กรุงเทพฯ--12 เม.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
หลายๆ คนอาจจะเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมประเทศญี่ปุ่นถึงมีแต่ของใช้ดีไซน์โดนๆ หรือมีของใช้ที่ดูธรรมดาแต่ฟังก์ชันการใช้งานสุดคูล หรือคิดสงสัยขนาดที่ว่า คนญี่ปุ่นมีวิธีการคิดออกแบบอย่างไรให้สามารถเข้าถึงการใช้งานของคนในทุกเจเนอเรชั่น และยังสามารถใช้งานได้จนถึงปัจจุบันโดยไม่รู้สึกว่าล้าสมัย ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถพบได้แทบทุกครัวเรือน! สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA และ เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ (Japan Foundation) จึงอยากชวนคุณมาร่วมไขทุกข้อสงสัยในงานออกแบบสไตล์ญี่ปุ่นใน นิทรรศการ "ออกแบบ แบบญี่ปุ่น" (Japanese Design Today 100) นิทรรศการที่รวบรวมงานดีไซน์ผลิตภัณฑ์นับ 100 ชิ้น ในตลอดระยะเวลา 50 ปี ของญี่ปุ่นมาจัดแสดง พร้อมฉายภาพแรงบันดาลใจไอเดียในการออกแบบที่ใครต่อใครก็ยากที่จะลอกเลียนแบบ
นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA กล่าวว่า ประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นประเทศที่ยึดถือจารีตประเพณี วัฒนธรรม และภูมิปัญญาดั้งเดิมเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่เช่นกัน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ทรงอิทธิพลระดับโลก ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ได้ตรงกับความต้องการของผู้คนมากที่สุด เนื่องจากประเทศญี่ปุ่น ได้ให้ความสำคัญการออกแบบและผลิตสิ่งของในชีวิตประจำวันในแง่ของDesign for function ที่จะต้องตอบโจทย์ฟังก์ชันการใช้งานของผู้คน รวมถึง Design for culture ที่เน้นให้งานดีไซน์ทุกชิ้นมีส่วนสะท้อนอัตลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่นในสมัยนั้นๆ ผ่านการสำรวจความต้องการและพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของชาวญี่ปุ่น ผสมผสานเทคโนโลยีการออกแบบสมัยใหม่ร่วมกับภูมิปัญญาและงานช่างฝีมือท้องถิ่น จนกลายเป็นความร่วมสมัยที่ไปด้วยกันได้ดี
โดยสะท้อนได้จากข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ที่บางผลิตภัณฑ์ถูกผลิตตั้งแต่สมัยยุคปี 50 - 60 แต่ยังคงมีการใช้งานอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เช่น ขวดซอสโชยุ ขวดซอสถั่วเหลืองชิ้นแรก ผลิตในปี 1961 ที่ได้รับการดีไซน์ให้ใช้งานง่ายโดยไม่ต้องเปิดฝา เสื้อโค้ทเพื่อชีวิต เสื้อโค้ทที่ได้ไอเดียมาจากปัญหาภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น ผลิตในปี 1994 ได้รับการออกแบบให้สามารถสร้างความอบอุ่นแก่ผู้ใช้งาน รวมถึงเป็นกระเป๋าขนาดใหญ่สำหรับบรรจุของใช้ยามฉุกเฉิน ฉากกั้นห้องลายธรรมชาติ ฉากกั้นห้องลวดลายธรรมชาติจากศิลปะการแกะลายไม้แบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น ผลิตในปี 1985 ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นฉากกั้นห้องและวอลเปเปอร์ติดผนัง หน้ากากอนามัยสำหรับเด็ก ที่ผลิตขึ้นในปี2011 หน้ากากอนามัยสำหรับป้องกันการติดเชื้อในทารกที่มีอายุตั้งแต่ 1.5 ปีขึ้นไป ในรูปลักษณ์ที่โดนใจเด็กๆ และมีฟังก์ชั่นเป็นทรงโดมขยายพื้นที่ภายในหน้ากาก เพื่อช่วยให้การหายใจสะดวกมากยิ่งขึ้น เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ผลิตภัณฑ์ข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ยังคงใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งได้รับการหยิบยกไปจัดแสดงภายในนิทรรศการ "ออกแบบ แบบญี่ปุ่น" นิทรรศการที่จะพาคุณไปเรียนรู้ถึงแนวคิดการออกแบบงานดีไซน์ของคนญี่ปุ่นนับตั้งแต่สมัยอดีตถึงปัจจุบัน ผ่านข้าวของเครื่องใช้ที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์คนญี่ปุ่นนับ 100 รายการ โดยแบ่งกลุ่มตามประเภทการใช้งานจำนวน 10 กลุ่ม อาทิ งานออกแบบคลาสิกระดับตำนานของญี่ปุ่น (Classic Japanese Design) เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและเครื่องครัว (Tableware and Cookware) เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ (Apparel and Accessories) ของใช้สำหรับเด็ก (Children) และ อุปกรณ์เครื่องเขียน (Stationary) ซึ่งภายในมีผลิตภัณฑ์ที่ใช้จริงในปัจจุบัน จำนวน 89 ชิ้น และตัวแทนคาแรกเตอร์ดีไซน์ญี่ปุ่น จำนวน 11 ผลงาน นายอภิสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ นิทรรศการ "ออกแบบ แบบญี่ปุ่น" (Japanese Design Today 100) พร้อมเปิดให้นักออกแบบ คณาจารย์ นักศึกษา ในแวดวงอุตสาหกรรมงานออกแบบ ตลอดจนประชาชนทั่วไป เข้าชมผลงานการออกแบบระหว่างวันที่ 24 เมษายน - 26 พฤษภาคม 2562 เวลา10.30 - 21.00 น. (ทุกวันอังคาร - วันอาทิตย์) ณ ห้องแกลอรี่ ชั้น 1 อาคารส่วนหลัง ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ สอบถามข้อมูลนิทรรศการและการเดินทางเพิ่มเติมได้ที่ 02-105-7400 ต่อ 213, 214 หรือติดตามรายละเอียดที่ tcdc.or.th และ #japandesign100