นหมู่บ้านต้นแบบโดยใช้เกษตรทางเลือกเป็นตัวขับเคลื่อนและต้นแบบการสร้าง Smart Farmer ล่าสุดได้รับการประกาศเป็นหมู่บ้านต้นแบบการจัดการป่าชุมชนของอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และความสำเร็จดังกล่าวกำลังถูกยกระดับเป็น "ด่านซ้ายโมเดล" เพื่อเป็นแนวทางในการลดปัญหาเขาหัวโล้นจากระดับชุมชนสู่ระดับอำเภอต่อไป
หมู่บ้านก้างปลา ตั้งอยู่ห่างตัวเมืองด่านซ้าย ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ราว 4-5 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านขนาดเล็กที่มีประชากรเพียง 223 คน 76 ครัวเรือน ในอดีตชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ส่วนใหญ่ปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือน ต่อมาได้ขยายพื้นที่ทำกินเข้าไปยังผืนป่า เพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวโดยเฉพาะการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นเวลาต่อเนื่องนับสิบๆ ปี และชาวบ้านยังขยายพื้นที่ทำกินเข้าไปยังผืนป่ามากขึ้นทุกปีๆ โดยเฉพาะในปีที่ผลผลิตขายได้ราคาสูง จนทำให้ภูเขารอบหมู่บ้านเปลี่ยนเป็นเขาหัวโล้น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จึงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ฐานทรัพยากรอาหารของชุมชนเกิดภาวะเปราะบางเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงทางอาหาร ทั้งในแง่การทำลายผืนป่าและแหล่งอาหารทางธรรมชาติ เกิดภาวะหนี้สินซ้ำซาก เกิดความเสี่ยงต่อรายได้ที่จะได้รับ ตลอดจนยังเผชิญกับปัญหาเรื่องของสุขภาพเนื่องจากการใช้สารเคมีทางการเกษตรเป็นจำนวนมากและเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างขาดความรู้และความเข้าใจ
จากโจทย์ความต้องการของชุมชนทำให้คณะวิจัยมุ่งหาแนวทางฟื้นฟูและจัดการฐานทรัพยากรอาหารของชุมชน (ดิน น้ำ และป่า) ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญสุดในการทำการเกษตรให้เกิดความยั่งยืน การสร้างความตระหนักเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องไกลตัวของชาวบ้าน และการใช้กระบวนการฟื้นฟูไม่สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยวิธีการบังคับสั่งการหรือห้ามไม่ให้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่า ซึ่งจะทำให้เกิดความขัดแย้งเกิดขึ้นได้ แต่ต้องใช้การพัฒนาที่ระเบิดมาจากคนในท้องถิ่น
ด้วยวิถีชีวิตคนด่านซ้ายมากกว่าร้อยละ 90 ประกอบอาชีพทำการเกษตร ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงใช้เรื่องราวเกี่ยวกับมิติเชิงเกษตรซึ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับมิติด้านสุขภาพ นำมาสู่การพัฒนาโครงการที่นำเกษตรทางเลือกแบบผสมผสาน มาใช้เป็นแนวทางหนึ่งในการฟื้นฟูทรัพยากรอาหาร (ดิน น้ำ ป่า) ของอำเภอด่านซ้าย ภายใต้โครงการ Smart Farmer เกษตรทางเลือกและความมั่นคงทางอาหาร (ปี 2559-2560) และ โครงการการเพิ่มศักยภาพเกษตรกรและหมู่บ้านต้นแบบการผลิต และการตลาดสีเขียวมาตรฐานด่านซ้ายกรีนเนท โดยประยุกต์แนวทางระบบการรับรองมาตรฐานอย่างมีส่วนร่วม อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย (ปี 2560-2561) โดยการสนับสนุนทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ถือเป็นบันไดที่ก้าวไปสู่ "ด่านซ้ายโมเดล" ที่มีเป้าหมายเพื่อลดปัญหาเขาหัวโล้น
