กรุงเทพฯ--12 เม.ย.--ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
โดย ผศ. ดร. คณิสร์ แสงโชติ
ภาคธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนา เรื่อง "How to Transform Your Business to Become an Exponential Company in a Digital Era" เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2562 ณ อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยเชิญ Salim Ismail นักคิด นักกลยุทธ์ และนักพูดชื่อดังระดับโลกผู้เป็นกูรูด้าน Exponential Transformation ที่ได้รับการยอมรับในแวดวงธุรกิจ อีกทั้งยังเป็นเจ้าของผลงานหนังสือขายดี Exponential Organizations มาให้มุมมองเรื่องการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของการดำเนินธุรกิจ ให้สามารถปรับตัวและแข่งขันได้ในยุคดิจิทัล รวมถึงแนวคิดเรื่องการปลูกฝังวัฒนธรรมที่ส่งเสริมความคิด สร้างสรรค์และการพัฒนานวัตกรรมที่ไม่หยุดนิ่ง ซึ่งจะมีส่วนสร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในประเทศไทยในระยะยาว
Ismail เชื่อว่า Accelerating Technologies จะทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ซึ่งเทคโนโลยี เหล่านี้ เช่น Artificial Intelligence (AI), Robotics, Biotech ล้วนเป็นเทคโนโลยีที่มีพัฒนาการในการเพิ่มขีดความสามารถ ได้แบบทวีคูณ อย่างที่ "กฎของมัวร์" (Moore's Law) ได้บอกว่า จำนวนทรานซิสเตอร์ (transistor) ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของ ชิปประมวลผลในแผงวงจรจะมีการเพิ่มจำนวนขึ้นได้ทุกๆ 2 ปี
ในช่วงเริ่มต้น การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเหล่านี้อาจเป็นไปอย่างช้าๆ แต่พอถึงจุดหนึ่งก็จะสามารถ เปลี่ยนแปลงแบบพุ่งทะยาน ดังตัวอย่างเช่น โดรน (drone) ที่ในอดีตไม่สามารถบรรทุกน้ำหนักได้มาก แต่ปัจจุบันสามารถบรรทุกน้ำหนัก 600 กิโลกรัมได้ไกลถึง 10 กิโลเมตร หรือตัวอย่างของการลดลงของ ต้นทุนการผลิตแสงสว่างและพลังงานแสงอาทิตย์ รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากโฆษณาสื่อออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งเมื่อการ เปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดขึ้น ย่อมทำให้ธุรกิจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็น ค่อยไปเหมือนในอดีตที่ผ่านมา
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยียังก่อให้เกิดสิ่งที่ Ismail เรียกว่า 4D คือ Digitize Disrupt Demonetize และ Democratize ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันเป็นอย่างมาก
Digitize ยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการทำธุรกิจทุกวันนี้โลกกำลังขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้นผ่าน Internet of Things (IOT) ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกันได้ถึง 1 ล้านล้านชิ้นในปี 2030 และจะเกิดประโยชน์ทางธุรกิจ อย่างมาก เช่น บริษัทสตาร์ทอัพในประเทศอิสราเอลสามารถวิเคราะห์อารมณ์ของผู้พูดได้อย่างแม่นยำถึง 85% จากการใช้คลิปเสียงที่มีความยาวเพียง 10 วินาที
Disrupt เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน รูปแบบการทำธุรกิจก็เปลี่ยน ในอดีตกล้องถ่ายรูปใช้ฟิล์มในการถ่ายภาพ ทำให้ต้องถ่ายภาพด้วยความระมัดระวังเนื่องจากฟิล์ม มีความจุจำกัด ดังนั้น หลักสูตรสอนถ่ายภาพจึงมีความจำเป็น แต่เมื่อมีกล้องดิจิทัลเข้ามา ความจุไม่ใช่ ปัญหาอีกต่อไป หลักสูตรสอนถ่ายภาพจึงไม่มีความจำเป็นแล้ว แต่ปัญหากลายเป็นว่าทำอย่างไร ให้สามารถค้นหาและจัดการกับรูปถ่ายที่มีจำนวนมากในอุปกรณ์ต่างๆ แทน หรือจากการที่ต้นทุน ของพลังงานแสงอาทิตย์ถูกลงมาก ปัญหาจึงไม่ใช่เรื่องการผลิต แต่เป็นการจัดเก็บพลังงานแทน เหล่านี้ เป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนจากความขาดแคลน (scarcity) เป็นความเหลือเฟือ (abundance) ซึ่งทำให้ ต้นทุนการผลิตต่อหน่วย (marginal cost) กลายเป็นศูนย์ เราเรียกจุดพลิกผันเหล่านี้ว่า Gutenberg Moment (ตามชื่อผู้คิดค้นแท่นพิมพ์เครื่องแรกของโลก) ซึ่งจะเกิดมากขึ้นและบ่อยขึ้นในโลกปัจจุบัน
