ฟิทช์คงอันดับเครดิต บมจ. โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) ที่ 'A-(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 12, 2019 15:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 เม.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ของบริษัท โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ PTL ที่ 'A-(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำในธุรกิจแผ่นฟิล์มพลาสติก การกระจายฐานการผลิตและการจำหน่ายสินค้าไปในภูมิภาคต่างๆ รวมถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทฯ อย่างไรก็ตามปัจจัยเหล่านี้ถูกลดทอนโดยความผันผวนของธุรกิจที่บริษัทฯ ดำเนินการอยู่ อันดับเครดิตของ PTL พิจารณาบนสถานะทางการเงินรวมของบริษัทแม่ Polyplex Corporation Limited (PCL) เนื่องจากฟิทช์ประเมินว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง PTL กับ PCL อยู่ในระดับสูง และ PCL มีสถานะทางเครดิตโดยลำพัง (Standalone credit profile) อ่อนแอกว่า PTL ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต ผู้นำในธุรกิจแผ่นฟิล์มพลาสติก: อันดับเครดิตของ PTL สะท้อนถึงความเป็นผู้นำในธุรกิจแผ่นฟิล์มพลาสติก โดย PTL ร่วมกับการดำเนินธุรกิจของ PCL ที่รวมเรียกว่า โพลีเพล็กซ์กรุ๊ปเป็นหนึ่งในสิบผู้ผลิตแผ่นฟิล์ม PET รายใหญ่ที่สุดในโลกในด้านการผลิต โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณร้อยละ 5 ในตลาดแผ่นฟิล์ม PET ชนิดบาง กำลังการผลิตแผ่นฟิล์มพลาสติกของโพลีเพล็กซ์กรุ๊ป ปัจจุบันเทียบเท่ากับผู้ผลิตในระดับโลก เช่น Toray และ Mitsubishi อย่างไรก็ตามโพลีเพล็กซ์กรุ๊ปมีผลิตภัณฑ์ที่เป็น Specialty น้อยกว่าคู่แข่งเหล่านี้ สถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง: PTL น่าจะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินการในปีงบการเงิน 2562 สิ้นสุดเดือนมีนาคม 2562 ที่ดีกว่าที่คาด ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการรองรับการลงทุนที่วางแผนเอาไว้ รวมถึงรองรับการลดลงของส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบที่อาจจะลดลง โดยไม่ทำให้อัตราส่วนหนี้สินเพิ่มขึ้นมาก ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า (Total adjusted net debt to EBITDAR) ของงบการเงินรวมของ PCL น่าจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 0.5 เท่าในปีงบการเงิน 2563 (ปีงบการเงิน 2561 มีสถานะเป็น net cash) เนื่องจากค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ก่อนจะกลับมาเป็น net cash ในปีงบการเงินถัดไป การผลิตและการจำหน่ายที่กระจายไปในภูมิภาคต่างๆ: PTL มีฐานการผลิตอยู่สามแห่งกระจายตัวอยู่ในตลาดหลักในสามภูมิภาค ซึ่งได้แก่ ไทย (เอเชีย) สหรัฐอเมริกา (อเมริกาเหนือ) และตุรกี (ยุโรป) PTL มีแผนที่จะเพิ่มฐานการผลิตอีกหนึ่งแห่งที่ประเทศอินโดนีเซียในปี 2562 การกระจายฐานการผลิตไปในภูมิภาคต่างๆ จะช่วยลดผลกระทบจากความต้องการใช้สินค้าที่เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลในแต่ละภูมิภาค และช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินงานที่เกิดจากการหยุดการผลิตของโรงงาน นอกจากนี้ การที่แหล่งการผลิตอยู่ใกล้กับตลาด ยังช่วยลดต้นทุนการขนส่ง และผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะในภูมิภาคที่ความต้องการสินค้ามีมากกว่ากำลังการผลิตซึ่งต้องมีการนำเข้าสินค้า เช่น ภูมิภาคอเมริกาเหนือ และยุโรป ฐานลูกค้าที่กระจายตัวดี: รายได้ของ PTL มีการกระจายตัวที่ดีตามตลาดหลักในสามภูมิภาค ซึ่งได้แก่ เอเชีย อเมริกาเหนือ และยุโรป โดยได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายทางการตลาดและฐานการผลิตในแต่ละภูมิภาค นอกจากนี้รายได้จากการจำหน่ายแผ่นฟิล์มให้แก่ลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นในช่วงห้าปีที่ผ่านมา โดยคิดเป็นประมาณร้อยละ 42 ของรายได้ทั้งหมดในปีงบการเงิน 2561 ซึ่งช่วยลดการกระจุกตัวของการจำหน่ายแผ่นฟิล์มให้แก่ลูกค้าในกลุ่มบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อน PTL มีลูกค้าประมาณ 1,600 รายทั่วโลก นอกจากนี้ บริษัทแม่ PCL และ PTL อยู่ในธุรกิจแผ่นฟิล์ม PET มานานกว่า 30 ปี วัฏจักรผลิตภัณฑ์ที่ผันผวน: PTL เผชิญกับความเสี่ยงจากความผันผวนของธุรกิจแผ่นฟิล์ม PET นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีความ สามารถในการกำหนดราคาที่จำกัด เนื่องจากผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นแผ่นฟิล์มมาตรฐานที่ผลิตกันอย่างแพร่หลายและมีการแข่งขันที่สูง ซึ่งราคาจะถูกกดดันจากภาวะตลาด โดยแผ่นฟิล์มมาตรฐานคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 65 ถึง 75 ของยอดขายรวมของบริษัทฯ ในแต่ละปี อย่างไรก็ตาม PTL ได้เพิ่มผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เช่น แผ่นฟิล์มเคลือบอลูมิเนียม (Metallized film) และแผ่นฟิล์มเคลือบ (Coated films) รวมทั้งขยายการจำหน่ายแผ่นฟิล์มประเภท Specialty ให้แก่ลูกค้าในกลุ่มบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อนมากขึ้น เพื่อช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของแผ่นฟิล์มมาตรฐานชนิดบาง โดยบริษัทฯ ได้เพิ่มยอดขายของสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม (value-added products) มากขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 33 ของยอดขายรวมของบริษัทฯ ในปีงบการเงิน 2561 ความเสี่ยงจากราคาวัตถุดิบที่ผันผวน: PTL มีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคาวัตถุดิบ โดยวัตถุดิบหลักได้แก่ purified terephthalic acid (PTA) และ mono ethylene glycol (MEG) ซึ่งราคา PTA และ MEG ก็จะผันผวนตามราคาปิโตรเคมีที่เป็นวัตถุดิบ โดยราคาปิโตรเคมีดังกล่าวมักจะขึ้นลงตามราคาน้ำมันเป็นหลัก ถึงแม้ว่าราคาแผ่นฟิล์ม PET มีแนวโน้มที่จะปรับตามราคาวัตถุดิบ แต่ราคาแผ่นฟิล์ม PET ก็ขึ้นอยู่กับสภาวะตลาดของแผ่นฟิล์ม PET ด้วย ปัจจุบันสภาวะตลาดของแผ่นฟิล์ม PET มีกำลังการผลิตเกินความต้องการ โดยกำลังการผลิตใหม่จำนวนมากที่เพิ่มเข้ามาในตลาดในช่วงปี 2554 ถึงปี 2559 ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการณ์แผ่นฟิล์ม PET เป็นอย่างมาก ทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิต (Utilization) ของอุตสาหกรรม และผลกำไรของผู้ประกอบการณ์ลดลง อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากกำลังการผลิตส่วนเกินได้ลดน้อยลงในปี 2561 และฟิทช์คาดว่าผลกระทบดังกล่าวน่าจะลดน้อยลงอีกในปี 2562 ความเชื่อมโยงกับบริษัทแม่: ฟิทช์ประเมินว่า PTL มีความเชื่อมโยงในด้านการดำเนินงานกับ PCL ในระดับสูง และสถานะทางเครดิตโดยลำพัง (Standalone credit profile) ของ PTL ดีกว่าสถานะทางเครดิตโดยลำพังของ PCL ตามหลักเกณฑ์การพิจารณาอันดับเครดิตในเรื่อง Parent and Subsidiary Rating Linkage อันดับเครดิตภายในประเทศของ PTL พิจารณามาจากสถานะทางการเงินรวมของ PCL ที่รวมผลประกอบการณ์ของ PTL ทั้งหมด หักด้วยกำไรทั้งหมดของผู้ถือหุ้นส่วนน้อย ฟิทช์ประเมินว่า PTL มีความสัมพันธ์กับ PCL ในระดับสูง เนื่องจากฟิทช์มองว่า PCL สามารถควบคุมการดำเนินงานของ PTL ผ่านทางคณะกรรมการบริษัทฯ คณะผู้บริหารของทั้งสองบริษัทฯมีความเกี่ยวข้องกัน และ PCL สามารถเข้าถึงเงินสดและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ PTL ได้ การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป โพลีเพล็กซ์กรุ๊ป มีสถานะทางธุรกิจอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับบริษัทในประเทศไทยอื่นๆ ที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิต แต่มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า สถานะทางธุรกิจและสถานะทางการเงินของโพลีเพล็กซ์กรุ๊ป มีความใกล้เคียงกันกับของ บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ A-(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ KCE เป็นหนึ่งในสิบผู้ผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ของโลกตามรายได้ KCE ดำเนินธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีความเสี่ยงสูงกว่า แต่ความเสี่ยงดังกล่าวถูกลดทอนลงด้วยการที่บริษัทเน้นผลิต ผลิตภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งมีความยากลำบากสำหรับคู่แข่งรายใหม่ในการเข้าสู่อุตสาหกรรมดังกล่าว โพลีเพล็กซ์กรุ๊ปมีการกระจายตัวของฐานการผลิตและลูกค้าที่มากกว่า แต่ KCE มีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ที่สูงกว่า อย่างไรก็ตามบริษัททั้งสองมีอัตราส่วนหนี้สินอยู่ในระดับต่ำ โดยมีอัตราส่วน Total adjusted net debt to EBITDAR อยู่ในระดับต่ำกว่า 