รศ.ดร. เอกรินทร์ พึ่งประชา จากภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า "ป่าเป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญ แต่การจะปรับเปลี่ยนความคิดของชาวบ้านไม่ใช่เรื่องง่าย
ต้องเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป ต้องใช้เวลา และต้องอาศัยกระบวนการทางสังคม เพราะเงื่อนไขของแต่ละสังคมแต่ละชุมชนแตกต่างกัน เราจึงต้องเรียนรู้บริบทของชุมชนด้วย และการตั้งสมมติฐานเบื้องต้นว่าเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์คือคนทำลายป่าทำให้เกิดเขาหัวโล้น เท่ากับเรามีมุมมองที่อคติต่อชาวบ้าน เราก็จะไม่สามารถเดินเข้าหาชุมชนได้ เพราะการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้น มีปัจจัยหลายอย่างที่ให้ชาวบ้านจำเป็นต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตมาปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว ดังนั้น การจะพัฒนาจึงต้องระเบิดจากคนในชุมชน"
โครงการนี้ ใช้เกษตรทางเลือกเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อน เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการผลิตทางการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ ลด ละ เลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร โดยการสร้าง "ตลาดพืชผักปลอดภัยมาตรฐาน Dansai Green Net หรือ ตลาดสีเขียว"ขึ้นรองรับ และการสร้างระบบ PGS มาตรฐานการรับรองแบบมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อให้ผลผลิตทางการเกษตรเป็นที่เชื่อถือและสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค เป็นแนวทางการจัดการป่าชุมชนและฟื้นฟูฐานทรัพยากรอาหาร ที่ประสบความสำเร็จและเห็นผลเป็นรูปธรรมที่บ้านก้างปลา จึงนำมาสู่การยกระดับเป็นด่านซ้ายโมเดล และกำลังขับเคลื่อนโมเดลนี้ไปยังชุมชนอื่นๆ ของอำเภอต่อไป
สำหรับแนวทางการดำเนินงาน ประกอบไปด้วยกิจกรรมต่างๆ หลากหลายมิติ ที่เรียกว่า กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม หรือ Participatory Action Research (PAR) ที่ใช้กิจกรรมเป็นตัวเคลื่อนไหวในชุมชน โดยการสร้างกระแสเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จากปฏิบัติการทางสังคมในการดึงศักยภาพผู้หญิงและเยาวชนเข้ามาเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ของป่า เกิดความรักและห่วงแหนป่ามากขึ้น และลดความขัดแย้งของคนในชุมชน อาทิ กิจกรรมผู้หญิงกับบทบาทในการขับเคลื่อน ตลาดสีเขียว , การสร้างแบรนด์ด่านซ้ายกรีนเนท และระบบ PGS แบบมีส่วนร่วมของชุมชน , กิจกรรมป่ากับเยาวชนและนักสืบสายน้ำ เป็นต้น โดยมีเครือข่ายพันธมิตรในพื้นที่เข้าร่วมในฐานะนักวิจัยท้องถิ่น ประกอบด้วย คณะวิจัยจากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฎเลย เข้ามาจัดทำฐานข้อมูลของชุมชน เพื่อใช้อ้างอิงในเชิงวิทยาศาสตร์สามารถใช้ต่อรองกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชนรอบข้าง และคณะวิจัยจากโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย ที่ใช้เรื่องของมิติทางสุขภาพ เพื่อกระตุ้นให้ผู้หญิงเกิดความตระหนักถึงสุขภาวะของคนในครอบครัวโดยสร้างการรับรู้ถึงความปลอดภัยของอาหาร และการหันมาให้ความสำคัญกับการเลือกบริโภคมากขึ้น