Demonetize เมื่อต้นทุนถูกลง มีคู่แข่งมา Disrupt มากขึ้น รายได้ก็ลดลง ที่ผ่านมาบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไม่สนใจรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติหรือรถยนต์ไร้คนขับ (Self-driving Car) เนื่องจากต้นทุนเทคโนโลยีสูงเป็นแสนเหรียญต่อคัน ขายอย่างไรก็ไม่คุ้ม แต่เมื่อต้นทุนเทคโนโลยี ลดลงแบบ Exponential เหลือแค่หลักพันต่อคัน ทำให้บริษัทต้องกลับมาพัฒนาเทคโนโลยีนี้ แต่ยัง ตามหลัง Google หรือ Uber ซึ่งได้ลงทุนวิจัยเรื่องนี้มานานแล้ว
หรือตัวอย่างของธุรกิจล้างรถในบัวโนสไอเรส (Buenos Aires) เมืองท่าของประเทศอาร์เจนตินา ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจดีและประชาชนมีรถเป็นของตัวเองมากขึ้น แต่รายได้กลับลดลง ต้นเหตุที่แท้จริง กลับเป็นเพราะมีเทคโนโลยีในการพยากรณ์อากาศที่ดีขึ้น ทำให้ผลพยากรณ์อากาศมีความแม่นยำว่าวันใดฝนจะตกหรือไม่ตก คนจึงมาล้างรถน้อยลง
ตัวอย่างเรื่องผู้ผลิตรถยนต์แสดงถึงการคิดแบบ Linear กับแบบ Exponential หากเราไม่คิดแบบ Exponential เราก็อาจพลาดโอกาสในอนาคตได้ ส่วนตัวอย่างหลังแสดงให้เห็นว่า Disruption เกิดขึ้นได้ทุกที่ จึงควรตระหนัก และให้คิดไว้เสมอเลยว่าเราสามารถถูก Disrupt ได้เสมอ
Democratize เมื่อต้นทุนทุกอย่างลดลง ก็ทำให้โลกเปิดกว้างมากขึ้นหลังเหตุการณ์สึนามิที่ประเทศอินโดนีเซีย ชาวประมงมีรายได้มากขึ้นถึง 30% จากการใช้ SMS ในการส่งข่าวราคารับซื้อปลาที่ท่าเรือให้กันช่วยให้ชาวประมงตัดสินใจซื้อขายได้ การที่ชาวประมงใช้ ประโยชน์จากเทคโนโลยีทำให้โอกาสเปิดกว้างขึ้น การเปิดกว้างนี้ทำให้ใครก็ได้ที่มีไอเดียสามารถนำเทคโนโลยีไปใช้กับธุรกิจเดิมๆ แล้วก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ทำนองเดียวกับ Elon Musk ที่ไม่ได้ คิดค้นอะไรใหม่ แต่กลยุทธ์ของเขาคือหาเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด และสร้างบริษัทขึ้นมาเพื่อจะได้ทัน ใช้ประโยชน์จากการเติบโตใน 10 ปีข้างหน้า
จากการเกิดขึ้นของ 4D Ismail แนะนำให้ธุรกิจตั้งรับและปรับตัว โดยองค์กรที่พัฒนาแบบก้าวกระโดด หรือที่เรียกว่า Exponential Organization ควรคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้
ใช้ MTP (Massive Transformative Purpose) การที่องค์กรกำหนดเป้าหมายที่สร้างการเปลี่ยนแปลง อย่างยิ่งใหญ่ให้เป็นเหมือนมนต์สะกดประจำองค์กร เช่น Ideas Worth Spreading ของ TED Talk, Organize the World's Information ของ Alphabet/Google, Open Happiness ของ Coca-Cola ที่ใช้ในการสร้างวัฒนธรรมองค์กร ไม่จำเป็นต้องใหญ่โต แต่ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ ให้คุ้มค่าด้วยหลักการ SCALE (Staff on Demand, Community & Crowd, Algorithms, Leveraged Assets, Engagement)
ผู้นำองค์กรต้องรับรู้สภาวะโลกปัจจุบัน เช่น Accelerating Technologies และ Exponential Growth แล้วปรับแนวคิดให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง
เริ่มนวัตกรรม Disruptive จากชายขอบ (Edges) ไม่ใช่จากศูนย์กลางองค์กร (Core) หมายถึงองค์กรสามารถเริ่มทำการเปลี่ยนแปลงของเพื่อป้องกัน การ disrupt จากจุดเล็กๆ ขององค์กรก่อน เพื่อไม่ให้คนในองค์กร เกิดความกลัวและต่อต้าน ซึ่งหากสำเร็จก็ค่อยขยายการ ดำเนินงานสู่ส่วนต่างๆ ขององค์กรต่อไป