กรุงเทพฯ--11 เม.ย.--มรภ.สงขลา
สำนักศิลปะฯ มรภ.สงขลา เจ้าภาพจัดประชุมประจำปีภาคีหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม ผนึกท้องถิ่น-เครือข่ายตัวแทน 76 จังหวัด ร่วมขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย
นายโอภาส อิสโม ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงการประชุมประจำปีภาคีหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมกลุ่มจังหวัด ณ โรงแรม บีพี สมิหลาบีช จ.สงขลา เมื่อเร็วๆ นี้ว่า วัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้มีการพัฒนาการดำเนินงานของหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติศิลปกรรมท้องถิ่นทั่วประเทศ ให้เกิดการประสานงาน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการทำลาย และติดตามผลการดำเนินงานของหน่วยอนุรักษ์ฯ เป็นไปอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ โดยให้มีการศึกษาอบรมและประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนให้มีความรู้ความเข้าใจ เพื่อเป็นการป้องกันที่ต้นเหตุ รวมถึงให้มีหน่วยงานดูแลและตรวจสอบเพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาลุกลามเกินกว่าจะแก้ไขได้ ตลอดจนให้มีมาตรการควบคุมการใช้พื้นที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อให้การพัฒนาเป็นตามหลักการที่ถูกต้องเหมาะสม และประสานประโยชน์แก่ท้องถิ่นและประเทศชาติโดยรวม
นายโอภาส กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2562 หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่น จ.สงขลา ได้รับมอบหมายจากภาคีหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมกลุ่มจังหวัด ให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม โดยได้รับเกียรติจาก นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ ผู้ว่าราชการ จ.สงขลา กล่าวต้อนรับ และ น.ส.จิรภา คงเขียว รองอธิการบดี มรภ.สงขลา กล่าวรายงาน กิจกรรมประกอบด้วย การเสวนาสร้างแรงจูงใจในการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมแก่คนรุ่นใหม่ การบรรยายและฝึกปฏิบัติใช้งานระบบฐานข้อมูลแหล่งสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ทั้งประเทศ การศึกษาแหล่งสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมใน จ.สงขลา และ จ.สตูล ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ดร.รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการ สผ. ได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่ผู้สนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่น โดยมีผู้แทนจากหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นทั้ง 76 จังหวัด เครือข่ายการอนุรักษ์ฯ และเจ้าหน้าที่ สผ. ราว 200 คน เข้าร่วมการประชุม
"พื้นที่ จ.สงขลา กลุ่มที่ 18 (สงขลา นราธิวาส สตูล ยะลา และ ปัตตานี) มีแหล่งอันควรอนุรักษ์ เช่น เมืองเก่า โบราณสถาน สถานที่ทางประวัติศาสตร์ เป็นต้น อันควรได้รับการเรียนรู้และลงพื้นที่จริง พร้อมทั้งได้รับข้อมูลองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้เพื่อให้เห็นความสำคัญของการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และตระหนักในการอนุรักษ์คุ้มครองสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม เรามุ่งหวังให้ท้องถิ่นเห็นคุณค่าความสำคัญและการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม เกิดเครือข่ายบุคลากรดำเนินงานอนุรักษ์คุ้มครองสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม เพื่อให้เกิดการประสานความร่วมมือกันในทุกภาคส่วน เกิดความรวดเร็วและสามารถขับเคลื่อนงานไปสู่เป้าหมายตามที่ต้องการ" ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา กล่าว