รศ.ดร. เอกรินทร์ กล่าวว่า ทุกกิจกรรมที่กล่าวมาจะต้องให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้และตระหนักต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ประการสำคัญสุด คือ การขับเคลื่อนจำเป็นต้องเข้าใจสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของคนไทด่าน (คำพื้นถิ่นที่เรียกคนด่านซ้ายที่มีรากฐานมาจากวัฒนธรรมลาวหลวงพระบาง) โดยเฉพาะ "วัฒนธรรมพานำ" ซึ่งนอกจากผู้นำหรือผู้ใหญ่บ้านเกษตรกรต้นแบบจะมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในชุมชนแล้ว ผู้หญิงยังมีส่วนสำคัญและเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังในการตัดสินใจปัญหาต่างๆภายในครัวเรือนมาโดยตลอด โดยผลการศึกษาระบุชัดว่า ผู้หญิงไทด่าน มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการพัฒนาชุมชนในมิติด้านการจัดการฐานทรัพยากรอาหารของชุมชนทั้งด้านการผลิต ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจและสังคม พลังของผู้หญิงเป็นกลไกเชื่อมประสานสู่แนวทางการปฏิบัติของครัวเรือน และชุมชนในมิติทางการเกษตรทั้งระบบ ถือเป็น Agent change ที่สามารถพัฒนาการทำเกษตรทางเลือกไปสู่ความยั่งยืนได้
สำหรับการจัดทำป่าชุมชนบ้านก้างปลา รศ.ดร. เอกรินทร์ กล่าวว่า จากบทเรียนเมื่อปี 2559 ในโครงการจัดการลุ่มน้ำหมันที่มีความพยามที่จะจัดตั้งป่าชุมชนขึ้นที่หมู่บ้านแห่งนี้ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ยอมรับว่าการจัดตั้งป่าชุมชนมักสร้างความหวาดระแวงให้กับคนในชุมชน เพราะชาวบ้านไม่เข้าใจถึงกระบวนการจัดการป่าชุมชนจึงเกรงว่า
พื้นที่ทำเกษตรจะถูกยึดคืนและเกรงว่าจะมีความผิดฐานบุกรุกป่าสงวน บทเรียนดังกล่าวทำให้เรียนรู้ว่า กลยุทธ์สำคัญในการขับเคลื่อนการจัดตั้งป่าชุมชนนั้นจำเป็นต้องอาศัยเครือข่ายในการจัดทำกิจกรรมภายในชุมชนอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น การดำเนินการขับเคลื่อนป่าชุมชนในโครงการนี้ จึงได้ถอดบทเรียนจากโครงการดังกล่าวแล้วนำมาแก้ไข โดยสร้างเครือข่ายผ่านกิจกรรมนักสืบสายน้ำ เยาวชนกับการศึกษาป่าชุมชน ที่จัดทำโดยคณะวิจัยจากโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย ซึ่งเด็กจะได้นำสิ่งที่ได้เรียนรู้นิเวศน์รอบตัวจากการสำรวจพื้นที่ไปบอกเล่าให้กับคนในครอบครัว และเกิดการเชื่อมโยงของคนต่างวัย ทำให้ชาวบ้านได้รับรู้ถึงโครงการอย่างค่อยเป็นค่อยไป อีกทั้งยังทำให้เด็กรุ่นใหม่ที่ไม่เคยสัมผัสพื้นที่ป่าชุมชนในหมู่บ้าน เมื่อมีการเปิดพื้นที่ตรงนี้ทำให้เด็กๆ ได้ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์และสร้างประสบการณ์ชีวิตผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ กลายเป็นกิจกรรมที่ถูกส่งต่อจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้องต่อต่อไป ที่สำคัญยังเชื่อมโยงข้อมูลจากการสำรวจฐานทรัพยากรอาหาร และถ่ายทอดข้อมูลคืนผลงานวิจัยสู่ชุมชน เพื่อทำให้ชาวบ้านเห็นผลกระทบของการบุกรุกป่าต้นน้ำที่มีผลต่อการทำการเกษตร โดยเฉพาะทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้ กิจกรรมดังกล่าวส่งผลทำให้ชาวบ้านเกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญของป่าชุมชนและแหล่งป่าต้นน้ำ