1.5 เท่า ดังนั้นอันดับเครดิตจึงอยู่ในระดับเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบกับ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ A-(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ และมีสถานะทางเครดิตโดยลำพัง (Standalone credit profile) ที่ BBB+(tha) โพลีเพล็กซ์กรุ๊ปมีขนาดธุรกิจที่เล็กกว่า IRPC อย่างมาก โดย IRPC ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันเชื่อมโยงกับการผลิตปิโตรเคมี อย่างไรก็ตาม PTL มีการกระจายตัวของฐานการผลิตที่มากกว่า ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากการที่บริษัทดำเนินธุรกิจผลิตแผ่นฟิล์มพลาสติกอย่างเดียว นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ของโพลีเพล็กซ์กรุ๊ป อยู่ในส่วนผลิตภัณฑ์ขั้นปลาย และมีการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม เพื่อช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาแผ่นฟิล์มพลาสติกมาตรฐานชนิดบาง นอกจากนี้โพลีเพล็กซ์กรุ๊ปยังมีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำกว่า IRPC ซึ่งส่งผลให้อันดับเครดิตของ PTL สูงกว่าอันดับเครดิตโดยลำพังของ IRPC ที่ BBB+(tha) อันดับเครดิตของ IRPC ได้รับการปรับเพิ่มหนึ่งอันดับเครดิต จากการเชื่อมโยงในระดับปานกลางกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ซึ่งได้แก่ บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ AAA(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ สมมติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ: - การเติบโตของรายได้ที่ประมาณร้อยละ 4-5 ในปีงบการเงิน 2563-2564 เนื่องจากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นจากการเริ่มดำเนินงานของโรงงานในประเทศอินโดนีเซียจะถูกลดทอนบางส่วนจากราคาผลิตภัณฑ์ที่คาดว่าจะลดลง - EBITDA margin อยู่ที่ประมาณร้อยละ 15 ในปีงบการเงิน 2563-2564 โดย EBITDA margin ที่ลดลงเนื่องจากการเริ่ม ดำเนินงานของโรงงานในประเทศอินโดนีเซียที่ทยอยเพิ่มการผลิต - การลงทุนในปีงบการเงิน 2562-2564 ทั้งหมดประมาณ 4.2 พันล้านบาท - จ่ายเงินปันผลร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิ ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต ปัจจัยบวก: - ขนาดของธุรกิจและรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนกำไรปรับตัวเพิ่มขึ้นและมีเสถียรภาพมากขึ้น ในขณะที่ยังคงรักษาอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า (Total adjusted net debt to EBITDAR) ของ PCL ให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 1.5 เท่า อย่างไรก็ตามปัจจัยดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า ปัจจัยลบ: - กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ลดลง หรือการลงทุนโดยใช้หนี้ที่เพิ่มขึ้น มากกว่าที่ฟิทช์คาดการไว้ ส่งผลให้ อัตราส่วน Total adjusted net debt to EBITDAR ของ PCL สูงกว่า 2 เท่า อย่างต่อเนื่อง - EBITDAR margin ของ PCL ลดลงต่ำกว่าร้อยละ 13 อย่างต่อเนื่อง (ปีงบการเงิน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 15.2) สภาพคล่อง สภาพคล่องอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้: ฟิทช์มองว่าสภาพคล่องของ PTL อยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ โดยสภาพคล่องได้รับการสนับสนุนจากเงินสดจำนวน 594 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 โดยบริษัทฯ มีหนี้ที่ถึงกำหนดชำระภายใน 12 เดือนนับจากเดือนธันวาคม 2561 อยู่ที่ 2.2 พันล้านบาท โดยประมาณ ร้อยละ 73 เป็นหนี้ระยะสั้นที่ใช้หมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ บริษัทฯ มีวงเงินหมุนเวียนจากสถาบันการเงิน ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นวงเงินที่ไม่สามารถยกเลิกได้ จำนวน 1.2 พันล้านบาท ฟิทช์คาดว่าบริษัทฯ จะสามารถ roll over หนี้ระยะสั้นที่ใช้หมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจออกไปได้ เนื่องจากบริษัทฯ มีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำ นอกจากนี้บริษัทฯ ได้รับวงเงินกู้จำนวน 55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับการลงทุนในการสร้างโรงงานที่ประเทศอินโดนีเซีย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