ขณะที่คณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฎเลย ดำเนินการสำรวจฐานทรัพยากรของชุมชนเพื่อจัดทำฐานข้อมูล มีการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรป่าไม้ สภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณรอบป่าชุมชน และการกักเก็บคาร์บอน ผลการศึกษาพบว่า ป่าชุมชนบ้านก้างปลามีพื้นที่สภาพป่าเป็นป่าเบญจพรรณผสมป่าดิบแล้ง และมีชนิดพรรณป่าไม่น้อยกว่า 136 ชนิด อีกทั้งจากการศึกษาสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดิน เปรียบเทียบระหว่างปี 2545 และ 2560 พบว่า มีพื้นที่เกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 295 ไร่ คิดเป็น ร้อยละ0.60 พื้นที่ป่าลดลง 315 ไร่ คิดเป็นร้อยละ0.64 พื้นที่สิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้น 10 ไร่ คิดเป็นร้อยละ0.02 และพื้นที่แหล่งน้ำเพิ่มขึ้น 10 ไร่ คิดเป็นร้อยละ0.02
รศ.ดร. เอกรินทร์ กล่าวว่า "จากผลการศึกษาดังกล่าว ได้สร้างความตระหนักแก่คนในชุมชนหันมาอนุรักษ์และเกิดความห่วงแหทรัพยากรป่าชุมชนกันมากขึ้น โดยผู้นำชุมชนได้จัดประชุมชาวบ้านขึ้น และทุกครัวเรือนจึงมีมติให้มีการกำหนดแนวเขตพื้นที่ป่าชุมชนของหมู่บ้าน โดยจะต้องไม่กระทบกับสมาชิกในชุมชนและพื้นที่ป่าที่ยังเหลืออยู่"
ด้าน นายวิโรจน์ อินทร์วงษ์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ม.5 บ้านก้างปลา ในฐานะนักวิจัยชุมชน กล่าวถึงความคืบหน้าว่า "ปัจจุบันได้มีการปรับปรุงคณะกรรมการป่าชุมชน เพื่อดูแลและฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรม โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้มีการเข้าไปสำรวจป่าและได้มีการปลูกต้นไม้เพิ่ม ทำให้สภาพป่ากว่า 200 ไร่ของชุมชนเริ่มกลับมาดีขึ้น มีเห็ด มีหน่อไม้ ที่ ทุกคนในชุมชนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนของหมู่บ้านได้ภายใต้กฎกติกาที่ชุมชนร่วมกันกำหนดขึ้น"
ทั้งนี้ กระบวนการหรือแนวทางการการจัดการป่าชุมชนบ้านก้างปลา เกิดจากการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเลือกพื้นที่ป่า การเดินกำหนดแนวเขต มีการตั้งคณะกรรมป่าชุมชน มีการตั้งกฎกติกาข้อกำหนดและกฎระเบียบร่วมกันการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชุมชน หลังจากโครงการฯ คืนข้อมูลให้กับชุมชนแล้วจึงได้จัดเวทีประชาคมร่วมกับชาวบ้านเกี่ยวกับ "แนวทางจัดตั้งป่าชุมชนบ้านก้างปลา" โดยมี ดร.ประยูร อรัญรุท นายอำเภอด่านซ้าย (คนก่อน) และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่ดูแลเขตพื้นที่อำเภอด่านซ้ายเข้าร่วมและในที่สุดก็สามารถจัดตั้งป่าชุมชนบ้านก้างปลาได้สำเร็จ โดยกรมป่าไม้ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่มาจัดทำแนวเขตรังวัดขึ้นรูปแปลงพื้นที่ป่านชุมชนบ้านก้างปลาอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยใช้แนวเขตตามความต้องการของคนในชุมชน และเป็นที่ยอมรับร่วมกันของทุกฝ่าย จึงนับเป็นผลดีต่อคนในชุมชนและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี ซึ่งผลสำเร็จดังกล่าวจะเป็นต้นแบบของแนวทางการจัดทำป่าชุมชนให้กับชุมชนอื่นๆ ในพื้นที่อำเภอด่านซ้ายต่อไป.